วานนี้ (10 มกราคม) อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยในงานสรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยปี 2566 ว่าในปี 2567 มีหุ้นกู้ระยะยาว (1 ปีขึ้นไป) ครบกำหนดทั้งสิ้น 890,908 ล้านบาท โดยจำนวนนี้ 90% เป็น Investment Grade 7.91 แสนล้านบาท และ 10% เป็น High Yield ซึ่งรวมถึงหุ้นกู้ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับ 9.95 หมื่นล้านบาท โดยหุ้นกู้ High Yield ที่จะครบกำหนดส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ รองลงมาคือพลังงาน
อริยากล่าวอีกว่า หุ้นกู้ 90% ที่ครบกำหนดในปีนี้ ‘ไม่น่ามีปัญหา’ เพราะว่าเป็น Investment Grade แต่ส่วนที่ต่ำกว่า Investment Grade นั้น ThaiBMA ก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่าตัวไหนจะมีปัญหาหรือไม่ ต้องดูเป็นรายๆ ไป แต่ก็ไม่คิดว่า 10% ที่เป็น High Yield น่าเป็นห่วงทั้งหมด เพราะว่ามีหลายบริษัทที่ออก High Yield Bond และไม่ได้มีปัญหาอะไร จึงจะต้องดูเป็นกรณีไป
นอกจากนี้อริยายังตอบผู้คำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับภาคส่วน (Sector) ที่น่าห่วงที่สุด โดยระบุว่าหลายคนห่วงกลุ่มอสังหา แต่จริงๆ แล้วต้องบอกว่าที่สัดส่วน High Yield ในกลุ่มอสังหาสูง เพราะมีการออกเยอะ รวมไปถึงกลุ่มพลังงานและการเงิน
“ถ้าเห็นจากปีที่แล้ว STARK และ JKN ที่ผิดนัดชำระก็ไม่ได้อยู่ในกลุ่มอสังหา โดยส่วนตัวยังมองว่าหากเกิดปัญหา บริษัทอสังหายังมีสินทรัพย์ เช่น ที่ดิน สิ่งปลูกสร้างไปขอสินเชื่อจากธนาคารได้ ยังมีโอกาสได้มากกว่าภาคส่วนอื่นๆ” อริยากล่าว
สำหรับประมาณการการออกหุ้นกู้ระยะยาวปี 2024 คาดว่าอยู่ที่ 9 แสน – 1 ล้านล้านบาท นับว่าทรงตัวหรือต่ำกว่าปี 2566 ซึ่งมีการออกหุ้นกู้ใหม่ที่ 1,018,690 ล้านบาท ‘เล็กน้อย’ โดยจำนวนนี้ 60% เป็นการต่ออายุหุ้นกู้ (Roll Over) ราว 5-5.5 แสนล้านบาท ขณะที่ New Issue คาดว่าจะอยู่ที่ราว 4-4.5 แสนล้านบาท
ขณะที่มูลค่าคงค้างหุ้นกู้ที่มีปัญหา ณ สิ้นปี 2566 รวม 39,412 ล้านบาท (ไม่รวมหุ้นกู้ที่อยู่ในการฟื้นฟูกิจการ เช่น การบินไทย) โดยจำนวนนี้ 16,363 ล้านบาท เป็นหุ้นกู้ที่ผิดนัดชำระในปี 2566 ตัวอย่างเช่น
- หุ้นกู้ ALL จำนวน 7 รุ่น 2,334 ล้านบาท
- หุ้นกู้ STARK จำนวน 5 รุ่น 9,198 ล้านบาท
- หุ้นกู้ CHO จำนวน 4 รุ่น 409 ล้านบาท
- หุ้นกู้ DR จำนวน 2 รุ่น 1,210 ล้านบาท
- หุ้นกู้ JKN จำนวน 7 รุ่น 3,212 ล้านบาท
สำหรับเริ่มปี 2567 มีหุ้นกู้ที่ผิดนัดชำระแล้ว 1 รุ่น คือบริษัท พี พี ฮอลิเดย์ จำกัด (PPH) มูลค่า 392 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ยังมีหุ้นกู้หลายรุ่นหลายบริษัทที่ได้เรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้เพื่อขอพิจารณาอนุมัติการขยายวันครบกำหนดไถ่ถอนออกไป เช่น บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง และ บจก.สยามนุวัตร (SNW) ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์แนวสูง