เมื่อวันที่ 14 มกราคม ศูนย์สำรวจความคิดเห็น ‘นิด้าโพล’ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง ‘ความเชื่อมั่นต่อองค์กรตำรวจในสายตาของประชาชน’ โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 2-6 มกราคม 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศรวมทั้งสิ้นจำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความรู้สึกหวาดกลัวต่อภัยอาชญากรรมของประชาชน พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 37.25 ระบุว่า ค่อนข้างหวาดกลัว รองลงมาร้อยละ 33.05 ระบุว่า หวาดกลัวมาก ร้อยละ 20.92 ระบุว่า ไม่ค่อยหวาดกลัว และร้อยละ 8.78 ระบุว่า หวาดกลัวน้อย
ด้านประเภทคดีอาชญากรรมที่ประชาชนรู้สึกหวาดกลัวในสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 41.98 ระบุว่า คดีอาชญากรรมออนไลน์ เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์ การพนันออนไลน์ หลอกลวงขายของออนไลน์ รองลงมาร้อยละ 25.73 ระบุว่า คดียาเสพติด เช่น ซื้อ ขาย หรือเสพยาเสพติด หลอนจากการเสพยา ร้อยละ 15.35 ระบุว่า คดีฆาตกรรมหรือทำร้ายร่างกาย ร้อยละ 7.86 ระบุว่า คดีฉ้อโกงประชาชน เช่น การหลอกลงทุน การเล่นแชร์ ร้อยละ 3.97 ระบุว่า คดีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ เช่น ลักทรัพย์ ปล้นทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์ รีดเอาทรัพย์ ร้อยละ 3.66 ระบุว่า คดีความผิดเกี่ยวกับเพศ เช่น ข่มขืน อนาจาร และร้อยละ 1.45 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ
ส่วนความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการนำเสนอข่าวหรือการแถลงข่าวเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 35.19 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อมั่น รองลงมาร้อยละ 34.81 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อมั่น ร้อยละ 18.40 ระบุว่า เชื่อมั่นน้อย ร้อยละ 10.69 ระบุว่า เชื่อมั่นมาก และร้อยละ 0.91 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ
ด้านสายงานของตำรวจที่ประชาชนชื่นชอบ พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 28.78 ระบุว่า ด้านการสืบสวนอาชญากรรม เช่น ฝ่ายสืบสวน นอกเครื่องแบบ เสาะหาพยานหลักฐาน จับกุมคนร้าย รองลงมาร้อยละ 27.48 ระบุว่า ด้านการป้องกันและปราบปราม เช่น สายตรวจ ตำรวจชุมชนสัมพันธ์ ฝากบ้านไว้กับตำรวจ ร้อยละ 21.53 ระบุว่า ด้านการจัดการจราจร ร้อยละ 8.70 ระบุว่า ด้านการสอบสวน เช่น รับแจ้งความ รับแจ้งเอกสาร อำนวยความเป็นธรรมในการดำเนินคดี ร้อยละ 1.83 ระบุว่า ไม่ชื่นชอบการปฏิบัติงานของตำรวจในสายงานใดเลย และร้อยละ 11.68 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ
เมื่อถามถึงการใช้บริการบนสถานีตำรวจของประชาชนในรอบ 1 ปี พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 82.06 ระบุว่า ไม่เคยใช้บริการ ขณะที่ร้อยละ 17.94 ระบุว่า เคยใช้บริการ ซึ่งตัวอย่างที่ระบุว่าเคยใช้บริการ (จำนวน 235 หน่วยตัวอย่าง) ร้อยละ 42.13 ระบุว่า ค่อนข้างพอใจ รองลงมาร้อยละ 21.70 ระบุว่า พอใจมาก ร้อยละ 20.00 ระบุว่า พอใจน้อย และร้อยละ 16.17 ระบุว่า ไม่ค่อยพอใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงลักษณะตำรวจที่ดีในมุมมองของประชาชน พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 31.14 ระบุว่า มีคุณธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ โปร่งใส ตรวจสอบได้ รองลงมาร้อยละ 25.27 ระบุว่า ทำงานรวดเร็ว เสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ ร้อยละ 18.09 ระบุว่า การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี สุภาพ ยิ้มแย้มแจ่มใส ในการให้บริการประชาชน ร้อยละ 14.04 ระบุว่า บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ร้อยละ 5.50 ระบุว่า สามารถควบคุมอารมณ์และการแก้ไขสถานการณ์ได้ดี ร้อยละ 3.36 ระบุว่า มีความรู้ ความสามารถ และทักษะในการปฏิบัติงาน ร้อยละ 1.45 ระบุว่า มีบุคลิกภาพ มีความเป็นผู้นำ และเป็นแบบอย่างที่ดี และร้อยละ 1.15 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ
อ้างอิง:
- สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)