สมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 250 คน ที่ผ่านการคัดเลือกมาเป็นพิเศษ และมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญปี 2560 กำลังจะครบวาระ 5 ปี และหมดอายุในกลางเดือนพฤษภาคมนี้
นับเป็นช่วงเวลาที่ประจวบเหมาะอย่างยิ่งที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มี เสรี สุวรรณภานนท์ นั่งเป็นประธาน กำลังรวบรวมรายชื่อสมาชิกวุฒิสภาให้ครบ 1 ใน 3 จำนวน 250 คน หรือ 84 คน เพื่อยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 จนสร้างแรงกระเพื่อมถึงทำเนียบรัฐบาล
เสรี สุวรรณภานนท์ และ จเด็จ อินสว่าง สองสมาชิกวุฒิสภา ในฐานะแกนนำคนสำคัญในการยื่นญัตติดังกล่าวได้แถลงต่อหน้าสื่อมวลชนว่า รัฐบาลเศรษฐาได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 และเข้าบริหารราชการแผ่นดิน 4 เดือนมาแล้ว
แต่รัฐบาลกลับไม่ได้แก้ปัญหาตามนโยบายที่แถลงไว้ สว. จึงจะรวบรวมเสียงและเสนอญัตติเพื่อให้รัฐบาลมาชี้แจง 7 ประเด็นที่หาทางออกของประเทศ และจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดิน
7 ประเด็น มีอะไรบ้าง
- ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องประชาชน เช่น การสร้างงานสร้างอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืนให้ประชาชน รวมถึงการแก้ปัญหาความยากจนที่ตั้งคำถามถึงแนวทางการทำงานของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม, สภาพปัญหาการทำนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่ชอบด้วยกฎหมายไม่สร้างภาระหนี้ให้ประชาชน, การแก้หนี้นอกระบบที่ไม่ได้มุ่งแก้ปัญหาต้นตอในระดับครัวเรือน, การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมประมง และการสร้างรายได้จากทรัพยากรธรรมชาติ
- ปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย เช่น การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามคำพิพากษาที่สะท้อนกระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐาน, การทุจริตคอร์รัปชันและยาเสพติด, การลักลอบนำเข้าสินค้าปศุสัตว์, การเปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรที่เอื้อประโยชน์ให้นายทุนจะรับมืออย่างไร
- ปัญหาด้านพลังงาน เช่น การจัดการราคาค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม และน้ำมัน ปัญหากลุ่มทุนพลังงานที่มีอิทธิพลต่อการเมืองส่งผลให้ประชาชนแบกรับภาระต้นทุนราคาเชื้อเพลิง และปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับประเทศเพื่อนบ้าน
- ปัญหาการศึกษาและสังคม เช่น การปฏิรูปการศึกษาผ่านร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ, การแก้ปัญหาหนี้สินครู, การจัดหลักสูตรการศึกษาให้ประชาชนเข้าใจในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และปัญหาการดูแลผู้สูงวัย ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส
- ปัญหาการต่างประเทศและท่องเที่ยว เช่น ปัญหาทุนจีนสีเทาที่กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การไม่เลือกข้างความขัดแย้งของรัฐบาล และมาตรการการคุ้มครองความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว
- ปัญหาการแก้รัฐธรรมนูญ ที่ต้องอธิบายการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อประโยชน์ประชาชนและพัฒนาประเทศ
- ปัญหาการปฏิรูปประเทศ แนวทางของรัฐบาลต่อการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ
ย้อนสถิติ สว. ยื่นซักฟอกรัฐบาลมาแล้วกี่ครั้ง
หากย้อนดูข้อมูลจากคลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พบว่า วุฒิสภาได้ใช้สิทธิขอเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาลเพียง 5 ครั้งเท่านั้น
ครั้งที่ 1 เดือนมิถุนายน 2551 ในรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ‘คำนูณ สิทธิสมาน’ ได้ขอให้ ครม. ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 161 ภายหลังจากรัฐบาลเข้าบริหารราชการแผ่นดินได้ 4 เดือน และได้เกิดเหตุความไม่สงบจากเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยในทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่ภาคเหนือจรดภาคใต้ ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคม
ครั้งที่ 2 ในเมษายน 2552 ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ‘สมชาย แสวงการ’ และคณะ ได้ขอให้ ครม. ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 161 โดยพุ่งเป้าไปยังประเด็นการเมือง กรณีของการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง ที่บุกล้มการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่พัทยา รวมถึงกรณีกล่าวหาว่ามีคนเบื้องหลังการกระทำของคนเสื้อแดง
ครั้งที่ 3 เดือนมีนาคม 2553 ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ‘เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ’ ขอให้ ครม. ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 161 ตั้งคำถามถึงวิกฤตในบ้านเมือง โดยเฉพาะการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม นปช. ในพื้นที่ กทม.
ครั้งที่ 4 เดือนตุลาคม 2555 ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ‘วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์’ กับคณะ ได้ขอให้ ครม. ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 161 ขอตรวจสอบโครงการของรัฐบาลคือ การรับจำนำข้าวทุกเมล็ด งบประมาณ 4.08 แสนล้านบาท และการบริหารราชการแผ่นดินที่ส่อว่าจะเกิดความเสียหายแก่บ้านเมือง
ครั้งที่ 5 เดือนตุลาคม 2556 ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ‘พล.ต.ท. ยุทธนา ไทยภักดี’ และคณะ ได้ยื่นญัตติขอให้ ครม. ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 161 รัฐบาลยิ่งลักษณ์อีกครั้ง โดยพุ่งเป้าไปที่ปมปัญหาด้านการเกษตร โครงการรับจำนำข้าวที่ทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ และเกิดหนี้สาธารณะ
อย่างไรก็ตามพบว่า ตลอดการบริหารราชการแผ่นดินในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา 4 ปีที่ผ่านมา สว. ไม่ได้มีการยื่นญัตติขออภิปรายทั่วไปสักครั้งเดียว
ผ่านมาแค่ 4 เดือน ทำไม สว. ต้องรีบเปิดอภิปรายรัฐบาลเศรษฐา
ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา กล่าวอธิบายตอนหนึ่งในรายการ THE STANDARD NOW ถึงเหตุผลและความจำเป็นของ สว. ที่เข้าชื่อเพื่อยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป ครม. โดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 ว่า สว. มีหน้าที่ที่ต้องตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอยู่แล้ว เมื่อรัฐบาลได้เข้ามาทำหน้าที่ บทบาทการทำหน้าที่ถ่วงดุลของ สว. ก็จะเริ่มขึ้นทันทีเช่นกัน และตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 153 วุฒิสภาสามารถขอให้รัฐบาลเข้ามาตอบคำถามที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนได้
ดิเรกฤทธิ์ยังได้คลายความสงสัยของประชาชน กรณี 4 ปีที่ผ่านมาในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ที่ สว. ไม่เคยยื่นญัตติแม้แต่ครั้งเดียวว่า เราพิจารณาจากประเด็นที่จะยื่นเป็นสำคัญ ขณะเดียวกันความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลชุดที่แล้วและฝ่ายนิติบัญญัติ เราทำงานร่วมกันในเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ และรายงานความคืบหน้าทุก 3 เดือน หากสมาชิกวุฒิสภามีข้อสงสัยก็สามารถพูดคุยกัน และกำกับแนะนำกันอยู่แล้ว ทำให้ไม่มีประเด็นที่จะต้องเปิดอภิปราย
ขณะเดียวกันเมื่อต้องการรวมเสียงเพื่อยื่นญัตติเพื่อขออภิปรายทั่วไป ก็ไม่ได้เสียงสนับสนุนจากเพื่อน สว. ทำให้เสียงไม่ถึงตามที่กฎหมายกำหนดไว้
ดิเรกฤทธิ์กล่าวต่อว่า แต่รัฐบาลชุดปัจจุบันนั้นได้แบกความคาดหวังของประชาชนมาด้วย เพราะรัฐบาลมาพร้อมกับแนวนโยบายหาเสียง ความคาดหวังของประชาชนที่ต้องผลักดันกฎหมายต่างๆ และเมื่อ สว. ได้ศึกษาแล้วก็พบว่ามีหลายเรื่องที่ต้องการข้อเท็จจริงจากรัฐบาลเช่นกัน
“เราคิดว่าการเปิดอภิปรายครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับรัฐบาล รัฐบาลไม่ได้เสียเครดิตอะไร เมื่อท่านแบกความคาดหวัง และท่านสัญญาไว้หลายเรื่อง เราอยากให้รัฐบาลมาชี้แจงแค่นั้น” ดิเรกฤทธิ์กล่าว
ล็อบบี้ สว. ไม่ให้ลงชื่อ
อย่างไรก็ตามต้องจับตาอีกว่า สมาชิกวุฒิสภาจะสามารถรวมเสียงได้ถึง 1 ใน 3 ของ 250 หรือ 84 เสียงหรือไม่ เพราะ เสรี สุวรรณภานนท์ บอกกับสื่อมวลชนเองว่า ล่าสุดสามารถรวบรวมรายชื่อสมาชิกรับรองญัตติการเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามมาตรา 153 ได้แล้ว 91 รายชื่อ ซึ่งเกินกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่คือ 84 คนจาก 250 คน
แต่จะยังคงเปิดให้สมาชิกสามารถลงชื่อพรุ่งนี้อีก 1 วัน เพราะอยากให้มีรายชื่อสมาชิกรับรองญัตติอย่างน้อย 100 รายชื่อ ป้องกันปัญหาหากสมาชิกเปลี่ยนใจถอนรายชื่อในหลังภายหลัง ซึ่งสามารถทำได้ตลอดจนกว่าจะถึงวันเปิดอภิปราย แต่ส่วนตัวเชื่อว่าจะไม่มีสมาชิกกล้าถอนรายชื่อในสถานการณ์เช่นนี้ก็ตาม
ขณะที่ วันชัย สอนศิริ กล่าวยอมรับว่า การเข้าชื่อของ สว. เพื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติของรัฐบาลนั้น มีการล็อบบี้ให้เข้าชื่อและไม่เข้าชื่อเกิดขึ้น รวมถึงมีการล็อบบี้ให้ถอนรายชื่อจากการเสนอญัตติครั้งนี้ด้วย
ทั้งนี้ ภายหลังจากได้รายชื่อครบก็จะเสนอญัตติต่อ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เพื่อประสานกับคณะรัฐมนตรี หารือวันที่เหมาะสมในการมาตอบข้อซักถามของวุฒิสภา ซึ่งคาดว่าจะไม่เกินต้นเดือนมีนาคมนี้
การเคลื่อนไหวครั้งนี้ของ สว. ถูกจับตาว่า นี่อาจเป็นการทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล เป็นการทิ้งทวนอำนาจ สว. ก่อนหมดวาระในกลางปีนี้นั่นเอง
อ้างอิง: