วันนี้ (6 มกราคม) ที่กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า วานนี้ (5 มกราคม) ภายหลังเสร็จสิ้นจากการประชุมอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2567 ตนได้สอบถามไปยัง สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ทราบว่าแพทย์ผู้ทำการรักษาทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีผลรายงานทางการแพทย์มาเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากเรื่องนี้เป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ
พ.ต.อ. ทวีกล่าวว่า อธิบดีกรมราชทัณฑ์ยืนยันว่าแพทย์รายงานความเห็นมาแล้ว แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบเอกสาร คาดว่าในวันทำการปกติอธิบดีกรมราชทัณฑ์จะมีการรายงานความเห็นเสนอมายังตน ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมให้รับทราบอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ผลรายงานความเห็นของแพทย์ในทางกฎหมายไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่อาจเป็นการสื่อสารกว้างๆ แทน ส่วนกรณีที่คณะกรรมาธิการการตำรวจ ที่นำโดย ชัยชนะ เดชเดโช ประธานคณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร เตรียมเดินทางเข้าเยี่ยมทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่โรงพยาบาลตำรวจ ในวันที่ 12 มกราคมนั้น ขณะนี้ยังไม่มีหนังสือเข้ามาแจ้งยังตนแต่อย่างใด
พ.ต.อ. ทวีกล่าวถึงระเบียบแนวทางการปฏิบัติ และกำหนดคุณสมบัติของผู้ต้องขังที่จะต้องมารองรับระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่า ด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 ว่า ระเบียบดังกล่าวเป็นอำนาจของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และตนทราบว่าคณะกรรมการราชทัณฑ์จะมีการนัดประชุมในเรื่องนี้ ซึ่งตนในฐานะประธานเห็นว่าควรจะมีการประชุมในทุกเดือน เพราะว่าเราต้องการพัฒนาพฤตินิสัย นำเอาคนที่อยู่ในเรือนจำซึ่งเป็นผู้ก้าวพลาดให้ได้รับการพัฒนา เพราะปัจจุบันมีการนำผู้ต้องขังเข้า-ออกเรือนจำเฉลี่ยแล้ว 10,000 รายต่อปี
ดังนั้นเราต้องการให้คนที่ออกจากราชทัณฑ์ได้รับการพัฒนาพฤตินิสัย หรือในทางกฎหมายคือ การได้รับการศึกษา ได้รับการอบรมคุณธรรม การงานอาชีพ เพื่อได้ค้นหาศักยภาพของผู้ต้องขังในเรือนจำ ซึ่งในเรื่องนี้ได้ถูกบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 จึงต้องมีกฎระเบียบคุมขังภายนอกเรือนจำเกิดขึ้น อีกทั้งข้อเท็จจริงระเบียบนี้จะต้องออกภายใน 90 วันตั้งแต่มีกฎหมายหลัก แต่ก็ไม่มีการออกระเบียบ
เมื่อเราเข้ามาเป็นรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ประกาศว่าจะยกมาตรฐานหลักนิติธรรม การสอบสวนจะต้องมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่การจับผิดข้าราชการเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะประเทศไทยเราสอบตกในเรื่องของการคุมขังผู้ต้องขัง เราได้คะแนนเพียง 0.25% เท่านั้น ซึ่งถ้าเราไม่พัฒนาเรือนจำหรือผู้ต้องขัง หลักนิติธรรมก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากในบางประเทศได้มีการนำผู้กระทำความผิดไปแยกไว้ในชุมชนได้
พ.ต.อ. ทวีกล่าวอีกว่า ตนจึงสั่งการไปยังคณะกรรมการราชทัณฑ์ว่า ควรจะมีการประชุมในทุกเดือน หรือเดือนละครั้งก็ยังดี เพราะยังมีหลายเรื่องที่จะต้องให้การแก้ไข อย่างเช่นกรณีผู้ต้องขังที่ตั้งครรภ์ ภายหลังการคลอดอาจไม่มีสถานที่เลี้ยงเด็กที่มีประสิทธิภาพ หรือในกรณีผู้ต้องขังที่เจ็บป่วยเป็นมะเร็งอีกจำนวนมาก รวมถึงกรณีผู้ต้องขังที่อยู่ในระหว่างการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย ตนมองว่าในขณะที่พวกเขาเหล่านี้อยู่ภายในเรือนจำ ก็ควรได้รับการมีคุณภาพชีวิตที่ดี พร้อมยืนยันว่าระเบียบคุมขังภายนอกเรือนจำไม่ได้มีเจตนาจะออกเพื่อใครเพียงคนเดียว
พ.ต.อ. ทวีกล่าวปิดท้ายถึงการพิจารณาอนุญาตให้อดีตนายกรัฐมนตรีนอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำเกินกว่า 120 วันหรือไม่นั้นว่า ในวันทำการปกติ อธิบดีกรมราชทัณฑ์จะเป็นผู้เสนอมายังตนให้รับทราบ แต่ยังไม่ได้มีการกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนว่าจะเป็นวันที่เท่าไร ทั้งนี้ทั้งนั้นอำนาจการพิจารณาอนุญาตผู้ต้องขังให้มีการรักษาตัวภายนอกเรือนจำเป็นของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ แต่อย่างไรก็ต้องมีการรายงานมายังตนให้รับทราบตามขั้นตอน