จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ของสหรัฐอเมริกา ได้อนุมัติการจัดตั้งกองทุน Spot Bitcoin Exchange-Traded Funds (ETF) อย่างเป็นทางการเมื่อช่วงเวลาประมาณ 04.30 น. ของวันนี้ (11 มกราคม)
ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีความกังวลเกี่ยวกับการซื้อ-ขายและลงทุนใน Bitcoin ในมุมของการดูแลความเสี่ยงของผู้ลงทุน การที่มีกองทุน ETF ออกมาจะทำให้ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมั่นคงมากขึ้น ผ่านการประเมินของนักลงทุนสถาบันและการปกป้องสิทธิของรายย่อยที่เพิ่มขึ้นในระดับหนึ่ง
“แต่สิ่งที่นักลงทุนต้องพิจารณาคือ ความเสี่ยงเมื่อเทียบกับความคาดหวังของผลตอบแทนว่ามีความเหมาะสมเพียงใด”
ด้าน ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า การที่ ก.ล.ต.สหรัฐฯ อนุมัติให้กองทุน ETF ใช้ Bitcoin เป็นสินทรัพย์อ้างอิงได้เป็นสิ่งที่ดีและช่วยให้สินทรัพย์ดิจิทัลถูกดึงมาอยู่ภายใต้การกำกับมากขึ้น
“อีกมุมหนึ่งก็เป็นโอกาสของนักลงทุนในการกระจายพอร์ตการลงทุน ที่ผ่านมาจะเห็นว่าราคา Bitcoin มี Correlation กับสินทรัพย์อื่นๆ น้อย”
ขณะเดียวกันการที่มีนักลงทุนสนใจลงทุนในสินทรัพย์ใดๆ เพิ่มขึ้น ก็เป็นส่วนช่วยดึงคนใหม่ๆ เข้ามาในตลาดทางอ้อมด้วยเช่นกัน อย่างเมื่อปี 2563-2564 ที่นักลงทุนสนใจใน Bitcoin เพิ่มขึ้นอย่างมาก ฝั่งของตลาดหุ้นไทยเองก็มีจำนวนบัญชีใหม่เพิ่มขึ้นกว่าล้านบัญชีเช่นกัน
พร้อมกันนี้ ศรพลยังได้เปิดเผยถึงภาพรวมของบรรยากาศการลงทุนในปี 2567 โดยกล่าวว่า ปี 2567 มีโอกาสที่เงินลงทุนจะเคลื่อนย้ายมาตลาดหุ้นในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทย ค่อนข้างมาก สังเกตจากเงินบาทที่มีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าในระยะปานกลาง ประกอบกับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัวได้สูงกว่าคาดตามการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว การส่งออก และการบริโภคภายในประเทศ
นอกจากนี้นักวิเคราะห์ปรับคาดการณ์อัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS Growth) และ Forward P/E ในปี 2567 ของ SET ไปยังจุดที่มีความน่าสนใจในการลงทุนมากขึ้นกว่าปีก่อนหน้า ขณะที่มีหลายกลุ่มอุตสาหกรรมใน SET ที่มีคาดการณ์ EPS Growth สูง แต่มี Valuation ที่ยังอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต
ข้อมูลจาก Bloomberg Consensus ระบุว่า แนวโน้มกำไรของบริษัทจดทะเบียนไทยปีนี้น่าจะเติบโตได้ราว 10-20% ในขณะที่ P/E ของตลาดโดยรวมลดลง หมายความว่า คุณภาพของดีขึ้น แต่ของกำลังลดราคา
อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยเสี่ยงที่นักลงทุนต้องติดตาม 4 ด้าน ได้แก่
- วัฏจักรเศรษฐกิจโลก ซึ่งปัจจุบันหลายฝ่ายประเมินว่าจะไม่เกิด Hard Landing
- อัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อ ปัจจุบันนักลงทุนยังคาดหวังว่า Fed จะลดดอกเบี้ยมากกว่าที่เคยส่งสัญญาณออกมา
- ภูมิรัฐศาสตร์ นอกจากสงครามที่ปะทุอยู่ในปัจจุบัน จะมีความขัดแย้งเกิดขึ้นเพิ่มเติมหรือไม่ และปีนี้จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
- ความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ
ตลาดเผย เริ่มขยายเวลาเทรดอีก 30 นาที ปลายไตรมาสแรก
รองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกฎหมาย และดูแลกลุ่มงานเลขานุการองค์กรและกำกับองค์กร เปิดเผยว่า การขยายเวลาซื้อ-ขายหลักทรัพย์ในช่วงบ่าย ซึ่งจากเดิมที่เริ่มเปิดตลาดภาคบ่ายเวลา 14.30 น. จะขยับมาเร็วขึ้นอีก 30 นาที เป็นเวลา 14.00 น. ทำให้เวลาของการซื้อ-ขายหลักทรัพย์แต่ละวันจะเพิ่มขึ้นจากประมาณ 4.30 ชั่วโมง เป็น 5 ชั่วโมง โดยจะเริ่มปรับเวลาภายในปลายไตรมาสแรกหรือช่วงต้นไตรมาส 2
นอกจากนี้ตลาดหลักทรัพย์เตรียมที่จะปรับปรุงรายละเอียดการขึ้นเครื่องหมาย C หรือ Caution สำหรับบางหลักทรัพย์ โดยการขึ้นเครื่องหมาย C จะแบ่งออกเป็น 4 ประเภท โดยจะเริ่มใช้ภายในไตรมาส 2 นี้
หมายเหตุ:
- CB เป็นเหตุการณ์เกี่ยวกับธุรกิจ เช่น ส่วนของผู้ถือหุ้นน้อย, รายได้น้อย, ขาดทุนติดต่อกัน หรือผิดนัดชำระหนี้
- CS เป็นเหตุการณ์เกี่ยวกับงบการเงิน เช่น ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็น หรือสำนักงาน ก.ล.ต. สั่ง Special Audit
- CF เป็นเหตุการณ์เกี่ยวกับสัดส่วนของผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float)
- CC เป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับกรณีที่บริษัทมีส่วนที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น การเป็น Cash Company หรือเป็น Investment Company ที่ไม่ได้มีธุรกิจหลักของตัวเอง