วันนี้ (4 มกราคม) สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาในวาระการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2567 วาระแรก เป็นวันที่สอง ถึงแนวทางการแก้ไขปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ และภาพอนาคตของการพัฒนาสถานีรถโดยสารขนส่งสาธารณะตามมาตรฐานสากล ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จากที่สมาชิกได้อภิปรายถึงเรื่องสถานีขนส่งหมอชิต 2
สุริยะกล่าวว่า กระทรวงคมนาคมภายใต้การบริหารงานของตนไม่เคยละเลยเรื่องคุณภาพการให้บริการขนส่งสาธารณะ ทั้งบริการภายในสถานีและการบริการรับส่งผู้โดยสาร เพื่อให้ผู้โดยสารทุกท่านถึงที่หมายอย่างปลอดภัย เดิมสถานีขนส่งหมอชิตเคยอยู่ที่ถนนพหลโยธิน ใช้งานมา 38 ปี ตั้งแต่ปี 2503 จนกระทั่งถึงปี 2541 กรมธนารักษ์มีแผนพัฒนาพื้นที่สถานีขนส่งหมอชิตเดิม จึงได้ย้ายมาเปิดให้บริการสถานีขนส่งหมอชิต 2 เป็นการชั่วคราวในพื้นที่ของการรถไฟ เพื่อพัฒนาบริเวณอาคารหมอชิตเดิม ก่อนจะให้ บขส. ย้ายกลับไปที่พื้นที่เดิม แต่มีอุปสรรคในการดำเนินการ ทำให้สถานีหมอชิต 2 ที่ออกแบบไว้เป็นอาคารชั่วคราวต้องเปิดให้บริการต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
เชื่อม บขส. ณ จุดเดียว
สุริยะกล่าวว่า การให้บริการรถโดยสารสาธารณะของ บขส. มีลักษณะกระจัดกระจายไปตามจุดต่างๆ ทำให้ประชาชนไม่สะดวกในการเข้าถึงและเชื่อมต่อไปยังจุดหมายปลายทาง จึงได้สั่งการไปยังกระทรวงคมนาคมให้จัดทำแผนอนาคตในการพัฒนาการให้บริการรถโดยสารขนส่งสาธารณะให้เชื่อมต่อทุกภูมิภาคของ บขส. ให้มาอยู่ที่เดียวกัน โดยตนได้เล็งพื้นที่บริเวณโดยรอบสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ที่บางซื่อไว้ ซึ่งอนาคตจะเป็นศูนย์กลางของระบบรางทั่วประเทศ ทั้งรถไฟความเร็วสูงเชื่อมภูมิภาค รถไฟทางไกลเชื่อมจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ และเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้าในเมือง ทั้งรถไฟสายสีม่วง สายสีแดง สายสีน้ำเงิน และสายสีเขียว จึงมีความเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะพัฒนาสถานีขนส่งสาธารณะของ บขส. มาไว้ติดกัน เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางแก่ประชาชน
เตรียมสร้างอาคารสูงขนส่งผู้โดยสารภายใน 4 ปี
แต่ด้วยเหตุว่าที่ดินรอบสถานีกลางกรุงเทพอนุวัฒน์มีมูลค่าสูง อนาคตอาจจะมีราคาไม่ต่ำกว่าตารางวาละ 500,000 บาท จึงจะมีการพัฒนาอาคารขนส่งผู้โดยสารดังกล่าวในลักษณะอาคารสูง ลักษณะคล้ายสถานีฮากาตะที่ประเทศญี่ปุ่น หรือสถานีบัสเทอร์มินอลอยู่ติดรอบสถานีรถไฟฮากาตะ เมืองฟุกุโอกะ ล้วนเป็นลักษณะอาคารสูง ใช้ระบบ Sharing Gates แบบสนามบิน มีแกนกลางเป็นพื้นที่ร้านอาหาร เป็นวิสัยทัศน์เชิงนโยบายในอนาคตที่ตนได้สั่งการไว้ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการของ บขส. และหน่วยงานคมนาคมที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการ 4 ปี
สั่งปรับปรุงหมอชิต 2 รับเทศกาลสงกรานต์
สุริยะกล่าวว่า ระหว่างนี้ตนได้สั่งการไปยัง บขส. ให้ปรับปรุงคุณภาพการให้บริการในสถานีขนส่งหมอชิต 2 ทั้งเรื่องบันไดเลื่อน ชานชาลาที่สั้นเกินไป ทำให้เกิดการแออัดของผู้โดยสารในระหว่างรอขึ้นรถโดยสาร โดยตนได้สั่งการให้ บขส. ไปจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาที่มีความเป็นมืออาชีพด้านการออกแบบมาศึกษาปรับปรุงโดยด่วน คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จได้ในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี เพื่อยกระดับการให้บริการในระหว่างรอการดำเนินการออกแบบก่อสร้างสถานี บขส. ในรูปแบบอาคารสูงตามที่ได้เรียนไว้
ส่วนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึงในอีกประมาณ 4 เดือนข้างหน้านี้ สุริยะกล่าวว่า จากที่ตนและ สุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ลงพื้นที่ช่วงเทศกาลปีใหม่ พบว่าปัญหาหลายอย่างสามารถปรับปรุงโดยการใช้วิธีการบริหารจัดการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เรื่องความปลอดภัย ได้ประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการขนส่งทางบก ตั้งศูนย์ปราบปรามการกระทำความผิด ไม่ให้มีผู้เอารัดเอาเปรียบ, กำชับให้ปรับปรุงรักษาความสะอาดของห้องน้ำ, เร่งติดตั้งแสงสว่างและรื้อถอนอาคารเช่ารกร้างให้เสร็จก่อนสงกรานต์, ให้เปิดจองตั๋วเดินทางล่วงหน้า เพื่อนำข้อมูลมาจัดสรรลดความแออัดของผู้ใช้บริการ
สร้างอาคารใหม่ไม่รบกวนงบประมาณแผ่นดิน
สุริยะยังกล่าวทิ้งท้ายถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่า โครงการที่จะมีการพัฒนาสถานีขนส่งรถโดยสารสาธารณะแห่งใหม่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร บริเวณสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ตามที่ได้กล่าวไป น่าจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่คาดว่า บขส. จะสามารถบริหารจัดการสินทรัพย์ของตนเองได้โดยไม่รบกวนงบประมาณแผ่นดิน เนื่องจากราคาประเมินที่ดินที่สถานีขนส่งโดยสารเอกมัยอาจมีมูลค่าสูงถึง 7,000 ล้านบาท