×

กรมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ฯ แจง อาจเข้าใจคลาดเคลื่อน หลังรองโฆษกรัฐบาลระบุ ไทยพบแร่ลิเธียมเป็นอันดับ 3 ของโลก

โดย THE STANDARD TEAM
19.01.2024
  • LOADING...

วันนี้ (19 มกราคม) กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ออกเอกสารชี้แจงกรณีที่กรมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ฯ ได้เผยแพร่ข่าวว่ามีการพบแหล่งลิเธียมในประเทศไทยที่แหล่งเรืองเกียรติ อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา มีปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ (Mineral Resource) ประมาณ 14.8 ล้านตัน ที่เกรดลิเธียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% หรือมีปริมาณลิเธียมคาร์บอเนตเทียบเท่า (LCE) ประมาณ 164,500 ตัน และสามารถนำแร่ขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ร้อยละ 25 จะนำมาผลิตเป็นแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าขนาด 50 kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน

 

แจงอาจนำข้อมูลไปเทียบเคียงปริมาณคลาดเคลื่อน

 

“กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ขอชี้แจงว่า คำว่า Mineral Resource มีความหมายถึงปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ ซึ่งแตกต่างจากคำว่า Lithium Resource ซึ่งหมายถึงปริมาณทรัพยากรโลหะลิเธียม

 

“ดังนั้นการนำข้อมูลปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ไปเปรียบเทียบกับปริมาณทรัพยากรโลหะลิเธียมของต่างประเทศ จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าประเทศไทยมีปริมาณแร่ลิเธียมมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกได้”

 

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ระบุต่อว่า สำหรับชนิดของแร่ที่พบในประเทศไทยในขณะนี้เป็นแร่เลพิโดไลต์ (lepidolite) ที่พบในหินเพกมาไทต์ (Pegmatite) และมีความสมบูรณ์ของลิเธียมหรือเกรดลิเธียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% แม้จะมีความสมบูรณ์ไม่สูงมาก แต่ก็ถือว่ามีความสมบูรณ์กว่าแหล่งลิเธียมหลายแห่งทั่วโลก และมีความเป็นไปได้ที่จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีในการแต่งแร่ที่ความสมบูรณ์ดังกล่าวได้คุ้มค่า อีกทั้งแร่ลิเธียมมีความสัมพันธ์กับแหล่งแร่อื่นๆ

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ดีบุกและธาตุหายากอื่น ซึ่งประเทศไทยเป็นแหล่งดีบุกที่สำคัญในอดีต จึงมีความเป็นไปได้ที่จะพบแหล่งลิเธียมเพิ่มเติมหากมีการสำรวจในอนาคต

 

ปัจจุบันมีผู้ได้รับอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจลิเธียมจำนวน 3 แปลงในพื้นที่จังหวัดพังงา และมีคำขออาชญาบัตรเพื่อสำรวจลิเธียมในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ อีก เช่น จังหวัดราชบุรีและจังหวัดยะลา

 

“โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่จะเร่งรัดให้เกิดการสำรวจลิเธียมและแร่หายากเพิ่มขึ้น ให้ประเทศไทยมีข้อมูลพื้นฐานสำหรับการทำเหมืองลิเธียม เพื่อรองรับการเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคต่อไป”

 

รองโฆษกรัฐบาลระบุ ไทยค้นพบแร่ลิเธียมมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก

 

วันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา รัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งสำรวจจนพบแหล่งแร่ลิเธียมที่มีศักยภาพ 2 แหล่ง ได้แก่ แหล่งเรืองเกียรติและแหล่งบางอีตุ้ม ล่าสุดไทยยังค้นพบแหล่งแร่โซเดียมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือปริมาณสำรองอีกจำนวนมาก ซึ่งแร่ทั้งสองชนิดนี้ถือเป็นแร่หลักหรือวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ร้อยเปอร์เซ็นต์ เสริมศักยภาพความพร้อมของไทยในการเดินหน้าสู่การเป็นศูนย์กลางและฐานการผลิตแบตเตอรี่ EV ในภูมิภาค

 

จากปีก่อนหน้าที่เป็นข่าวใหญ่ อินเดียค้นพบแร่ลิเธียม และกลายเป็นผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่และ EV นั้น ตอนนี้ไทยก็มีลุ้นเช่นกัน ซึ่งจากข้อมูลของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ระบุว่า ไทยสำรวจพบ (Resources) แร่ลิเธียมกว่า 14.8 ล้านตัน (Million Tonne: Mt) ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่ค้นพบแร่ดังกล่าวมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากโบลิเวียและอาร์เจนตินา

 

นักวิชาการชี้ อาจจะเข้าใจตัวเลขปริมาณแร่ผิด

 

ต่อมา รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กระบุตอนหนึ่งว่า “ประเทศไทยพบแหล่งแร่ที่มีธาตุลิเธียมจริง แต่ไม่น่าจะใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก 

 

“ผมว่านักข่าวน่าจะเข้าใจผิดกันนะครับ เพราะตัวเลข 14.8 ล้านตัน ที่เป็นข่าวกันว่าเยอะเป็นอันดับ 3 ของโลกนั้น เป็นปริมาณของหินแร่ที่ชื่อว่าหินเพกมาไทต์ ซึ่งมีธาตุลิเธียมปะปนอยู่เฉลี่ย 0.45% และจะต้องนำมาถลุงสกัดเอาลิเธียมออกมาก่อน เมื่อคำนวณคร่าวๆ แล้ว ก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 60,000-70,000 ตันแค่นั้นเองครับ” รศ.ดร.เจษฎา ระบุ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X