เฉินปินหัว โฆษกสำนักงานกิจการไต้หวันแห่งคณะรัฐมนตรีจีน กล่าวว่า ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกสภานิติบัญญัติของไต้หวันแสดงให้เห็นว่า พรรคหมินจิ้นตั่ง (DPP) ไม่สามารถเป็นตัวแทนความคิดเห็นกระแสหลักของประชาชนบนเกาะแห่งนี้ พร้อมยืนยันว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน และจีนจะยึดมั่นต่อเป้าหมายการรวมชาติต่อไป
เฉินระบุว่า ไต้หวันคือไต้หวันของจีน การเลือกตั้งจะไม่เปลี่ยนภูมิทัศน์พื้นฐานและแนวโน้มการพัฒนาความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ จะไม่เปลี่ยนแปลงความปรารถนาในการสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นของเพื่อนร่วมชาติข้ามช่องแคบ และจะไม่ขัดขวางแนวโน้มที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้นั่นคือ ‘การรวมชาติของจีน’
“จุดยืนของเราในการรวมชาติยังคงไม่เปลี่ยนแปลง และความมุ่งมั่นของเรานั้นหนักแน่นดั่งหินผา” เฉินกล่าว
“เราจะยึดมั่นฉันทมติปี 1992 ที่รวมไว้ซึ่งหลักการจีนเดียว และต่อต้านอย่างแข็งกร้าวต่อกิจกรรมแบ่งแยกดินแดนที่มุ่งเป้าไปที่ ‘เอกราชของไต้หวัน’ รวมถึงการแทรกแซงจากต่างประเทศ” เฉินกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
-
จับตาสถานการณ์ไต้หวันหลังการเลือกตั้ง เชื่อสองฝ่ายประนีประนอม มุ่งประโยชน์เศรษฐกิจเป็นหลัก
-
จีนชี้ สหรัฐฯ ส่งสัญญาณไม่ถูกต้อง พร้อมประณามรัฐบาลต่างชาติ ปมแสดงความยินดีประธานาธิบดีไต้หวันคนใหม่
โฆษกยังกล่าวด้วยว่า ปักกิ่งจะทำงานร่วมกับพรรคการเมือง กลุ่ม และประชาชนที่เกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่างๆ ในไต้หวัน เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือข้ามช่องแคบ ยกระดับการพัฒนาข้ามช่องแคบ ร่วมกันส่งเสริมวัฒนธรรมจีน และผลักดันความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบอย่างสันติ ตลอดจนสนับสนุนการรวมชาติ
ขณะที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนตอบคำถามนักข่าวเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันว่า “ประเด็นปัญหาไต้หวันเป็นกิจการภายในของจีน ไม่ว่าสถานการณ์ภายในเกาะไต้หวันจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร บนโลกนี้ก็มีเพียงจีนเดียว ไต้หวันคือส่วนหนึ่งของจีนที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ รัฐบาลจีนยึดถือหลักการจีนเดียว และคัดค้านการแยกตัวเป็นเอกราช คัดค้านการมีสองจีน” นอกจากนี้ยังแสดงความเชื่อมั่นว่า ประชาคมโลกจะยึดมั่นในหลักการจีนเดียวต่อไป
อย่างไรก็ตาม ไต้หวันมองตนเองว่ามีอิสระและอธิปไตยในการปกครองตนเอง ไม่ขึ้นกับจีน และไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของจีน แม้ที่ผ่านมาจะไม่เคยประกาศแยกตัวเป็นเอกราชอย่างเป็นทางการก็ตาม ขณะที่ ไล่ชิงเต๋อ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่จาก DPP ที่เพิ่งชนะเลือกตั้ง เคยประกาศว่าจะคงสถานะที่เป็นอยู่กับจีน (Status Quo) และมองว่าไต้หวันไม่มีความจำเป็นต้องประกาศเอกราชและเปลี่ยนชื่อทางการจากสาธารณรัฐจีนแต่อย่างใด
ภาพ: Alberto Buzzola / LightRocket via Getty Images
อ้างอิง: