×

‘วันนอร์’ ในวันหวนคืนบัลลังก์ประธานสภา หวังเห็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยอีกครั้ง

30.12.2023
  • LOADING...
วันนอร์

HIGHLIGHTS

7 MIN READ
  • ‘ประธานสภาผู้แทนราษฎร’ เป็นอีกเก้าอี้ที่ถูกจับตา เพราะมีบทบาทสูงในการคุมเกมในสภา ตั้งแต่การเลือกนายกฯ ไปจนถึงการกำหนดวาระต่างๆ ในการประชุม แม้จะมีการขับเคี่ยวระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย แต่ทว่าสุดท้ายตำแหน่งนี้ตกเป็นของ ‘วันมูหะมัดนอร์ มะทา’ หรืออาจารย์วันนอร์ หัวหน้าพรรคประชาชาติ ซึ่งอยู่ร่วมรัฐบาลเพื่อไทย
  • นับจากปี 2512 ที่เขาดำรงตำแหน่งประธานนิสิตครุศาสตร์ในรั้วจุฬาฯ ต่อมาเป็นครูใหญ่, อาจารย์, รองอธิการบดี, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และรัฐมนตรี ให้หลังจากนั้นอีก 27 ปี วันนอร์ก้าวขึ้นเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรสมัยแรกในปี 2539 
  • บนถนนการเมือง ใครจะประเมินและล่วงรู้ได้ว่าให้หลังจากปี 2539 อีก 27 ปี วันนอร์จะก้าวขึ้นเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 2 อีกวาระหนึ่ง

การเมืองไทยปี 2566 หลังการเลือกตั้งทั่วไป เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบพลิกขั้วย้ายข้าง อันเป็นถ้อยกระทงคำจำกัดความที่สะท้อนภาพความจริงจากปากคำผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองได้ชัดเจนที่สุด

 

ปรากฏการณ์แรกคือ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่เปลี่ยนจาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งครองเก้าอี้นี้นับแต่รัฐประหารปี 2557 เกือบ 9 ปี มาเป็น เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ พลเรือน ซึ่งถือเป็นการกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งของพรรคเพื่อไทย ในฐานะพรรคแกนนำ แต่ทว่าพรรคร่วมรัฐบาลส่วนใหญ่กลับเป็นพรรคที่มีคนการเมืองที่เคยขัดแย้งกันมานับทศวรรษอยู่ร่วมชายคา

 

‘ประธานสภาผู้แทนราษฎร’ เป็นอีกเก้าอี้ที่ถูกจับตา เพราะมีบทบาทสูงในการคุมเกมในสภา ตั้งแต่การเลือกนายกฯ ไปจนถึงการกำหนดวาระต่างๆ ในการประชุม แม้จะมีการขับเคี่ยวระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย แต่ทว่าสุดท้ายตำแหน่งนี้ตกเป็นของ ‘วันมูหะมัดนอร์ มะทา’ หรืออาจารย์วันนอร์ หัวหน้าพรรคประชาชาติ ซึ่งอยู่ร่วมรัฐบาลเพื่อไทย

 

‘อาจารย์วันนอร์’ คำเรียกนี้มีที่มาจากที่วันนอร์กลับไปบรรจุเป็นอาจารย์สอนที่วิทยาลัยครูสงขลา หรือมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาในปัจจุบัน ต่อมาเขากลับเข้ามาศึกษาระดับปริญญาโทที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้านการบริหารการศึกษา ก่อนกลับไปเป็นอาจารย์ประจำที่วิทยาลัยแห่งเดิม โดยมีตำแหน่งสุดท้ายคือรองอธิการบดี ก่อนจะลาออกมาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนฯ สมัยแรก

 

วันนอร์ยังเป็นอาจารย์พิเศษทั้งที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา และคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในบันทึกของเขาเล่าว่า ถึงตอนนี้ ‘อาจารย์วันนอร์จึงมีลูกศิษย์อยู่ในทุกอำเภอของจังหวัดชายแดนใต้’

 

