แบงก์ชาติยืนยัน อัตราดอกเบี้ยที่ 2.5% ‘เหมาะสม’ ชี้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวไม่ได้เป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ย แต่มาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง เตือนการลดอัตราดอกเบี้ยมีทั้งต้นทุนและความเสี่ยงซึ่งอาจนำมาสู่ปัญหาอื่นๆ ภาวะการก่อหนี้เกินตัว
วันนี้ (15 มกราคม) ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยในงาน BOT Policy Briefing: เปิดแนวคิดนโยบายแบงก์ชาติ โดยยังยืนยันว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% อยู่ในภาวะสมดุลและเป็นกลาง (Neutral) กล่าวคือ ‘ไม่ฉุดรั้งเศรษฐกิจ’ และยังช่วยหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจได้
ทำไมเศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าคาด แล้ว กนง. ไม่ลดดอกเบี้ย?
ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา มีการถกเถียงอย่างกว้างขวางว่าขณะนี้สภาพเศรษฐกิจไทยกำลังชะลอตัว ควรจะถึงเวลาที่ กนง. ต้องลดดอกเบี้ยแล้วหรือไม่ อย่างไรก็ดี ปิติอธิบายว่า ปัญหาเศรษฐกิจไทยปัจจุบันมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง และปัจจัยต่างประเทศที่อยู่เหนือการควบคุม ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยที่อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ‘ไม่สามารถแก้ไขได้’
“ตั้งแต่ก่อนโควิด การส่งออกของไทยไม่ได้มีการขยายตัวที่เร็วมาก แต่ที่น่าเป็นห่วงคือหลังโควิด การฟื้นตัวของส่งออกไทยยังค่อนข้างช้ากว่าเพื่อนบ้าน ส่วนหนึ่งสะท้อนว่าไทยกำลังเสียความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกไป โดยจะเห็นได้ว่าตะกร้าสินค้าส่งออกของไทยมีสัดส่วนสินค้า High Tech ค่อนข้างต่ำและต่ำกว่ามาเลเซียและสิงคโปร์ นอกจากนี้ในช่วงหลังๆ ก็มีการนำเข้าสินค้า โดยเฉพาะจากจีนสูงขึ้นด้วย สะท้อนว่าไทยกำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทั้งในประเทศและนอกประเทศ ขณะที่จีนก็มีปรับยุทธศาสตร์ให้พึ่งพาการผลิตภายในประเทศมากขึ้น” ปิติกล่าว
นอกจากนี้ภาคท่องเที่ยวไทยก็มีเสน่ห์น้อยลงในสายตาของต่างชาติ ส่วนหนึ่งก็มาจากการไม่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากปัญหาเหล่านี้แล้วพบว่า “ดอกเบี้ยไม่สามารถทำให้ไทยมีสินค้าส่งออก High Tech หรือซับซ้อน (Sophisticated) ขึ้นได้ และไม่สามารถทำให้ท่องเที่ยวไทยมีเสน่ห์เพิ่มได้” ปิติกล่าว
ทำไมอัตราเงินเฟ้อติดลบ แต่ กนง. ไม่ลดดอกเบี้ย?
ปิติกล่าวอีกว่า เงินเฟ้อที่ปรับลดลงเร็วถือเป็นข่าวดี และไม่ได้เพิ่มภาระให้กับประชาชน พร้อมอธิบาย 3 เหตุผลที่ กนง. ยังไม่ลดดอกเบี้ย ได้แก่
- เงินเฟ้อติดลบเป็นภาวะที่ไม่ยั่งยืน (Sustain) โดย ธปท. คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) น่าจะกลับมาพลิกบวกอย่างน้อยในเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นมาอยู่ 1-2% ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งถือว่ายังอยู่ในกรอบเป้าหมาย
- ไม่ได้เป็นการสะท้อนถึงอุปสงค์หรือกำลังซื้อที่หมดไป เนื่องจากการลดลงของเงินเฟ้อส่วนหนึ่งมาจากปัญหาด้านอุปทานที่คลี่คลายลงบางส่วน
- การคาดการณ์เงินเฟ้อยังยึดเหนี่ยวอยู่ที่ระดับ 2%
การลดดอกเบี้ยมีความเสี่ยง แต่ ธปท. ไม่ยึดติด พร้อมทบทวน
ปิติยังเตือนว่าการลดอัตราดอกเบี้ยมีทั้งต้นทุนและความเสี่ยง จึงต้องระมัดระวัง เนื่องจากอาจนำมาสู่ปัญหาอื่นๆ ที่ตามมาภายหลัง ซึ่งยากที่จะแก้ได้ เช่น ภาวะการก่อหนี้เกินตัว
“การขึ้นอัตราดอกเบี้ยต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย และควรจะสอดรับกับศักยภาพพื้นฐานของเศรษฐกิจ เพราะถ้ากำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำเกินไป ก็จะสร้างแรงจูงให้ประชาชนและผู้ประกอบการกู้ยืมทรัพยากรและรายได้ในอนาคตมาใช้ มาลงทุน ทำให้รายได้ในอนาคตต่ำกว่าที่คาดไว้”
อย่างไรก็ตาม ปิติย้ำว่า ธปท. พร้อมปรับดอกเบี้ยให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจ ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่น (Dogmatics) และพร้อมรับฟังจากทุกภาคส่วน โดย ธปท. ยังมีการพูดคุยและประสานงานกับกระทรวงการคลังและนายกรัฐมนตรีสม่ำเสมอ