หลังจากก่อนหน้านี้ในช่วงที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ ได้ประกาศว่าจะทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และจะพักค้างคืนที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล อันเป็นสถานที่ทำงานของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ล่าสุด เศรษฐาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ได้ฤกษ์เตรียมนอนค้างคืนที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 7 มกราคมนี้เป็นต้นไป
ขณะเดียวกันได้มีการเปิดเผยภาพห้องนอนนายกรัฐมนตรีที่ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ที่มีการปรับโฉมตกแต่งเสร็จเรียบร้อยแล้ว จากเดิมเป็นห้องทำงานห้องหนึ่งภายในตึกมาเป็นห้องนอน มีเตียงนอนขนาดคิงไซส์สีครีม พร้อมชุดเครื่องนอนสีขาว มีหมอน 4 ใบ มีราวแขวนเสื้อผ้า ซึ่งมีเสื้อของนายกฯ แขวนอยู่ มีทีวี โคมไฟหัวเตียง โซฟา และผ้าม่านสีครีม
เปิดเหตุผล ทำไมนายกฯ จะนอนทำเนียบ
ย้อนไปเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 เศรษฐากล่าวในงานเสวนาหัวข้อ ‘Future Perfect เปิดมุมคิด พลิกอนาคต’ ในงานเสวนา Thairath Forum 2023 ของสำนักข่าวไทยรัฐตอนหนึ่งกับพิธีกร ซึ่งถามถึงประเด็นการนอนค้างที่ทำเนียบรัฐบาลว่า
“จะนอนทำเนียบจริง เพราะบ้านที่อาศัยอยู่ปัจจุบันมีเนื้อที่ 197 ตารางวาเองครับ แล้วมันเล็กมาก แล้วต้องมีตำรวจ เพื่อนบ้านเดือดร้อน และใช้เวลาเดินทางเยอะ ไม่อยากเป็นภาระกับตำรวจ กับหน่วยรักษาความปลอดภัยด้วยเหมือนกัน คนที่เป็นภาระก็เป็นฝ่ายเลขาฯ ผมที่ต้องมา ผมเป็นคนง่ายๆ
“ตื่นขึ้นมาแล้ว ถ้าผมกินอาหารเช้าผมก็กินกับสุนัขที่บ้าน เล่นกับเขาไป ถ้าผมกิน 6 โมงครึ่ง ก็ต้องมีคนมาสั่งงานได้แล้ว 6 โมงครึ่ง แล้วผมก็ไปอาบน้ำต่อ ผมยอมเป็นภาระกับกลุ่มเลขาฯ 4-5 คนเท่านั้นเอง
“ก็ 3-4 วันต่อสัปดาห์ ถ้ามีภารกิจตอนค่ำ กินข้าวอะไรกับใครก็กลับมา ก็มาสั่งงานก่อนนอนได้อีกหน ที่บอกว่าเทหมดหน้าตักจริงๆ ก็ต้องทำงานกันหนักจริงๆ เข้าใจว่าปกติแต่ละคนมีขีดที่จะรับงานแตกต่างกันไป รับได้ก็รับ รับไม่ได้ก็เวียนกันมาทำงาน บางคนบ้านอยู่ฝั่งธนฯ บางคนบ้านอยู่สุขุมวิท ก็อาจจะใช้เวลาต่างกันไป ก็เวียนกันมา ไม่มีปัญหา บอกได้ว่าไหว ไม่ไหว พยายามเต็มที่ ผมก็บอกท่านนายกฯ ประยุทธ์ไปวันที่ไปพูดคุยกัน ท่านก็บอกว่า ระวังคนหาว่าสร้างภาพ ผมก็พยักหน้ารับทราบ ก็เข้าใจครับ เข้าใจความหวังดีในการสอน เข้าใจว่าโดนแน่นอน”
ย้อนที่มาตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
เว็บไซต์ของสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ข้อมูลตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ไว้ว่า ตั้งอยู่บนถนนพิษณุโลก เขตดุสิต กรุงเทพฯ ปัจจุบันผู้ครอบครองคือสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2466-2468
สำหรับตึกไทยคู่ฟ้าเดิมชื่อว่าตึกไกรสร ตามพระนามของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงรักษ์รณเรศ (พระองค์เจ้าไกรสร) ต้นราชสกุล พึ่งบุญ ณ อยุธยา เป็นอาคารประธานในบริเวณบ้านนรสิงห์ของพลเอก เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) ซึ่งสร้างบนที่ดินที่ท่านเจ้าของได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยได้รับพระราชทานพระราชทรัพย์สำหรับก่อสร้างอาคารและองค์ประกอบต่างๆ ในบริเวณด้วย
ตัวอาคารตึกไกรสรนี้ออกแบบโดย มาริโอ ตามาญโญ (Mario Tamagno) และ อันนิบาเล ริกอตติ (Annibale Rigotti) สถาปนิกชาวอิตาลี ซึ่งอยู่ในคณะสถาปนิกผู้ออกแบบพระที่นั่งอนันตสมาคม รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นแบบเวเนเชียนโกธิกครีไววัล คือมีลักษณะและการตกแต่งอาคารด้วยองค์ประกอบยุคโกธิกแบบเมืองเวนิส คล้ายกับที่ Palazzo Ca’ d’Oro (Golden House) เน้นความโดดเด่นหรูหราของอาคารด้วยโดมโค้งแหลม หอคอย และแผงประดับเชิงชายที่มีลวดลายละเอียดแพรวพราว
ในปี 2484 รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ซื้อบ้านนรสิงห์จากเจ้าพระยารามราฆพเพื่อใช้เป็นที่รับรองแขกเมือง และได้มอบหมายให้ ศ.ศิลป์ พีระศรี ออกแบบต่อเติมอาคารระหว่างปี 2484-2489 และได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘ทำเนียบสามัคคีชัย’ และ ‘ทำเนียบรัฐบาล’ ตามลำดับ
ส่วนตึกไกรสรนั้นได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘ตึกไทยคู่ฟ้า’ ปัจจุบันตึกไทยคู่ฟ้าเป็นอาคารที่ทำการของนายกรัฐมนตรี และเป็นห้องรับรองแขกเมืองและแขกสำคัญของรัฐบาล อาคารนี้ได้มีการบูรณะครั้งใหญ่ในช่วงปีงบประมาณ 2538-2540
ส่วนครั้งหลังสุดมีการบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อต้อนรับการประชุมระดับผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 11 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุม APEC ในปี 2546
อ้างอิง:
- https://www.prachachat.net/politics/news-1395415#google_vignette
- https://asa.or.th/conservationaward/index.php/2016-06-13-15-21-44/building-2532/37-thai-khufa-building-govern-house.html