×

ปรากฏการณ์ความปังของ ‘คัลแลน-พี่จอง’ กำลังบอกอะไรสังคมไทย

10.01.2024
  • LOADING...
คัลแลน-พี่จอง

HIGHLIGHTS

  • คัลแลน เป็นชาวเกาหลี ประกอบอาชีพเป็นโปรดิวเซอร์เพลง EDM และทำงานเป็นดีเจที่ K BOMB บาร์เกาหลีในประเทศไทยที่เขาเป็นเจ้าของด้วยตัวเอง โดยเขาเปิดช่อง YouTube เพื่อบอกเล่าชีวิตประจำวันของเขา
  • ต่อมาเขาชวนรุ่นพี่ชื่อ จอง ทำคลิปท่องเที่ยวไปตามสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย จนกลายเป็นกระแสไวรัล
  • ผู้เชี่ยวชาญเกาหลีศึกษาระบุว่า ด้วยบุคลิกที่น่ารัก เป็นธรรมชาติ และถือเป็นตัวแทนของชาวต่างชาติที่มาสัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยวในประเทศไทย

คัลแลน-พี่จองคือใคร

 

จังหวัดสุพรรณบุรี, ราชบุรี, พัทลุง, สุรินทร์, บึงกาฬ หรือภูเก็ต ฯลฯ นี่คือหลายจังหวัดที่สองหนุ่ม ‘คัลแลนและพี่จอง’ พาคนไทยไปเที่ยวเมืองไทยแบบไร้เดียงสาจนเป็นไวรัล

 

คัลแลน มีชื่อจริงว่า พัคกีดึก ปัจจุบันเขาอายุ 33 ปี เป็นชาวเกาหลีที่ประกอบอาชีพเป็นโปรดิวเซอร์เพลง EDM และทำงานเป็นดีเจที่ K BOMB บาร์เกาหลีในประเทศไทยที่เขาเป็นเจ้าของด้วยตัวเอง

 

ต่อมาเขาเปิดช่อง YouTube ชื่อ 컬렌 Cullen HateBerry ลงวิดีโอชิ้นแรกเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 โดยใช้ชื่อวิดีโอดังกล่าวว่า ‘การเริ่มทำยูทูบของโปรดิวเซอร์เพลง EDM ชาวเกาหลีในกรุงเทพ’

 

“ผมจะทำคลิปถ่ายชีวิตประจำวันที่น่าสนใจของผมลงยูทูบ ชีวิตในฐานะโปรดิวเซอร์ EDM ชีวิตในประเทศไทยในฐานะคนเกาหลี

 

“ผมจะโชว์ให้ดูแบบเปิดเผยเลยครับ มันจะต้องสนุกแน่ๆ” เขาระบุเป็นภาษาเกาหลีในวิดีโอชุดแรกของตัวเอง

 

 

เขาเริ่มทำคลิปบอกเล่าชีวิตประจำวันของเขา ทั้งไลฟ์สไตล์วันหยุด การเรียนมหาวิทยาลัย ลองนั่งเรือไปไอคอนสยาม ก่อนที่จะเปิดตัวคู่หูคือ ‘พี่จอง’ ในคลิป ‘อปป้าว่าไง? เมื่อลอง ‘ย่างเนย’ ครั้งแรก!’ หนุ่มนักธุรกิจชาวเกาหลีรุ่นพี่ของคัลแลน 

 

และในท้ายคลิปยังได้ชักชวนกันไปทำคลิปเที่ยวธรรมชาติ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการทำคลิปเดินทางท่องเที่ยวไปตามสถานที่ธรรมชาติของจังหวัดต่างๆ ในหลายภาคของไทย

 

ปัจจุบันช่อง YouTube ของคัลแลนมีผู้ติดตามกว่า 1.51 ล้านคน มีวิดีโอรวม 93 รายการ (ณ วันที่ 10 มกราคม 2567) โดยคลิปวิดีโอที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดคือ การไปเที่ยวสุพรรณบุรี ซึ่งมีผู้ชมแล้วกว่า 4.8 ล้านวิว

 

คัลแลน-พี่จอง

ภาพ: @cullen_hateberry / Instagram

 

ทำไมคัลแลนกับพี่จองถึงปังและเป็นไวรัล

 

“วิเคราะห์กันได้หลายลักษณะ ทั้งหน้าตาที่ก็น่ารักน่าชัง ดูหล่อ คอนเทนต์ก็ไม่มีความรุนแรง เด็กๆ ดูได้ และดูได้ทุกเพศ ทุกวัย” ดร.ไพบูลย์ ปีตะเสน ประธานศูนย์เกาหลีศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็น

 

ดร.ไพบูลย์ บอกว่า หากมองกันให้ลึก เขาเป็นตัวแทนของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะคนเกาหลี ที่มาเที่ยวในไทยแบบไม่ได้วางแพลนหรือเตรียมการ รวมถึงไม่มีนัยแฝงในการโปรโมตใดๆ และเป็นการเที่ยวแบบธรรมดา ไม่ได้หรูหรา

 

“สถานที่เที่ยวไม่ได้น่าสนใจเท่าประสบการณ์ของคนที่ไปเที่ยว คือเรากำลังสิงร่างของคัลแลนกับพี่จองไปเที่ยว สมมติเราไปต่างจังหวัดแล้วเราเห็นเขากินหนูนา สำหรับคนไทยไม่แปลกอะไร

 

“แต่ถ้าเป็นคัลแลนกับพี่จองเขาจะทำหน้าอย่างไร ไปเจอคนกินหนูนา เขาต้อง เฮ้ย มันยังไง แล้วมันน่าสนใจว่ารีแอ็กของเขาเหมือนเป็นตัวแทนชาวโลกที่ค้นพบอะไรเกี่ยวกับประเทศไทย”

 

ดร.ไพบูลย์ ปีตะเสน ประธานศูนย์เกาหลีศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

คัลแลน-พี่จอง Soft Power ท่องเที่ยวไทย

 

ดร.ไพบูลย์ กล่าวว่า คัลแลนกับพี่จองถือเป็นอินฟลูเอ็นเซอร์ ซึ่งสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านรูปแบบการสื่อสารที่จัดได้ว่าเป็น Soft Power

 

“เราเริ่มพูดคุยกับเขาว่าลองทำคอนเทนต์พวกนี้ดูสิ ไป (ท่องเที่ยวใน) แต่ละจังหวัด

 

“แต่ถ้าเรายุ่งกับเขา อย่าให้เขาเปลี่ยนสี ถ้าเขาเปลี่ยนสีไปในเชิงธุรกิจหรือว่าถูกควบคุมจัดการจากรัฐบาล เขาจะเปลี่ยนไปทันที อะไรที่ไม่ดีเขาจะไม่กล้าพูด เสน่ห์มันจะหายไป ผมว่าเสน่ห์มันคือความตรงไปตรงมาด้วย”

 

ดร.ไพบูลย์ ระบุว่า จริงๆ แล้วใครๆ ก็เป็นแบบเขาได้ ถ้าเราอยากจะเป็น เราก็จะมีคัลแลนคนที่ 3 คนที่ 4 ต่อไปได้ ปัจจุบันการทำคอนเทนต์ในลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องยาก

 

“การที่เราใส่สินค้าเชิงวัฒนธรรมเข้าไป ผมคิดว่าแพลตฟอร์มออนไลน์แบบนี้เป็นเรื่องสำคัญ” 

 

 

ก่อนหน้านี้ วันที่ 27 ธันวาคม 2566 อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุว่า ได้ติดต่อให้ทั้งสองคนคือคัลแลนกับพี่จองไปเที่ยวอุทยานต่างๆ ทั่วประเทศ และเชิญชวนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้ทั้งสองคนรับปากที่จะเข้ามาคุยรายละเอียดแล้วในช่วงหลังปีใหม่

 

“หนุ่มเกาหลีทั้งสองคนมีผู้ติดตามนับล้านคน เป็นคนตลก มีความเป็นธรรมชาติ เรียบง่าย และเป็นที่ชื่นชอบของคนไทยจำนวนมาก

 

“ทั้งสองคนยินดีที่จะมาร่วมงานและไม่ขอคิดค่าตัว แต่ขออย่างเดียวคือ ขอให้เป็นไปโดยธรรมชาติของพวกเขา อย่าไปบังคับเขา” อรรถพลกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้มีร่างแรกงบประมาณของโรดแมปนโยบาย Soft Power ด้านการท่องเที่ยว โดยจัดสรรกรอบวงเงินไว้ 749 ล้านบาทจากงบประมาณของนโยบาย Soft Power ทั้งหมดราว 5,100 ล้านบาท

 

โดยจะใช้สำหรับการทำฐานองค์ความรู้ อีเวนต์ ประชาสัมพันธ์ ฝึกอบรม และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการส่งเสริม Soft Power ด้านการท่องเที่ยว

 

https://www.youtube.com/watch?v=T0s1ZrFuQoc&t=2154s&ab_channel=THESTANDARD

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X