ไทยประกาศรุกพลังงานสะอาดเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่มีความพร้อม ‘ไฟฟ้าสีเขียว’ หวังเร่งรัดดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ FDI ลดการกีดกันภาษีคาร์บอนไป EU ขณะที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยระบุว่า นักลงทุนต่างชาติสะท้อนดีมานด์การใช้ไฟฟ้าสะอาดในภาคอุตสาหกรรมทะลุ 1 หมื่นเมกะวัตต์
พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานมีความพร้อมในการจัดหา ‘ไฟฟ้าสีเขียว’ (Utility Green Tariff) หรือไฟฟ้าที่มีกระบวนการผลิตจากพลังงานสะอาด ผ่านกลไกการรับรองมาตรฐานแหล่งที่มาซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และสอดรับกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการเร่งรัดและเพิ่มปริมาณการลงทุนทางตรง (Foreign Direct Investment: FDI) จากต่างประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศและ GDP ไทย
สำหรับไฟฟ้าสีเขียว นับได้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่มีความพร้อมทั้งกระบวนการผลิตและจัดหา ซึ่งคาดว่าภายในไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ 2567 กระทรวงพลังงานจะประกาศอัตราค่าบริการหลังจากที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศหลักเกณฑ์การให้บริการ และการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวไปแล้วก่อนหน้านี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ไขคำตอบ ทำไมเสน่ห์และความสามารถในการแข่งขันไทยค่อยๆ เลือนหาย ‘กับดักเศรษฐกิจไทย (บางเรื่อง)’ กำลังกลายเป็นแผลอักเสบเรื้อรัง
- จับเข็มทิศภาคอุตสาหกรรมไทยในมือ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ อะไรคือเทรนด์ใหม่ที่ไทยห้ามตกขบวน เมื่อโลกหมุนไวและไม่เหมือนเดิม
- เปิดบันทึก FDI ย้อนหลัง 10 ปี ‘ไทย’ อยู่ตรงไหน เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอาเซียน
ไฟฟ้าสีเขียวคืออะไร
‘ไฟฟ้าเขียว’ หรือพลังงานสีเขียว (Green Energy) คือพลังงานหรือแหล่งที่มาของพลังงาน ซึ่งมาจากวัตถุดิบที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงฟอสซิล ไม่ว่าจะเป็นพลังงานลม แสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ หรือชีวภาพ สามารถนำมาผลิตไฟฟ้า ทดแทนจากที่ปัจจุบันเป็นการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil) ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียม ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงก่อให้เกิดก๊าซพิษที่เป็นมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมและเกิดภาวะโลกร้อน เช่น ฝุ่นละออง คาร์บอนมอนอกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์
และเนื่องจากรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน มีนโยบายสนับสนุนความต้องการใช้พลังงานสีเขียวของภาคธุรกิจผ่านการขับเคลื่อนภาคพลังงานในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงมีโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตามแผน PDP เพื่อเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดในระบบอย่างต่อเนื่อง กระทั่งในขณะนี้สามารถจัดให้มีการให้บริการสองรูปแบบ ทั้งแบบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียวจะไม่สามารถเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในสัญญาบริการ และแบบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถเจาะจงแหล่งที่มา
สำคัญต่อไทยอย่างไร
นอกจากจะมุ่งรองรับบริษัทข้ามชาติที่ต้องการขยายการลงทุน หรือย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ลดอุปสรรคด้านการค้า การลงทุน จากมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) ก่อนการส่งสินค้าไปยังต่างประเทศ
ด้าน พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า คาร์บอนและพลังงานสะอาดกำลังเป็นเงื่อนไขที่นักลงทุนต่างชาติในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า การตั้งศูนย์ข้อมูล (Data Center) โรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออกต่างให้ความสำคัญ
ดังนั้น ไฟฟ้าสีเขียวจะสามารถรองรับแนวโน้มความต้องการพลังงานสะอาดของภาคอุตสาหกรรมไทยและต่างชาติ นอกจากจะเป็นการยกระดับภาคการผลิตของอุตสาหกรรมไทยให้มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลแล้ว ยังจะเป็นการสร้างความได้เปรียบและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศ ในฐานะฐานการผลิตอุตสาหกรรมสมัยใหม่
สอดคล้องกับกิจการอุตสาหกรรมตามโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green Economy (BCG) มีผู้ร่วมโครงการ 60,000 โรงงาน จาก 70,000 โรงงาน และภายใต้โครงการ UGT ของภาครัฐ จะเป็นการต่อยอดและยกระดับอุตสาหกรรม สามารถรองรับความต้องการการใช้ไฟฟ้าสีเขียวของภาคอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดให้มากยิ่งขึ้น
ชูพลังงานสะอาด จุดแข็งดึงดูดนักลงทุน FDI
เสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธาน กกพ. กล่าวว่า ที่ผ่านมา กกพ. ได้มีนโยบายเตรียมความพร้อมจัดหาไฟฟ้าสีเขียวมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าพลังสะอาดภายใต้โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง จำนวน 5,203 เมกะวัตต์ ซึ่งมีกำหนดให้ผู้ผลิตไฟฟ้าที่ได้รับคัดเลือกจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (SCOD) เข้าสู่ระบบกว่า 4,800 เมกะวัตต์ภายในปี 2573 ควบคู่ไปกับการออกแบบกำหนดหลักเกณฑ์การคิดอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียว และแนวทางการกำกับดูแลให้กระบวนการบริหารจัดการและรับรองแหล่งกำเนิดไฟฟ้าสีเขียวให้มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานสากล
“ขณะนี้การคำนวณอัตราราคาเสร็จเรียบร้อยทั้งหมดแล้ว และพร้อมให้การไฟฟ้าให้บริการแล้ว และเตรียมที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในช่วงเดือนมกราคม 2567 เรามองว่าเรื่องค่าบริการไม่น่าเป็นเรื่องหลักของไฟฟ้าสีเขียว แต่เรื่องความมีเสถียรภาพของการให้บริการมากกว่าที่นักลงทุนมอง และเรามั่นใจว่าประเทศไทยมีความได้เปรียบ และนับเป็นจุดแข็งของประเทศไทย”
ปี 2593 ไทยจะมีสัดส่วนไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดจาก 25% เป็น 70%
ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ยอมรับว่าไทยมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดอยู่ที่สัดส่วนเพียง 25% การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 ที่ประเทศไทยเข้าร่วมนั้น ในส่วนของภาคพลังงานมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 250 ล้านตัน จำนวนนี้คิดเป็นภาคไฟฟ้าถึง 100 ล้านตัน ซึ่งจะต้องลดลงให้เหลือ 75-76 ล้านตันภายในปี 2573
กระทรวงพลังงานจึงมุ่งส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดถึง 5,000 เมกะวัตต์ในเฟส 1 และจะเปิดรับซื้อในเฟสที่ 2 อีกประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแตะ 50% ภายในปี 2580
ในจำนวนนี้จะเป็นเชื้อเพลิงโซลาร์เซลล์มากกว่า 20,000 เมกะวัตต์ รวมถึงเรื่องของระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นด้วย
“ในอนาคตปี 2593 คาดว่าประเทศไทยจะมีสัดส่วนไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 70% โดยรายละเอียดการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าในอนาคตจะมีความชัดเจนอยู่ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2018) ที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 นี้”
ความต้องการไฟฟ้าสีเขียวพุ่ง 10,000 เมกะวัตต์
ยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ขณะนี้ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ. ดูแล รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด มีความต้องการไฟฟ้าสีเขียวแบบไม่เจาะจงแหล่งที่มาประมาณ 10,000 เมกะวัตต์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนต่างชาติ จีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น ต่างมีความต้องการลงทุนไฟฟ้าสีเขียว
อย่างไรก็ตาม คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ กกพ. กล่าวว่า เงื่อนไขของอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวเบื้องต้นที่คำนวณเพื่อจะนำมาเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะภายในเดือนมกราคม 2567 โดยคำนวณราคาค่าไฟไว้ที่ 4.55 บาทต่อหน่วย น่าจะเป็นตัวเลขที่เหมาะสม โดยตัวเลขต่างๆ มีการรวบรวมจากค่าบริการของต่างประเทศที่ได้มีการประกาศใช้ไปแล้วด้วย
หลังจากนี้ต้องประชาพิจารณ์ทุกฝ่าย เนื่องจากไฟฟ้าสีเขียวจะแพงกว่าอัตราค่าไฟฟ้าปกติที่เฉลี่ยอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย