วันนี้ (5 มกราคม) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท วาระแรก ต่อเนื่องเป็นวันสุดท้าย
ภคมน หนุนอนันต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล อภิปรายงบประมาณจังหวัดในสัดส่วนของกระทรวงมหาดไทยว่า จากที่ได้อ่านเอกสารงบประมาณทำให้รู้ว่า ไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์อะไรขึ้นหน้าตางบประมาณไทยก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลง งบประมาณปี 2567 ปีนี้ถ้าปิดชื่อนายกรัฐมนตรีที่มาแถลงงบประมาณ ตนนึกว่าเป็น พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะงบประมาณปี 2567 ที่ท่านใช้เวลารื้อใหม่มากกว่า 3 เดือน สุดท้ายออกมาอย่างกับคัดลอกมาวาง เรียกได้ว่าส่งต่ออำนาจกันอย่างไร้รอยต่อจริงๆ
วิกฤตอยู่ตรงที่ผู้บริหารประเทศจัดทำงบประมาณแบบนี้ ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาเชิงพื้นที่ อย่างกรุงเทพฯ รวยกว่าชนบท หัวเมืองใหญ่ได้รับการพัฒนามากกว่าหัวเมืองรอง จนทำให้ประชาชนเข้ามาหาอาชีพ หาโอกาสในเมืองใหญ่ ตนขอตั้งคำถามว่าจัดงบประมาณแบบนี้จะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร
ภคมนกล่าวต่อว่า นอกจากเรื่องเศรษฐกิจ การศึกษาก็สำคัญ เพราะอย่างที่เรารู้กันว่าถ้าการศึกษาดีก็จะได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยดีๆ ได้เรียนคณะดีๆ และจบมามีงานดีๆ ทำ แต่ถ้าถามว่าการศึกษาที่ดีๆ ของประเทศนี้ไปอยู่ที่ไหน ก็ต้องไปเรียนที่กรุงเทพฯ หรือถ้าใครไม่มีปัญญาไปเรียนที่กรุงเทพฯ ก็ต้องเข้าไปที่หัวเมืองใหญ่
ข้อมูลคะแนน O-NET 4 วิชาที่ออกมาล่าสุดในปี 2565 เห็นได้ชัดว่าระหว่างจังหวัดที่ดีที่สุดคือกรุงเทพฯ กับจังหวัดที่แย่ที่สุดตามพื้นที่ชายแดน อย่างเช่น จังหวัดนราธิวาส หรืออำเภอแม่สอด จังหวัดตาก คะแนน O-NET เฉลี่ยของเด็กห่างกันถึง 20 คะแนน ซึ่ง 20 คะแนนนี้คือโอกาสของคนคนหนึ่งที่เขาจะได้เข้าศึกษาในระดับที่สูงขึ้น แต่งบประมาณปี 2567 ไม่มีการช่วยแก้ปัญหาช่องว่างทางการศึกษาแม้แต่น้อย
ภคมนกล่าวต่อว่า อีกหนึ่งวิกฤตที่คนพูดถึงกันมากคือความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ในกรุงเทพฯ แพทย์ 1 คนดูแลคนไข้ 500 คน แต่ที่หนองบัวลำภู แพทย์ 1 คนต้องดูแลคนไข้ 4,700 คน
ตนฝากถามไปถึงนายกฯ ว่าเคยไปโรงพยาบาลที่ต่างจังหวัดหรือไม่ พี่น้องประชาชนต้องออกจากบ้านตั้งแต่ 04.00 น. เพื่อรอพบแพทย์ 10 นาที
“นี่คือวิกฤตที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ชนบทที่พวกเขาต้องเผชิญ ถามว่าสถานการณ์แบบนี้เรียกว่าวิกฤตหรือไม่ วิกฤตที่รัฐบาลอยากให้เป็นกับวิกฤตที่ดิฉันและประชาชนทั้งประเทศรู้สึกอาจจะคนละวิกฤต เพราะวิกฤตแบบที่ดิฉันและประชาชนทั้งประเทศมองต้องใช้ความใส่ใจจากผู้บริหาร ไม่ใช่วิกฤตที่แก้ด้วยการกู้เงินมาแจกแบบที่รัฐบาลอยากให้เป็น” ภคมนกล่าว
ภคมนกล่าวต่อว่า ความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาพื้นที่คือวิกฤตใหญ่ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญและเผชิญมาโดยตลอด แต่งบประมาณที่รัฐบาลจัดมาเพื่อพัฒนาในพื้นที่ ไม่มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อกระจายอำนาจเลย แต่เป็นการจัดสรรงบประมาณเพื่อกระชับอำนาจ ตนมองว่างบจังหวัดและกลุ่มจังหวัดเต็มไปด้วยความซ้ำซ้อน ส่วนเกิน และไม่จำเป็น มีการจัดสรรงบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัด 23,000 ล้านบาท ที่กำหนดโดยกลไกราชการรวมศูนย์อำนาจแบบที่เป็นอยู่ จะสร้างการพัฒนาที่ก้าวหน้ากว่าสิ่งที่เคยๆ ทำมาได้อย่างไร การแบ่งเค้กงบประมาณ 23,000 ล้านบาทนี้มีการกำหนดสูตรในการจัดสรรงบประมาณ
แต่สูตรที่ท่านจัดสรรนั้นเพื่อให้จังหวัดที่ใหญ่และรวยได้งบประมาณก่อน ยิ่งจังหวัดไหนมีประชากรเยอะ จังหวัดนั้นยิ่งได้รับงบประมาณมาก จังหวัดไหนที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจมาก งบประมาณก็จะเทไปตรงนั้นมาก ส่วนจังหวัดไหนที่ไม่เจริญอยู่แล้ว งบประมาณที่ได้ก็จะจำกัดจำเขี่ย
ตนตั้งคำถามว่า ถ้าจัดงบประมาณแบบนี้ไปอีก 10 ปี 100 ปี เมืองใหญ่ จังหวัดที่เจริญ มันจะไม่ยิ่งเจริญขึ้นๆ ในขณะที่จังหวัดเล็ก จังหวัดห่างไกล จังหวัดที่ขาดแคลน ก็จะไม่ยิ่งขาดแคลนขึ้นๆ อย่างนี้จะไปสุดตรงไหน
“เรียกได้ว่ารัฐบาลเศรษฐาไม่ได้นำเอาความเหลื่อมล้ำเข้ามาเป็นปัจจัยในการจัดสรรงบประมาณ จัดงบแบบนี้ ถ้าท่านเป็นประชาชนท่านอยากไปอยู่จังหวัดไหนคะ ก็ต้องอยากไปอยู่ในหัวเมืองใหญ่ที่ได้รับงบประมาณเยอะ จะอยู่ทำไมเมืองรอง จะอยู่ทำไมที่บ้านเกิดที่รอคอยการพัฒนา ในเมื่อรัฐบาลไม่เคยคิดจะจัดงบมาพัฒนา สรุปได้ว่างบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัดมันก็เหมือนเค้กก้อนหนึ่งที่เรามีโควตาจะจัดงบประมาณไปให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด เสมือนเจ้าเมืองในวิธีคิดของการบริหารราชการแผ่นดินแบบโบราณ” ภคมนกล่าว
ภคมนกล่าวย้ำว่า งบของจังหวัด คนที่ตัดสินใจใช้ก็คือผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เคยมีความผูกพันกับจังหวัด อยู่เพียงแค่ 1-2 ปีก็ย้ายไปจังหวัดอื่น และอาจจะไม่มีวันได้ย้ายกลับมาที่จังหวัดนั้นอีก เขาจะมีความมุ่งมั่น ความฝันอะไรกับจังหวัดที่เขาเป็นผู้ว่าฯ เขาจะมีความรับผิดชอบอะไรกับการใช้งบประมาณเมื่อเขาเซ็นลายเซ็นแล้วเขาก็จะจากไป
งบประมาณ 23,000 ล้านบาทนี้ มากกว่า 12,000 ล้านบาท หรือ 52% เอาไปสร้างถนน เงินส่วนใหญ่ของแผนบูรณาการจังหวัดและกลุ่มจังหวัดถูกใช้ไปในการสร้างถนน สะพาน สัญญาณไฟจราจร อีกประมาณ 20% บอกว่าสร้างแหล่งน้ำ แต่ตนเข้าไปดูมีแต่โครงการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง ตัวที่เป็นแหล่งน้ำให้เกษตรกรจริงๆ คิดว่ามีไม่ถึง 10% ของ 4 พันล้านบาทนี้ รัฐบาลคิดวิธีการพัฒนาจังหวัดแบบอื่นไม่ออกแล้วหรือ นอกจากการสร้างถนน การสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง
ตนไม่ได้บอกว่าถนนไม่สำคัญ แต่ต้องเอาไปทำอย่างอื่นด้วย จะให้มหาดไทยสร้าง จะให้คมนาคมสร้าง หรือจะให้ท้องถิ่นสร้าง หรือจะให้กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบทสร้าง เอาสักหน่วยงาน ไม่ใช่ซ้ำซ้อนกันแบบนี้
ภคมนกล่าวว่า งบจังหวัดและกลุ่มจังหวัดคือหน่วยงานที่อัตราการเบิกจ่ายแย่ที่สุด มีเงินเหลือเบิกจ่ายมากถึง 25% แสดงให้เห็นว่างบประมาณในส่วนนี้ถูกใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ จะเห็นว่าปีหน้าจะมีการของบส่วนนี้เต็มวงเงิน 28,000 ล้านบาท แต่ประสิทธิภาพการเบิกจ่ายทำได้แค่นี้
ภคมนกล่าวทิ้งท้ายว่า มีแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคที่กำลังเป็นรัฐบาลอยู่ตอนนี้หาเสียงว่า ในปี 2570 เราจะมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ จะมีการกระจายอำนาจบริหารราชการแผ่นดินออกไปสู่ท้องถิ่นมากขึ้น การใช้จ่ายงบประมาณจากภาษีประชาชนจะถูกควบคุมด้วยระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ขั้นสูง ให้เงินภาษีประชาชนย้อนกลับไปสร้างความเจริญและความสุขให้กับประชาชนทุกบาททุกสตางค์ รวมทั้งจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดที่มีความพร้อม
ตนก็ไม่รู้ว่าคำกล่าวทั้งหมดนี้เชื่อถือได้หรือไม่ หรือเป็นเพียงเทคนิคการหาเสียง เพราะสิ่งที่เราได้รับจากรัฐบาลเศรษฐาตลอด 3 เดือน ไม่มีอะไรใกล้เคียงกับทิศทางนั้นเลย