ตลาดหุ้นไทยปี 2567 ผ่านครึ่งเดือนของเดือนมกราคมด้วยบรรยากาศที่ยังไม่ฟื้นตัวนักจากปีก่อน ดัชนี SET ที่พุ่งขึ้นอย่างร้อนแรงในวันทำการแรกก่อนจะขยับไปแตะจุดสูงสุดที่ 1,438.10 จุด เมื่อวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา
หลังจากนั้นดัชนีไหลลงต่อเนื่องกลับมาแตะระดับ 1,400 จุด พร้อมกับแรงขายของนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิ 9 จาก 11 วันทำการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 7.63 พันล้านบาท พร้อมกับมูลค่าการซื้อขายรวมของตลาดที่เบาบางลงมาเหลือเพียง 3.2 หมื่นล้านบาทต่อวัน
โดยภาพรวมดัชนี SET ติดลบไปประมาณ 0.8% จากสิ้นปี 2566 หากเทียบกับตลาดหุ้นอื่นในเอเชียอยู่ในระดับกลาง ตลาดที่ปรับตัวขึ้นได้โดดเด่นคือ Nikkei 225 ของญี่ปุ่น +6.4%, VN30 ของเวียดนาม +3.4%, PSEi Composite ของฟิลิปปินส์ +2.9%, BSE Sensex ของอินเดีย +1.2% ส่วนตลาดที่ติดลบมากกว่าไทย เช่น Hang Seng ของฮ่องกง -6.8%, KOSPI ของเกาหลีใต้ -5.9%, SZSE Component ของจีน -5.6% และ Taiwan Weighted ของไต้หวัน -3.3% (ข้อมูล ณ วันที่ 16 มกราคม เวลา 17.30 น.)
ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า บริบทและปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อการลงทุนในไตรมาสแรกยังเป็นเช่นเดิมกับช่วงไตรมาส 4 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังจากการประชุมธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) เมื่อเดือนพฤศจิกายน ซึ่งทำให้บอนด์ยีลด์ลดลงและหนุนตลาดหุ้นทั่วโลกให้ฟื้นตัว
“แต่หลังจากนั้นยังไม่มีอะไรใหม่ อย่างเรื่องนโยบายการเงินที่ตลาดคาดกันว่าจะมีการลดดอกเบี้ย 5-6 ครั้ง ข่าวดีได้สะท้อนอยู่ในราคาหุ้นไปค่อนข้างมากแล้ว”
ส่วนกำไรของบริษัทจดทะเบียนยังไม่ฟื้นตัวนัก แม้จะไม่ถูกปรับคาดการณ์ลง แต่ก็ไม่ได้เห็นการปรับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ณัฐชาตประเมินว่า ดัชนี SET มีแนวโน้มจะแกว่งตัวอยู่ในกรอบต่อไปพร้อมกับมูลค่าการซื้อขายที่เบาบาง จนกว่าจะเดินไปถึงจุดเปลี่ยนสำคัญคือการเริ่มต้นลดดอกเบี้ยของ Fed หรือเศรษฐกิจโลกถดถอย ขึ้นอยู่กับว่าอะไรจะเกิดขึ้นก่อนกัน
หาก Fed ลดดอกเบี้ยก่อน ตลาดหุ้นทั่วโลกรวมทั้งตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นได้ แต่หากเศรษฐกิจถดถอยเกิดขึ้นก่อนที่ Fed จะตัดสินใจลดดอกเบี้ย จะทำให้ตลาดหุ้นหดตัวลงไปได้อีก