นับจากปี 2512 ที่เขาดำรงตำแหน่งประธานนิสิตครุศาสตร์ในรั้วจุฬาฯ ต่อมาเป็นครูใหญ่, อาจารย์, รองอธิการบดี, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และรัฐมนตรี ให้หลังจากนั้นอีก 27 ปี วันนอร์ก้าวขึ้นเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรสมัยแรกในปี 2539

 

บนถนนการเมือง ใครจะประเมินและล่วงรู้ได้ว่าให้หลังจากปี 2539 อีก 27 ปี วันนอร์จะก้าวขึ้นเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 2 อีกวาระหนึ่ง

 

ถึงวันนี้ประวัติศาสตร์การเมืองไทยบันทึกไว้แล้วว่า หลังทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา มีเพียง อุทัย พิมพ์ใจชน, ชวน หลีกภัย และ วันมูหะมัดนอร์ มะทา เท่านั้นที่ได้รับเกียรติประวัติทางการเมืองในฐานะประมุขสูงสุดของฝ่ายนิติบัญญัติมากกว่าหนึ่งสมัย

 

THE STANDARD สนทนากับอาจารย์วันนอร์ในโมงยามที่การเมืองไทยพลิกขั้วเปลี่ยนข้าง บทบาทของประธานสภาจะเป็นอย่างไรในสมรภูมิการเมืองนี้ แม้ในวันที่คุยกันอาจารย์จะมีภารกิจมากและได้โอกาสสนทนาในเวลาอันจำกัด

 

 

วันมูหะมัดนอร์ มะทา คือใคร

 

วันมูหะมัดนอร์: ผมเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดยะลา อยู่ในการเมืองมา 44 ปีตั้งแต่ปี 2522 ผ่านมาหลายรัฐบาล หลายนายกฯ เคยดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรประธานรัฐสภามาแล้วเมื่อปี 2539 อยู่ 4 ปี 

 

สมัยเป็นประธานรัฐสภาสมัยแรกก็มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หรือฉบับประชาธิปไตย ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่น่าจะดีที่สุดที่เราเคยมี เพราะให้มีสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย มีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาซึ่งมาจากการเลือกตั้ง 

 

แต่น่าเสียดายหลังจากนั้นอีก 9 ปีรัฐธรรมนูญฉบับนั้นถูกฉีกทิ้งเลิกไป หลังจากนั้นมีรัฐธรรมนูญอีก 2 ฉบับ ซึ่งเป็นประชาธิปไตยเสี้ยวเดียว โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ใช้ปัจจุบันนี้ก็ยังไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ก็น่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดี 

 

ผมมาเป็นประธานสภาครั้งที่ 2 ปี 2566 รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีดำริชัดเจนว่าจะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น 

 

ผมอยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลนี้ ในสมัยที่ผมยังเป็นประธานสภาอยู่ คงจะมีโอกาสได้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ซึ่งเป็นประชาธิปไตย อันนี้ก็ฝันไว้ว่าน่าจะเกิดขึ้น

 

บทบาทของการเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรและเป็นประธานรัฐสภาก็จะต้องทำงานกับสมาชิกที่หลากหลาย ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภา ในยุคนี้มีวิธีการทำงานอย่างไร

 

วันมูหะมัดนอร์: สิ่งที่ท้าทายคือการที่รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ค่อยปกติ ถ้าเป็นรัฐธรรมนูญปกติก็จะไม่ค่อยมีปัญหาอะไร เพราะมันเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ อย่างเช่น ถ้ารัฐธรรมนูญปกติใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็คือ ผู้ที่ได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แล้วการบริหารก็เป็นไปตามรัฐบาลที่มาจากเสียงข้างมากนั้นบริหารไป

 

ประธานสภาก็จะดูแลกฎหมายที่รัฐบาลเสนอมา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอมา หรือภาคประชาชนเสนอมา ก็จะดูแลในเรื่องการควบคุมรัฐบาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอาจมีการยื่นญัตติ มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ อันนี้เป็นเรื่องปกติ 

 

แต่ที่มันท้าทายคือรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่เป็นปกติ ไม่เป็นประชาธิปไตย เสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรไม่อาจชี้รัฐบาลได้ เพราะเสียงที่ชี้ขาดก็พูดกันตรงๆ ว่าอยู่ที่วุฒิสภา 250 คนจะเป็นคนกำหนด เพราะสมาชิกวุฒิสภาสามารถลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้พร้อมๆ กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ถึงแม้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอาจจะรวมกันได้เกิน 300 คนก็ยังไม่อาจตั้งรัฐบาลได้ เพราะในรัฐธรรมนูญมาตรา 272 กำหนดไว้ว่า คนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสองสภา ไม่ใช่เสียงข้างมากนะ ต้องเกินกึ่งหนึ่งคือ 376 ขึ้นไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายถ้าวุฒิสภาไม่รวมด้วย 

 

ทีนี้พรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากเขารวมได้ 312 เสียง ซึ่งถือว่ามากในสภาผู้แทนราษฎร แต่มันยังไม่ถึง 376 เพราะฉะนั้นก็เป็นปัญหาท้าทายคนที่จะทำหน้าที่เป็นประธานสภา ซึ่งมันไม่ง่าย เพราะวุฒิสภาก็อยากได้คนที่ตนเองสนับสนุนเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องทุ่มเทให้ทุกอย่าง เพราะการเป็นนายกรัฐมนตรีหมายถึงการถืออำนาจบริหารประเทศนี้ 

 

ฉะนั้นในตอนที่ผมเป็นประธานสภา เมื่อมีการเลือกนายกรัฐมนตรีก็จะต้องมีปัญหา แต่ผมก็ไม่ได้เคร่งเครียดอะไร เพราะผมถือว่างานทุกอย่างมันต้องมีปัญหาและต้องมีอุปสรรค

 

 

การทำงานของประธานสภา ยึดหลักการทำงานอย่างไร

 

วันมูหะมัดนอร์: ผมตั้งใจทุกอย่างตั้งแต่ต้น ต้องทำหน้าที่เป็นกลางอย่างถึงที่สุด ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะเข้าข้างใดข้างหนึ่ง การที่จะประสบความสำเร็จประธานต้องตั้งตัวเป็นกลาง ผู้ตัดสินถ้าเอียงเมื่อไรเกณฑ์นั้นจะไม่ปกติแน่นอน

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นกรรมการ ฝ่ายที่ได้หรือชนะก็อาจจะพอใจ ฝ่ายที่ไม่ชนะก็คงไม่โทษตัวเองเท่าไร ส่วนใหญ่ก็จะต้องโทษกรรมการ โทษกองเชียร์บ้าง ซึ่งผมถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา

 

แล้วก็เรื่องการเลือกนายกรัฐมนตรีนั้นมันก็มีกติกาที่คนข้างนอกที่ไม่ได้สัมผัสจริงแล้วอาจจะไม่ทราบ เช่นว่า ข้อบังคับของสภาและรัฐธรรมนูญมันเกี่ยวโยงกัน แล้วมีบทบัญญัติหนึ่งที่คนแย้งว่า ทำไมประธานสภาไม่ตัดสินใจว่าให้เลือกนายกรัฐมนตรีกี่รอบก็ได้ แต่รัฐธรรมนูญก็มาออกข้อบังคับของรัฐสภา ซึ่งก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญที่ต้องปฏิบัติ แล้วข้อบังคับที่เป็นปัญหา ข้อ 151 ที่ทำไมประธานสภาถึงให้เลือกนายกรัฐมนตรีได้เพียงรอบเดียว เพราะในข้อบังคับเขียนไว้ชัดเจนว่า ถ้ามีความขัดแย้งเรื่องข้อบังคับ ต้องให้ที่ประชุมรัฐสภาเป็นคนตัดสิน แล้วตัดสินอย่างไร ถือว่าเด็ดขาด ซึ่งข้อบังคับข้ออื่นๆ ที่ไม่ใช่ข้อ 151 นั้น การตัดสินวินิจฉัยของประธานสภาถือว่าเด็ดขาด มันเกี่ยวโยงกันตรงนี้ 

 

ผมเข้าใจที่คนอื่นๆ นักวิชาการ และฝ่ายประชาธิปไตย คิดว่าประธานสภาควรมีอำนาจวินิจฉัยได้ อันนั้นเป็นสิ่งที่คนเชียร์อยากจะเห็น แต่ถึงจะให้เลือกนายกรัฐมนตรีได้มากกว่า 1 ครั้ง โอกาสที่จะผ่านก็ยาก ต้องได้ 376 คน ซึ่งเลือกในรอบแรกก็ยังขาดอีก 60 กว่าเสียง โอกาสเพิ่มขึ้นก็ไม่น่าเป็นไปได้ อันนี้ต้องบอกว่าเป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ซึ่งก็ใช้ได้ไม่เกินเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567 แล้วหลังจากนั้นมาตรา 272 ก็จะยกเลิกไป ถ้ามีการเลือกนายกรัฐมนตรีหลังจากนั้น สมาชิกวุฒิสภาก็ไม่สามารถมาใช้สิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ก็เป็นเรื่องของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรล้วนๆ ก็เป็นไปตามปกติ

 

 

การมาทำหน้าที่ประธานสภา นอกจากมีรัฐธรรมนูญไม่ปกติแล้ว ยังเป็นการทำงานกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นคนรุ่นใหม่อีกจำนวนมากด้วย มีวิธีการทำหน้าที่อย่างไร

 

วันมูหะมัดนอร์: ผมมองว่าสภาชุดนี้มีคนรุ่นใหม่เยอะและมีการพัฒนาไปมากกว่าเดิม มีการพูดด้วยเหตุผล การเอาหลักการมาเสนอในสภา การนำเสนอดีมาก มีทั้งภาพและเอกสาร น่าฟังมาก ผมนั่งอยู่เป็นประธาน มันพัฒนาไปมาก ฝ่ายที่จะประท้วงก็ไม่รู้จะประท้วงอะไรเพราะอยู่ในหลักการ เรื่องที่จะเกิดความวุ่นวายในสภาก็มีน้อยมาก เพราะการนำเสนออยู่บนหลักการ เป็นพัฒนาการประชาธิปไตยที่ดีมาก แล้วเราก็จะเห็นว่าสมัยนี้ไม่มีการที่การประชุมจะล่มเพราะการประชุมไม่จบ วิปสามารถประสานได้เพราะอยู่บนฐานของประโยชน์ของประชาชน ผมคิดว่าไม่น่ามีปัญหา ผมดีใจแทนประชาชนด้วย เพราะการฟังประชุมสภาในคราวนี้น่าจะได้สารัตถะ ได้เป็นความรู้กับประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนที่ต้องการเรียนรู้ประชาธิปไตย ถ้ามีการพัฒนาอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เป็นที่น่าชื่นชม 

 

 

อีกงานที่ท้าทายคือการตรวจรับโครงการก่อสร้างรัฐสภา ตอนนี้ไปถึงไหนแล้ว

 

วันมูหะมัดนอร์: มาถึงการตรวจรับงวดสุดท้ายแล้ว อยู่ที่คณะกรรมการตรวจรับการก่อสร้าง เป็นหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สัญญาการก่อสร้างจะมีคู่สัญญาคือ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่แทนรัฐสภา และบริษัทผู้รับจ้างคือ บริษัท ซิโน-ไทย และบริษัทในกลุ่ม 

 

ฉะนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นเรื่องการตรวจรับไม่แล้วเสร็จก็ต้องดูตามกฎหมาย จะสมควรตรวจรับได้ทั้งหมดหรือจะมีเรื่องค่าปรับอย่างไร ก็จะอยู่ที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ไม่เกี่ยวกับตำแหน่งประธานรัฐสภาหรือรองประธานรัฐสภา 

 

แต่แน่นอนว่าเมื่อมีการร้องเรียนจากฝ่ายใดก็ตาม ก็จะมีการมาร้องเรียนที่ประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งก็ต้องส่งไปให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตามกฎหมาย 

 

เราก็อยากให้การก่อสร้างอาคารรัฐสภาเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ ชอบธรรม และรักษาผลประโยชน์ของรัฐให้มากที่สุด ผมก็ได้กำชับให้สำนักงานดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมการตรวจรับกับเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรก็ยังไม่ได้ลงนาม อาจมีการส่งไปให้หน่วยงานที่สามารถตรวจสอบได้เพิ่มเติมให้ชัดเจน เช่น จะต้องให้อัยการดูอีกไหม หรือส่งไปให้คณะกรรมการตรวจสอบเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ต้องให้มันชัด เพราะเรื่องนี้มีคนสนใจมาก ในฐานะสภาที่เราต้องตรวจสอบคนอื่น เราต้องทำงานของเราให้เรียบร้อยให้ได้ แต่ผมก็อยากจะเรียนว่ามันเป็นช่วงตอนสุดท้ายแล้ว ถ้าเราได้ดูตั้งแต่เริ่มต้นเราก็สามารถทำให้ดีกว่านี้ได้

 

 

40 กว่าปีบนถนนการเมืองไทยตอนนี้ ในสายตาอยากเห็นการเมืองไทยเป็นแบบไหน 

 

วันมูหะมัดนอร์: พูดจริงๆ แล้วผมเสียดาย ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยได้เกือบร้อยปีแล้ว แต่เราไม่สามารถจะสืบต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ปี 2475 ได้ มีการปฏิวัติ รัฐประหาร การยกเลิกรัฐธรรมนูญแต่ละครั้งที่มีการปฏิวัติ มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ได้ทำให้เกิดการพัฒนาประชาธิปไตยของประชาชนดีขึ้น บางครั้งกลับถอยหลังลงไป 

 

ความรู้สึกผมคือเสียดาย แต่เราจะไปโทษคนอื่นก็ไม่ได้ เพราะการปฏิวัติรัฐประหารมันเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุด้วยกัน แต่การแก้ไขด้วยการยึดอำนาจแล้วฉีกรัฐธรรมนูญก็ไม่ใช่หนทางที่ดี

 

ทางที่ดีคือต้องให้มันพัฒนาด้วยตัวของมันเอง เช่น การเปลี่ยนแปลงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากประชาชนเลือก คนที่ไม่ดีก็ต้องถูกกำจัดออกไป เมื่อคนดีๆ คนมีความรู้ความสามารถเข้ามา รัฐบาลก็พัฒนาไปได้ด้วยดี 

 

ก็ยังหวังลึกๆ ว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาเราได้คนรุ่นใหม่เข้ามาเยอะ ก็แปลว่ากระบวนการเลือกตั้งของประชาชนเริ่มมีจิตสำนึกมากขึ้น คนที่เข้ามาถึงแม้เราจะบอกว่ามีการซื้อเสียงกัน แต่ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการศรัทธาของประชาชนจริงๆ ก็หวังว่าสำนึกของประชาชนในทางประชาธิปไตยด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ดีนั้นน่าจะมีการพัฒนาขึ้น

 

แล้วก็ปัจจัยคือรัฐธรรมนูญ ถึงแม้ประชาชนจะเลือกผู้แทนได้ดีขึ้น แต่ถ้ารัฐธรรมนูญมันบิดเบี้ยว เช่น เสียงข้างมากไม่ได้เป็นรัฐบาล มันก็ไม่สามารถจะพัฒนาได้เช่นเดียวกัน 

 

ดังนั้น 2 ประการที่จะเกิดขึ้นข้างหน้าคือ การแก้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยและจิตสำนึกของประชาชนในการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ดีขึ้น ทั้งสองอย่างนี้จะช่วยกันทำให้ประชาธิปไตยดีขึ้น รัฐบาลจะดีขึ้น การพัฒนาประเทศจะดีขึ้น ก็ต้องมอบสิ่งนี้ให้กับคนรุ่นใหม่ต่อไป 

 

ผมมีความหวังว่าประชาธิปไตยจะพัฒนาดีขึ้นจากรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขและจากจิตสำนึกของประชาชน คนรุ่นใหม่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นคนรุ่นใหม่ที่ตั้งใจจะทำงานเพื่อชาติบ้านเมืองมากขึ้น จะทำให้ประชาธิปไตยดีขึ้น 

 

แต่ขอร้องพวกที่คิดจะทำปฏิวัติรัฐประหาร คือท่านกำลังจะทำลายชาติบ้านเมือง ท่านยุติได้แล้ว ต้องปล่อยให้บ้านเมืองได้มีอิสระ บ้านเมืองไม่ใช่ของท่านหรือของผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นเรื่องของประชาชนทั่วไป และต้องฝากประชาชนเช่นกัน ถ้าประชาชนไม่ยินยอมให้คนที่เข้ามาปล้นประเทศยึดอำนาจได้ เขาก็ทำไม่ได้หรอก เช่น เขายึดอำนาจ ข้าราชการทั่วประเทศไทยหยุด ไม่มาทำงาน เขาจะปลดข้าราชการทั่วประเทศไทยได้อย่างไร พ่อค้า-แม่ค้าหยุดเปิดร้าน ไม่ขายของ โรงเรียนไม่เปิดสอน แค่นี้คนปฏิวัติมันก็หยุดปฏิวัติได้ ปืนหรือรถถังก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าประชาชนไม่ยินยอม 

 

แต่ที่ผ่านมาเขาได้ใจ เขาเอารถถังออกมา เอาปืนออกมาจี้ ประชาชนยอมรับได้ เอาดอกไม้มาให้บ้าง เพราะเขาประชาสัมพันธ์ว่าประชาธิปไตยเลวร้าย คอร์รัปชัน อะไรต่างๆ ซึ่งมันมีอยู่ทุกวงการ มันต้องแก้ไขด้วยประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง 4 ปี คนไหนไม่ดีก็อย่าเลือก คนไหนดีก็เลือกเข้ามา ผมว่าเลือก 2-3 ครั้งมันก็จะดีขึ้น

 

 

ได้วางบทบาทชีวิตทางการเมืองไว้ที่จุดไหนบนถนนสายประชาธิปไตยต่อจากนี้

 

วันมูหะมัดนอร์: ผมควรจะพอได้แล้ว เพราะว่าปีหน้าก็อายุ 80 แล้ว ควรจะให้คนรุ่นใหม่มาทำ แต่ว่าพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่พิเศษเฉพาะ คนยังมีความรู้สึกว่าจะแค่ไหนก็ไม่รู้ ก็บอกว่าต้องช่วยกันสร้างคนรุ่นใหม่ต่อไป เขาก็อยากได้คนพื้นที่มาบริหารประเทศบ้าง มาอยู่ในสภาบ้าง เขาก็ยังอยากจะขอร้อง ซึ่งผมคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ ก็อยากจะให้มีคนรุ่นใหม่ ผมอยู่ข้างหลังได้ถ้าผมยังมีชีวิตอยู่ 

 

แต่สุขภาพผมก็ยังแข็งแรงอยู่ เพราะการทำงานทำให้สุขภาพแข็งแรง ถ้าเราหยุดทำงานเมื่อไรสุขภาพเราจะอ่อนแอ อันนี้เป็นเรื่องที่ผมว่า หนึ่ง ชายแดนใต้เป็นพื้นที่เฉพาะ เป็นพหุวัฒนธรรม และยังสร้างคนรุ่นใหม่ไม่ทัน คือมี ขณะนี้มีคนรุ่นใหม่ แต่เขาบอกว่ายังไม่ทันที่จะเข้ามาเป็นฝ่ายบริหาร เป็นรัฐมนตรี เป็นประธาน รองประธาน เราต้องถอยแล้วก็สร้างคนเหล่านั้นให้เร็วขึ้น อันนี้คือเฉพาะพื้นที่ชายแดนใต้ แต่ในส่วนทั่วประเทศผมคิดว่าตอนนี้คนอายุ 40-50 ปีจะเข้ามาเป็นผู้บริหารประเทศ สส. ก็จะมีคนรุ่นใหม่เยอะ ใน 3 จังหวัดคนรุ่นใหม่ก็ขึ้นมา อาจจะช้าบ้าง เพราะว่าเราช้ามาตั้งแต่ตอนต้น 

 

 

มองกลับมาที่อีกหนึ่งบทบาทกับสถานการณ์ในอิสราเอลที่ได้มีการประสานการให้ความช่วยเหลือ

 

วันมูหะมัดนอร์: ในฐานะที่เราเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ เรามีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน และเรามีกลุ่มมิตรภาพรัฐสภาไทย-อิสราเอล, ไทย-อิหร่าน และไทย-ซาอุดีอาระเบีย คือเราไม่ได้มีอำนาจบริหาร แต่เรามีเพื่อนอีกเยอะ เราอาศัยสภา อาศัยความเป็นเพื่อน ในการจะช่วยรัฐบาลช่วยคนไทยในอีกทางหนึ่ง ในการช่วยคนไทยให้ปลอดภัยจากภัยสงครามและการช่วยตัวประกันคนไทยจากกลุ่มฮามาสซึ่งไม่ใช่รัฐบาลจริงๆ เป็นกลุ่มที่มีอำนาจในฉนวนกาซา แต่รัฐบาลจริงๆ คือรัฐบาลปาเลสไตน์ ซึ่งมันซ้ำซ้อนกันอยู่ตรงนี้ แต่บังเอิญว่าผมเคยเป็นกรรมการองค์กรมุสลิมโลก เคยทำหน้าที่หลายๆ อย่าง แล้วรู้จักกับกลุ่มพวกนี้ทั้งในเรื่องศาสนาและเรื่องการเมือง ก็เลยคิดว่าจะเป็นใครก็แล้วแต่ ไม่ใช่แค่สภา ไม่ใช่แค่ผม ใครก็ได้ แต่มีโอกาสช่วยตัวประกัน ก็ต้องรีบช่วย เพราะการอยู่ในที่อันตรายอย่างนั้นไม่รู้โชคชะตาจะเป็นอย่างไร ถ้าเราเป็นคนที่ถูกจับเป็นตัวประกันหรือเป็นญาติพี่น้อง ความกังวลคงสูงมาก ผมก็เลยตัดสินใจที่จะช่วยเหลือโดยเชิญคนที่เกี่ยวข้อง เช่น การเชิญคนที่อยู่ในชีอะห์ ซึ่งเป็นนิกายเดียวกับพวกฮามาส เรียกเข้ามาคุย เขาก็ยินดีให้ความร่วมมือ 

 

อย่างที่สอง ประเทศอิหร่านซึ่งเป็นประเทศสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเหล่านี้ พวกเรารู้จักก็อยากจะทำ ผมว่าถ้าเรามัวแต่นั่ง มัวแต่วิงวอนอยู่ที่บ้าน ขอให้รัฐบาลช่วยอย่างเดียว โดยที่เรามีโอกาสแต่เราไม่ทำอะไร ผมคิดว่าน่าเสียใจ ผมก็เลยรีบตัดสินใจส่งท่านอารีเพ็ญ ที่ปรึกษาผม ไปที่กรุงเตหะราน ไปพบกับประธานที่ปรึกษาประธานาธิบดีอิหร่าน ซึ่งเป็นบุคคลที่ทางอิหร่านมอบหมายให้ดูแลการเมืองของกลุ่มฮามาส ปาเลสไตน์ และอีกคนหนึ่งเป็นประธานสมัชชาองค์การปาเลสไตน์ที่อยู่ในอิหร่าน ส่วนอีกคนคือประธานสมาพันธ์พิทักษ์เยาวชนปาเลสไตน์และต่อต้านอิสราเอลแห่งชาติที่อยู่ในอิหร่านเพื่อทำหน้าที่เรื่องนี้ ทั้ง 3 คนนี้คงจะติดต่อกับกลุ่มที่อยู่ในกาซาได้

 

แต่จะได้ผลอย่างไรในเรื่องการคืนตัวประกันก็เป็นขั้นตอนการเจรจาต่อรอง เราไปขอร้อง แต่การเจรจาต่อรองเป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศที่จะต้องพูดจาการทูตกับประเทศที่เกี่ยวข้อง เราเป็นการขอร้องในด้านมนุษยธรรมกับเพื่อนฝูง ก็จะทำอย่างสุดความสามารถ 

 

 

สุดท้ายนี้ อยากขอให้ท่านอวยพรปีใหม่กับประชาชนส่งท้าย

 

วันมูหะมัดนอร์: ในวารดิถีปีใหม่ที่จะมาถึงนี้ ผมขออำนาจจากพระผู้เป็นเจ้าและพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดจนสิ่งที่เราเคารพนับถือ จงช่วยดลบันดาลให้คนไทยประสบแต่ความสุข โชคดี ปลอดภัย มีชีวิตที่มั่นคงทุกๆ คน ทั้งครอบครัวและพี่น้องประชาชนทั่วประเทศด้วยครับ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising