จับตาศึกชิงตำแหน่งซีอีโอ ปตท. ใหม่คนที่ 11 หลัง อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ครบวาระ 4 ปีในเดือนพฤษภาคมปีนี้ คนในพาเหรดสมัครเพียบ 5 คน คาดรู้ผลกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้
แหล่งข่าว บมจ.ปตท. หรือ PTT เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า หลังคณะกรรมการสรรหาของ ปตท. ประกาศรับสมัครบุคคลเพื่อรับการคัดเลือกเข้าดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ซีอีโอ) ปตท. คนที่ 11 เพื่อแทน อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. คนปัจจุบันที่กำลังจะครบวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปีในเดือนพฤษภาคม 2567 หลังจากเข้ามารับตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม 2563 โดย ปตท. ได้เปิดให้ยื่นใบสมัครตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2566 มาจนถึงวันที่ 3 มกราคม 2567 เป็นวันสุดท้ายถึงเวลา 17.30 น.
ทั้งนี้ หลังจากปิดรับสมัคร มีผู้ที่ยื่นสมัครรับการสรรหาเป็นซีอีโอ ปตท. คนใหม่จำนวน 5 คน ซึ่งจะเป็นตัวเต็งในรอบนี้ โดยเป็นทั้งผู้บริหารระดับของทั้ง บมจ.ปตท. และซีอีโอของบริษัทในเครือ โดยมีรายชื่อผู้ยื่นใบสมัครดังนี้
พงษ์พันธุ์ อมรวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บมจ.ปตท. ซึ่งเป็นพี่ชายของ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ PTTGC
บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บมจ.ปตท.
ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บมจ.ปตท.
วรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ หรือ GPSC มาสมัครในช่วงวันสุดท้ายก่อนปิดรับสมัคร ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับ ไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตซีอีโอของ บมจ.ปตท. และปัจจุบันเป็นประธานกรรมการของ GPSC ด้วย
ส่วนกรณีที่ก่อนหน้านี้มีกระแส นพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บมจ.ปตท. จะลงสมัครรับการสรรหาเป็นซีอีโอคนใหม่ของ ปตท. ด้วย แต่ล่าสุดไม่ได้ลงสมัครในครั้งนี้ เนื่องจากคาดว่าจะมีอายุเกิน 58 ปี เนื่องจากหนึ่งในคุณสมบัติของผู้สมัครกำหนดอายุผู้สมัครต้องไม่เกิน 58 ปีบริบูรณ์ในวันยื่นใบสมัคร
โดยขั้นตอนหลังจากนี้คาดว่าจะมีการให้ผู้สมัครแต่ละรายเข้ามาแสดงวิสัยทัศน์ต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) ของ ปตท. เพื่อให้บอร์ดพิจารณาคัดเลือก โดยคาดว่าจะมีการประกาศชื่อบุคคลที่ได้เลือกเป็นซีอีโอ ปตท. คนใหม่ในช่วงประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้
ปตท. ทุ่มงบลงทุน 5 ปี เฉียด 2 แสนล้าน ลุยลงทุนทั้งธุรกิจเดิม-ธุรกิจใหม่
เมื่อปลายปี 2566 บอร์ด ปตท. ได้มีมติอนุมัติงบลงทุน 5 ปี (ปี 2567-2571) และเตรียมงบลงทุนในโครงการที่อยู่ระหว่างหาโอกาสลงทุนในอนาคตในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้าไว้รวมเป็นวงเงินเกือบ 2 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นงบลงทุน 5 ปีของ ปตท. และบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้นร้อยละ 100 วงเงินรวม 89,203 ล้านบาท โดย ปตท. มีการลงทุนในธุรกิจหลัก (Core Business) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนของงบการลงทุน 5 ปี ประมาณ 51% โดยมีโครงการหลัก เช่น โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7 เพื่อทดแทนโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 1 และโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 8 รวมทั้งโครงการท่อส่งก๊าซฯ บางปะกง-โรงไฟฟ้าพระนครใต้ และโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 5
อีกทั้งยังมีการลงทุนในธุรกิจใหม่ผ่านบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้น 100% อาทิ โครงการลงทุนในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร เช่น โครงการ EVme ซึ่งให้บริการด้านดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการใช้รถยนต์ไฟฟ้าครบวงจร และโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า HORIZON PLUS
โครงการการลงทุนในธุรกิจโรงงานประกอบแบตเตอรี่โดยใช้เทคโนโลยี Cell- to-Pack (CTP) ล่าสุดบริษัทลูกของ ปตท. คือ Arun Plus ได้ต้ังบริษัท เอ ซี เอนเนอร์ยี่ โซลูชั่น เพื่อดำเนินธุรกิจโรงงานประกอบแบตเตอรี่โดยใช้เทคโนโลยี CTP เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และมีแผนเริ่มดำเนินการผลิตภายในปี 2567
นอกจากนี้ยังได้จัดเตรียมงบลงทุนในโครงการที่อยู่ระหว่างหาโอกาสลงทุนในอนาคต (Provisional Capital Expenditure) ในระยะ 5 ปีข้างหน้าอีกประมาณ 1.07 แสนล้านบาท โดยหลักเพื่อการขยายการลงทุนในช่วงการเปลี่ยนผ่านพลังงาน
รวมถึงมุ่งเน้นธุรกิจพลังงานสะอาดเพื่อไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ อาทิ การลงทุนในธุรกิจชีววิทยาศาสตร์ (Life Science) ซึ่งรวมถึงธุรกิจยา ธุรกิจโภชนาการ อุปกรณ์และการวินิจฉัยทางการแพทย์ และธุรกิจ AI & Robotics เพื่อเป้าหมายในการเป็นผู้นำการให้บริการด้าน AI & Robotics ในอนาคต