×

“รัฐบาลเศรษฐาตั้งใจเต็มร้อย แต่ประชาชนคาดหวังมากกว่านั้น” ชำแหละการเมืองไทยกับ รศ.สุขุม นวลสกุล และ ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี

30.12.2023
  • LOADING...

ประเด็นการเมืองไทยคือสิ่งที่ประชาชนให้ความสนใจมากที่สุด ในทุกๆ ปีจะมีเหตุการณ์สำคัญผ่านเข้ามามากมายอย่างไม่รู้จบ เช่นเดียวกับปี 2023 ที่เรียกได้ว่าเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่ออนาคตประเทศไทยอย่างแท้จริง

 

2 เหตุการณ์สำคัญในปีนี้ ได้แก่ การเลือกตั้งจากประชาชน เพื่อหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ แม้จะมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทางสังคมมากมาย เนื่องจากพรรคก้าวไกลได้คะแนนเสียงมากที่สุด แต่สุดท้ายพรรคเพื่อไทยก็ฝ่ากระแสดังกล่าวและได้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ที่ชื่อว่า เศรษฐา ทวีสิน และการประกาศวางมือทางการเมืองของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี 

 

รายการ THE STANDARD NOW ในรูปแบบพิเศษ NOW AND NEXT 2024 ดำเนินรายการโดย อ๊อฟ-ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์ ได้รับเกียรติจาก รศ.สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง และ ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อพูดคุยถึงภาพรวมการเมืองไทยตลอดปี 2023 และมองอนาคตปี 2024

 

“รัฐบาลเศรษฐาโชคดีที่คนเบื่อของเก่า”

 

“ผมว่าประชาชนมีความสุขกับการเปลี่ยนแปลง รัฐบาลชุดนี้โชคดีตรงที่คนเบื่อของเก่า แต่ยังไม่ถึงจุดที่ทำให้คนพอใจ สิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ต้องทำให้ได้คือ เมื่อไรที่คนชินกับรัฐบาลชุดนี้ คนจะกลับไปถามสัญญาที่เคยให้ไว้กับประชาชน” รศ.สุขุม กล่าว

 

วันนี้รัฐบาลเศรษฐาอาจทำงานได้ไม่ครบถ้วนตามที่ประชาชนตั้งใจ แต่ก็ได้เห็นความพยายามและตั้งใจของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี 

 

“ผลเลือกตั้งปี 2566 สะท้อนความเปลี่ยนแปลงอันแรงกล้าของประชาชน เรื่องใหญ่ที่สุดของปี 2566 คือการยุติลงของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ศ.ดร.สิริพรรณ กล่าว

 

หากมองการได้มาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดนี้ อาจส่งผลต่อความไว้วางใจต่ำ เนื่องจากประชาชนคาดหวังสูง และทวงถามเรื่องสัญญาและนโยบายที่เคยกล่าวไว้

 

“ความพยายาม ความตั้งใจ รัฐบาลมีอยู่เต็มร้อย แต่จุดใหญ่ที่เป็นสิ่งท้าทายคือรัฐบาลจะตอบสนองความคาดหวังและคำสัญญาได้อย่างไร” ศ.ดร.สิริพรรณ ขยายความ

 

เหตุสภาล่ม เพื่อไทย-ก้าวไกลผิดทั้งคู่?

 

“ต้องขออนุญาตตำหนิทั้งคู่ (พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล) และต้องทบทวนตนเองในสมัยที่เคยเป็นฝ่ายค้านมาก่อน อยากให้มองกันใหม่ว่าประชาชนกำลังเฝ้ามองการทำงาน และอยากเห็นสภาที่สร้างสรรค์ ทำงานกันเต็มที่” ศ.ดร.สิริพรรณ ระบุ

 

รศ.สุขุม กล่าวเสริมว่า “อย่าเล่นการเมืองมากไป เพราะตรงนี้ทำให้คนเสื่อมศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย นี่คือสิ่งที่สำคัญมากกว่าว่าใครผิดไม่ผิด แต่เชื่อเถอะว่า สส. ไม่ฟัง เพราะเป็นฝ่ายค้านก็มองอีกแบบ เป็นรัฐบาลก็มองอีกด้าน”

 

“ไม่แน่ใจว่าเศรษฐาเป็นเจ้าของนโยบายที่แท้จริงหรือไม่”

 

 

“เศรษฐาเป็นนายกฯ แต่ผมไม่แน่ใจว่าเป็นเจ้าของนโยบายที่เพื่อไทยออกมาหรือเปล่า” รศ.สุขุม กล่าว

 

ในฐานะคนนอก ไม่เคยเห็นรัฐบาลชุดไหนออกมาประกาศว่า 60 วัน หรือ 90 วัน ทำงานอะไรบ้าง ซึ่งขอชื่นชมว่าสิ่งที่ประกาศทำให้นักการเมืองได้รู้ตัวว่าวันนี้ประชาชนไม่ได้ให้เวลาว่างกับรัฐบาล ต้องทำงานทันที 

 

“ถ้ามองในแง่ของต้นทุนทางการเมือง เพื่อไทยจำเป็นมากที่จะต้องรักษาสัญญาที่มีให้กับประชาชน ส่วนการร่างรัฐธรรมนูญที่ตนอยู่ในคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติฯ อาจไม่ได้ 100% ตามที่คนคาดหวัง แต่เชื่อว่าจะได้เห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้าแน่นอน” ศ.ดร.สิริพรรณ กล่าว

 

ส่วนสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ทุกคนในคณะกรรมการฯ มองไปในทิศทางเดียวกันว่าจะสร้างความสมดุลระหว่างตัวแทนประชาชน, นักวิชาการหรือผู้มีประสบการณ์ กับกลุ่มหลากหลายหรือเปราะบาง (ผู้พิการ, ชนกลุ่มน้อย) ได้อย่างไร

 

กลุ่มเคลื่อนไหวอยากเห็นการเลือกตั้ง สสร. ที่มาจากประชาชน 100% แต่จะมั่นใจได้หรือไม่ว่าจะมีตัวแทนจากกลุ่มเฉพาะเจาะจง

 

“ระบบข้าราชการไทยเป็นอุปสรรคให้การเมืองขับเคลื่อนไม่ได้”

 

“อำนาจของระบบราชการดูเหมือนว่าอยู่ใต้การเมือง แต่จริงๆ เป็นอุปสรรคที่ทำให้การเมืองไม่สามารถขับเคลื่อนได้” รศ.สุขุม ระบุ

 

ฉะนั้น ข้าราชการพยายามที่จะขวางไม่ให้ระบบการเมืองที่ต้องการเดินเร็วมากนัก แสดงให้เห็นว่าระบบราชการเดิมยังคงทรงพลังอยู่ และไม่อยากให้หลายๆ นโยบายที่รัฐบาลเพื่อไทยตั้งไว้สำเร็จผล เพราะถ้าสำเร็จผลแล้ว นั่นคือความเปลี่ยนแปลงใหญ่

 

“ในระบบเก่าที่เป็นอยู่ เห็นว่าสิ่งที่รัฐบาลเศรษฐาคิดไว้บางอย่างทำให้เสียหายกับบ้านเมือง เช่น นโยบายเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท” รศ.สุขุม ขยายความ

 

“ถ้าเพื่อไทยดันอุ๊งอิ๊งแทนเศรษฐา มีแต่เสียกับเสีย”

 

 

“ผมว่าคุณเศรษฐาอยู่ยาว ถ้าเพื่อไทยรีบดัน แพทองธาร ชินวัตร (หัวหน้าพรรคเพื่อไทย) แทนเศรษฐา จะมีแต่เสีย เพราะมีความรู้สึกว่าคนพอใจที่เศรษฐาเป็นนายกฯ และมีผลงานพอสมควรในวันนี้” รศ.สุขุม กล่าว

 

ดังนั้น ต่อให้เศรษฐาจะเป็นคนนอก จะมาจากนักธุรกิจ แต่ถ้าทำงานแล้วประชาชนพอใจ พรรคการเมืองคงไม่กล้าทำอะไรที่ขัดใจคน ส่วนแพทองธารก็จะเติบโตและมีประสบการณ์มากขึ้น เมื่อเวลามาถึงค่อยถึงโอกาสลงชิงนายกรัฐมนตรี

 

จุดแข็งก้าวไกลคือการทำงานนิติบัญญัติ

 

 

“จุดแข็งก้าวไกลคือการทำงานนิติบัญญัติ ก้าวไกลเป็นพรรคที่พิสูจน์ให้เห็นว่าไม่จำเป็นต้องส่งมอบนโยบายถึงจะได้รับเลือกตั้ง แต่สามารถใช้พื้นที่นิติบัญญัติเสนอจุดยืนทางการเมือง เสนอกฎหมายที่ประชาชนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงได้” ศ.ดร.สิริพรรณ ระบุชัด

 

ในปี 2567 อยากเห็นก้าวไกลใช้พื้นที่สภานิติบัญญัติขับเคลื่อนเกมการเมืองของก้าวไกล แม้เข้าใจดีว่าการเสนอกฎหมายในฐานะฝ่ายค้านคงเป็นเรื่องยากที่จะผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาลทั้งหมด แต่ขอให้ก้าวไกลพยายามใช้พื้นที่ดังกล่าวต่อไป และเน้นการเมืองสร้างสรรค์

 

กล่าวคือ พรรคก้าวไกลจะทำอย่างไรให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างสองพรรค (Bipartisanship) หรือระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน

 

“พรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่โตเร็วเกินกว่าที่พรรคจะประเมินได้ ปัญหาหลักตอนนี้คือการสรรหาผู้สมัคร ฉะนั้น ก้าวไกลต้องพยายามคัดกรองคนทั้งในแง่คุณสมบัติ จุดยืนร่วมกัน และพฤติกรรมส่วนตัว แต่เชื่อว่าก้าวไกลจะจัดการปัญหาดังกล่าวได้” ศ.ดร.สิริพรรณ เผย

 

การเมืองไทยในวันที่ไม่มี พล.อ. ประยุทธ์? 

 

 

“วันที่ไม่มี พล.อ. ประยุทธ์ การเมืองไทยยังเปลี่ยนไปไม่ถึง 50% เพราะอำนาจเก่าไม่ได้อยู่ที่ พล.อ. ประยุทธ์ คนเดียว แต่ยังอยู่ที่ระบบราชการ วุฒิสภา องค์กรอิสระ ซึ่งเห็นได้ชัดว่ากลายเป็นอีกป้อมปราการ” รศ.สุขุม กล่าว

 

“การลงจากอำนาจอย่างค่อนข้างงดงามของ พล.อ. ประยุทธ์ กลายเป็นฉากทัศน์ใหม่ของการเมืองไทย” ศ.ดร.สิริพรรณ กล่าวเพิ่ม

 

อย่างไรก็ตาม โจทย์ใหญ่ที่สำคัญของรัฐบาลคือ การทำให้ระบบราชการเทใจให้เศรษฐา เพราะข้าราชการหลายๆ คนยังคงซึมซับหรือมีความรู้สึกที่ดีต่ออำนาจเดิมอยู่

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X