เมียนมาเริ่มรีดภาษีเงินได้จากพลเมืองที่ทำงานในต่างประเทศ ด้านภาคธุรกิจหวั่น จ้างแรงงานเมียนมาจะถูกเอี่ยวสนับสนุนรัฐบาลทหาร เนื่องจากเงินภาษีดังกล่าวคาดว่าจะใช้เพื่อสนับสนุนรัฐบาลทหาร และต่อต้านกระบวนการประชาธิปไตยในทางอ้อม
ย้อนกลับไปตั้งแต่กลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา สถานทูตเมียนมาในประเทศสำคัญๆ ในเอเชียได้ประกาศชุดกฎเกณฑ์ด้านภาษีใหม่สำหรับบุคคลที่ถือสัญชาติเมียนมา
ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันชาวเมียนมาในญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, สิงคโปร์, ไทย และมาเลเซียต้องถูกเรียกเก็บภาษีเงินได้ในอัตรา 2% โดยทั่วไป แม้ว่าจำนวนเงินที่ต้องจ่ายขั้นสุดท้ายจะแตกต่างกันไปตามสถานะการพำนักและระดับรายได้
โดยหากแรงงานไม่ชำระภาษี คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการต่ออายุหนังสือเดินทาง (Passport)
มาตรการดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปภาษีสำหรับปีงบประมาณ 2023 ซึ่งทางการเมียนมาได้เริ่มกำหนดให้พลเมืองที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศต้องจ่ายภาษีเงินได้เป็นสกุลเงินต่างประเทศที่พวกเขาได้รับ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติม รวมถึงขั้นตอนที่จำเป็น ซึ่งขณะนี้ทางการคาดว่า จะเก็บภาษีย้อนหลังกลับไปในเดือนตุลาคมโดยใช้กฎใหม่นี้
แม้ว่าการเรียกเก็บภาษีเงินได้สำหรับผู้เสียภาษีแต่ละคนจะไม่มาก โดยแรงงานบางคนในญี่ปุ่นต้องจ่ายเพียง 1,000 เยนต่อเดือน หลังหักค่าลดหย่อนทางภาษีต่างๆ แล้ว อย่างไรก็ดี เมื่อรวมๆ กันแล้ว คาดว่ารัฐบาลเมียนมาจะได้รับรายได้จากภาษีนี้ ‘จำนวนมาก’
ตัวอย่างเช่นในประเทศไทย มีชาวเมียนมาที่มีเอกสารที่ถูกต้องอย่างน้อย 2 ล้านคน หมายความว่ารัฐบาลทหารเมียนมาจะได้รับเงินราว 300 ล้านบาทต่อเดือน ตามการประเมินของสำนักข่าว Irrawaddy
ธุรกิจหวั่นจ้างแรงงานเมียนมา ถูกเอี่ยวสนับสนุนรัฐบาลทหาร
ขณะที่ธุรกิจบางแห่งก็เริ่มเกิดความกังวลว่า การจ้างผู้มีความสามารถจากเมียนมาอาจถูกมองว่าเป็นการสนับสนุนรัฐบาลทหารหรือไม่
เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนและองค์กรต่างๆ ต่างแสดงความกังวลว่า เงินภาษีดังกล่าวจะถูกใช้เป็นแหล่งเงินทุนแก่กองทัพ หรือมีส่วนสนับสนุนทางอ้อมในการปราบปรามกองกำลังสนับสนุนประชาธิปไตย (Pro-democracy Forces) และอื่นๆ
อ้างอิง: