ในการประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ วานนี้ (17 มกราคม) นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ได้ขึ้นเวทีแสดงวิสัยทัศน์ในการทำให้นานาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือประเทศอาเซียน กลายเป็นจุดหมายปลายทางเดียวสำหรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก โดยชี้ถึงแนวคิด ‘อาเซียนไร้รอยต่อ’ (Seamless ASEAN) ว่าเป็นสิ่งที่โลกคาดหวังจากอาเซียนได้ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า
แนวคิดดังกล่าวคือการที่ชาติสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศยังคงรักษา ‘ข้อได้เปรียบของตนเอง’ ในขณะที่สร้างกรอบการทำงานเพื่ออำนวยความสะดวกให้นักลงทุนต่างชาติและนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้าไปทำงานหรือเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนได้อย่างอิสระ
ขณะที่นายกรัฐมนตรียังคาดหวังถึงการมีข้อตกลงที่ครอบคลุมต่างๆ ทั้งมาตรการจูงใจทางภาษี การอนุญาตให้มีการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนโดยไม่ต้องขอวีซ่า และยกระดับสนามแข่งขันอื่นๆ พร้อมยกตัวอย่าง ข้อตกลงการท่องเที่ยวแบบ ‘4 ประเทศ 1 จุดหมายปลายทาง’ ระหว่างไทย เวียดนาม กัมพูชา และลาว
4 ประเทศ 1 จุดหมายปลายทาง
Nikkei Asia รายงานว่า แนวคิดอาเซียนไร้รอยต่อของเศรษฐานั้น ค่อนข้างคล้ายกับความตกลงเชงเก้นของยุโรป ซึ่งจะตัดการควบคุมชายแดนภายใน และให้เสรีภาพในการเคลื่อนย้ายแก่ประชาชนจากทั่วโลก ภายในประเทศที่ร่วมลงนาม
เศรษฐาได้ให้สัมภาษณ์ Nikkei Asia เกี่ยวกับความคืบหน้าของข้อตกลง 4 ประเทศ 1 จุดหมายปลายทาง ว่าทั้ง 4 ประเทศใกล้บรรลุข้อตกลงระหว่างกันแล้ว
“เราใกล้จะไปถึงจุดนั้นแล้ว และคุณไม่ต้องรอถึง 5 ปี” เขากล่าว และเผยว่ายังมีอุปสรรคอีก 2-3 ประการที่ต้องแก้ไข แต่ไม่เปิดเผยรายละเอียด โดยยืนยันว่าข้อตกลง ‘4 ประเทศ 1 จุดหมายปลายทาง’ นี้สามารถจัดทำได้ภายในเวลาเพียง 6 เดือน
สำหรับการนำทั้ง 4 ประเทศเข้าร่วมเป็นพันธมิตรด้านการท่องเที่ยวดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลฮานอย โดย ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ (Pham Minh Chinh) นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ซึ่งนั่งข้างเศรษฐาในเวที WEF วานนี้ ก็ไม่คัดค้านข้อเสนอดังกล่าว
ผู้นำอาเซียนติดต่อกันบ่อยครั้ง
เศรษฐาเผยต่อ Nikkei Asia ว่าผู้นำอาเซียนนั้น ‘รวมตัวกันบ่อยมาก’ ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ โดยตัวเขามักจะพูดคุยกับ ฮุน มาเนต (Hun Manet) นายกรัฐมนตรีกัมพูชาและบุตรชายของ ฮุน เซน ผ่านทาง WhatsApp อยู่บ่อยครั้ง โดยเขาบอกว่าเป็น ‘วิธีสบายๆ’ ในการสื่อสารกับผู้นำอาเซียนคนอื่นๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างรวดเร็ว แต่ยืนยันการเคารพความเป็นส่วนตัว และชี้ว่าไม่ใช่ผู้นำทุกคนจะชอบการติดต่อสื่อสารลักษณะนี้
ขณะที่เขากล่าวแบบติดตลกบนเวที WEF ว่าผู้นำของสหรัฐฯ และจีนสามารถปฏิบัติตามแนวทางเช่นนี้ได้เพื่อบรรเทาความตึงเครียด
“ผมหวังว่าประธานาธิบดีสีและประธานาธิบดีไบเดนจะทำเช่นเดียวกัน และนั่นจะเป็นประโยชน์ต่อโลกอย่างมาก” เศรษฐากล่าว
เพิ่มแรงจูงใจดึงดูดบริษัทต่างชาติ ไม่ใช่แค่แรงงานราคาถูก
ช่วงที่ผ่านมา การแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ และจีนส่งผลดีต่ออาเซียน ในแง่การเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ซึ่งหลายบริษัทย้ายฐานการผลิตมายังอาเซียนเพื่อกระจายธุรกิจออกจากจีน
โดยหนึ่งในสิ่งที่ดึงดูดบริษัทต่างชาติเข้ามาในประเทศอาเซียนคือแรงงานที่มีค่าจ้างต่ำ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเศรษฐากล่าวย้ำว่าควรมีแรงจูงใจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
“นั่นไม่ควรเป็นเหตุผลที่ผู้คนจะย้ายมาอยู่ในอาเซียน” เขากล่าว พร้อมเสริมว่า เกณฑ์ควรเป็นการแข่งขันด้านพลังงานสะอาด โรงเรียนนานาชาติที่มีคุณภาพ ตลาดทุนที่มีประสิทธิภาพ ไม่มีการทุจริต และความสะดวกในการทำธุรกิจ
ขณะที่แรงจูงใจในด้านแรงงานราคาถูกสำหรับบริษัทต่างชาตินั้นเป็นเรื่องจริง แต่เขากล่าวว่า กำลังเจรจากับผู้นำอาเซียนเพื่อยกระดับค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อเพิ่มสิทธิและคุณภาพชีวิตของแรงงาน
แลนด์บริดจ์ ส่งเสริมแนวคิดอาเซียนไร้รอยต่อ
สำหรับโครงการเมกะโปรเจกต์อย่างแลนด์บริดจ์ (Landbridge) หรือการสร้างท่าเรือน้ำลึก 2 แห่ง ขึ้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันในจังหวัดระนอง และชายฝั่งอ่าวไทยของชุมพร ซึ่งอยู่ห่างกันประมาณ 90 กิโลเมตร และเชื่อมต่อทั้ง 2 แห่งด้วยทางด่วนและทางรถไฟรางคู่นั้น เศรษฐากล่าวว่า โปรเจกต์นี้จะดำเนินการภายใต้แนวคิด ‘1 ท่าเรือ 2 ฝั่ง’ เพื่อส่งเสริม ‘การเชื่อมโยงไร้รอยต่อ’ ในการขนส่งของภูมิภาค
ภาพ: เศรษฐา ทวีสิน – Srettha Thavisin / Facebook
อ้างอิง: