สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า จากการรวบรวมความเห็นของบรรดาผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งที่ประเมินว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกในปี 2024 จะยังคงฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ท่ามกลางปัจจัยท้าทายที่ทำให้เส้นทางการขยายตัวของจีนยังคงเต็มไปด้วยอุปสรรคและความท้าทายที่ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของจีนดำเนินไปอย่างไม่ค่อยราบรื่น
สิ่งที่ตลาดต่างจับตามองก็คือรายงานผลการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จีนประจำปี 2023 ที่จะประกาศในวันพุธที่ 17 มกราคมนี้ ที่จีนน่าจะเติบโตได้ตามเป้า 5% ที่ตั้งไว้ แม้จะเผชิญกับการเติบโตที่ลดลงไปบ้างในช่วงไตรมาสที่ 4 ก็ตาม
นอกจากนี้ ประเด็นที่ต้องจับตามองก็คือความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืด วิกฤตที่อยู่อาศัย และวิกฤตความเชื่อมั่นจะขัดขวางความพยายามในการสร้างโมเมนตัมทางเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนในปีนี้หรือไม่ อย่างไร
จนถึงขณะนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคของจีนที่รายงานออกมาเมื่อวันศุกร์ที่ 12 มกราคม ซึ่งลดลงในเดือนธันวาคมเป็นเดือนที่ 3 ถือเป็นภาวะเงินฝืดที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 2019 กระนั้น ตัวเลขการส่งออกของจีนกลับแสดงสัญญาณของเสถียรภาพ แม้ว่าจะลดลงตลอดปี 2023 ก็ตาม
Duncan Wrigley หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีนแห่ง Pantheon Macroeconomics ชี้ว่า การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศจะเป็นไปอย่างช้าๆ เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบกำหนดเป้าหมายของรัฐบาลจีนจะค่อยๆ ส่งผ่านไปยังภาคการลงทุน ขณะที่การฟื้นตัวของอสังหาริมทรัพย์จะดำเนินไปในลักษณะเชื่องช้าอย่างมากเช่นกัน
ขณะเดียวกัน หลายฝ่ายต่างจับตามองไปที่ท่าทีของธนาคารกลางจีน (PBOC) ในวันนี้ (15 มกราคม) ว่าจะมีความเคลื่อนไหวเพื่อตอบโต้แรงกดดันจากภาวะเงินฝืดและส่งเสริมการปล่อยสินเชื่อในจีนอย่างไร โดยนักเศรษฐศาสตร์ที่สำรวจโดย Bloomberg คาดว่า ธนาคารกลางจีนจะลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นโยบายหนึ่งปีลงเหลือ 2.4% และหนุนนโยบายที่อัดฉีดเงินสดเข้าสู่ระบบการเงินมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญมองว่า แนวทางดังกล่าวของ PBOC อาจไม่เพียงพอที่จะแก้ไขสิ่งต่างๆ และคาดหวังว่าธนาคารกลางจีนจะดำเนินการอย่างอื่นเพื่อกระตุ้นการเติบโต เช่น การลดสัดส่วนเงินสดที่ธนาคารต้องสำรองไว้ รวมถึงแนวทางสนับสนุนนโยบายด้านการคลังต่างๆ ซึ่งก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังจีนก็ส่งสัญญาณพร้อมเพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐในปีนี้
ด้าน Bloomberg Economics คาดว่า PBOC จะเริ่มสัปดาห์ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในวันจันทร์ที่ 15 มกราคม โดยได้แรงหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ทำให้ธนาคารกลางจีนมีเหตุผลที่ดีในการเพิ่มการกระตุ้นเศรษฐกิจ
อ้างอิง: