×

เปิดโปรไฟล์ ไล่ชิงเต๋อ จากลูกคนงานเหมือง สู่ตัวเต็งประธานาธิบดีไต้หวัน

10.01.2024
  • LOADING...
ไล่ชิงเต๋อ

“อธิปไตยของไต้หวันเป็นของประชาชน 23 ล้านคน ไม่ใช่จีน”

 

นี่คือคำกล่าวของไล่ชิงเต๋อ รองประธานาธิบดีไต้หวันคนปัจจุบัน และผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันคนใหม่จากพรรคหมินจิ้นตั่ง (DPP) ที่ตอกย้ำจุดยืนว่า เขาคนนี้พร้อมสานต่อนโยบายของประธานาธิบดีไช่อิงเหวินในการปกป้องอำนาจอธิปไตยของไต้หวัน ในวันที่แรงกดดันจากฝั่งจีนเพิ่มขึ้นทุกขณะ

 

  • บุตรชายจากครอบครัวคนงานเหมือง

 

ไล่ชิงเต๋อเกิดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 1959 ในเขตว่านหลี่ เมืองนิวไทเป เขาเติบโตมาในครอบครัวที่มีแม่คอยเลี้ยงดูเพียงลำพัง เนื่องจากพ่อของไล่ชิงเต๋อเสียชีวิตในอุบัติเหตุที่เหมืองแร่เมื่อเขาอายุได้เพียงแค่ 2 ขวบเท่านั้น

 

สำหรับประวัติด้านการศึกษาของชายผู้นี้ถือว่าโดดเด่นอยู่ไม่น้อย ไล่ชิงเต๋อจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันในสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟู หลังจากนั้นก็ได้ศึกษาต่อในหลักสูตร Post-Bachelor Program ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติเฉิงกงในสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก่อนที่จะเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สาขาสาธารณสุขศาสตร์ ทำให้ดีกรีด้านการแพทย์ของเขาถือว่าไม่ธรรมดา โดยไล่ชิงเต๋อถือเป็นเจ้าหน้าที่การแพทย์ไม่กี่คนในไต้หวันที่มีความเชี่ยวชาญทั้งด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู การดูแลทางคลินิก และความเชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข

 

แต่แล้ว … ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 อันเป็นช่วงเวลาที่ไต้หวันยกเลิกใช้กฎอัยการศึกและเปลี่ยนผ่านมาสู่ระบอบประชาธิปไตย ในที่สุดไล่ชิงเต๋อก็ตัดสินใจเบนเข็มจากเส้นทางสายการแพทย์และเดินหน้าเข้าสู่ถนนการเมืองเต็มตัว ด้วยความหวังว่าตนเองจะมีบทบาทในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย โดยเขาได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ ก่อนที่จะไต่เต้าขึ้นมาเป็นนายกเทศมนตรีเมืองไถหนาน และก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระหว่างปี 2017-2019

 

ต่อมาในปี 2019 ไล่ชิงเต๋อได้ตอบรับคำชวนของประธานาธิบดีไช่อิงเหวินให้มาร่วมสมัครเป็นผู้เข้าชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีของพรรค DPP ในปี 2020 และแคมเปญหาเสียงที่มุ่งเน้นปกป้องประชาธิปไตยของไต้หวันของพรรค DPP ก็ชนะใจประชาชนส่วนใหญ่ ทำให้ทั้งคู่กลายเป็นคู่ชิงที่ลอยลำชนะการเลือกตั้งไปในที่สุด

 

  • ท่าทีต่อจีน

 

ตลอดเส้นทางการเมืองของไล่ชิงเต๋อ เป็นที่รู้กันว่าเขาถือเป็นนักการเมืองคนหนึ่งที่แสดงท่าทีสนับสนุนเอกราชของไต้หวันอย่างชัดแจ้ง อย่างไรดี ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้สื่อตั้งข้อสังเกตว่าเขาได้มีการ ‘แตะเบรก’ ลงเล็กน้อย โดยจุดยืนในปัจจุบันของเขาคือการให้คำมั่นว่าจะให้ความสำคัญในการรักษาสถานะที่เป็นอยู่ในปัจจุบันของไต้หวัน และจะสานต่อแนวทางจากประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน 

 

แม้เช่นนั้นจีนก็ยังคงมองว่าชายผู้นี้เป็นพวกฝักใฝ่การแบ่งแยกดินแดน แถมยังมาพร้อมแนวคิดที่จะเผชิญหน้ากับจีนด้วย ขณะที่คู่แข่งจากพรรคกั๋วหมินตั่ง / ก๊กมินตั๋ง (KMT) เองก็มักใช้จุดนี้มาโจมตีอยู่บ่อยครั้งว่าการที่ไล่ชิงเต๋อออกตัวแรงเช่นนี้จะส่งผลให้ไต้หวันตกอยู่ในอันตราย อีกทั้งยังกล่าวด้วยว่าไล่ชิงเต๋อคือภัยคุกคามสันติภาพที่ใหญ่หลวงที่สุดของไต้หวันด้วย

 

ในการดีเบตเขาย้ำจุดยืนชัดว่า “อำนาจอธิปไตยและเอกราชของไต้หวันเป็นของประชาชนทั้ง 23 ล้านคน ไม่ใช่จีน” และ “ไม่ว่าจะเป็นไต้หวันหรือจีน ก็ไม่มีใครอยู่ใต้อำนาจใคร” 

 

ไล่ชิงเต๋อเคยแสดงจุดยืนของเขาระหว่างให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Bloomberg ว่าไต้หวันเป็นชาติที่มีเอกราชและมีอำนาจอธิปไตยอยู่แล้วภายใต้ชื่ออย่างเป็นทางการคือสาธารณรัฐจีน ซึ่งไม่ใช่ส่วนหนึ่งของจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ถึงเช่นนั้นเขาก็ไม่มีแผนที่จะพาไต้หวันประกาศเอกราชอย่างชัดเจน และมองว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำเช่นนั้นด้วย อีกทั้งยังเขายังยินดีที่จะสื่อสารและร่วมมือกับจีนบนพื้นฐานของความเคารพซึ่งกันและกัน

 

พร้อมกันนี้เขายังได้เสนอแนวทางในการรักษาสันติภาพของไต้หวันผ่านแผน ‘4 เสาหลัก’ ได้แก่ 1. การเสริมการป้องปราม 2. ยกระดับความมั่นคงทางเศรษฐกิจ 3. กระชับความร่วมมือในระบอบประชาธิปไตย และ 4. รักษานโยบายข้ามช่องแคบที่ปฏิบัติได้จริงและมีหลักการ

 

ทั้งนี้ไล่ชิงเต๋อชัดเจนว่าเขาพร้อมร่วมมือกับอีกหนึ่งตัวละครหลักที่มีผลต่อความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบอย่างสหรัฐอเมริกา รวมถึงชาติประชาธิปไตยอื่นๆ ในการรักษาสถานะที่เป็นอยู่ของไต้หวัน โดยเขาได้เลือกเซียวเหม่ยฉิน อดีตทูตประจำสหรัฐฯ โดยพฤตินัย ลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีคู่กับตนเอง

 

  • คะแนนนิยมนำ แต่ยังวางใจไม่ได้

 

แม้โพลหลายสำนักจะชี้ว่าบัดนี้คะแนนนิยมของไล่ชิงเต๋อนำมาเป็นอันดับ 1 ในบรรดาผู้สมัครทั้ง 3 คน แต่ผลการเลือกตั้งก็อาจออกมาพลิกโผได้ เนื่องจากต้องไม่ลืมว่าไต้หวันอยู่ภายใต้การนำของประธานาธิบดีไช่อิงเหวินแห่งพรรค DPP มาเกือบ 8 ปีแล้ว ย่อมเป็นธรรมดาที่ประชาชนจะอยากเห็นการทำงานของคนใหม่ๆ พรรคใหม่ๆ ขณะเดียวกันท่าทีที่แข็งกร้าวหนักขึ้นของจีนก็ทำให้ไล่ชิงเต๋ออาจไม่สามารถใช้นโยบายที่ปลุกเร้าจิตใจของคนไต้หวันได้มากนัก

 

ฉะนั้นผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นเช่นไร 13 มกราคมนี้ ประชาชนชาวไต้หวันจะเป็นผู้ชี้ชะตา

 

ภาพ: Ann Wang / Reuters

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X