×

เปิดคำพิพากษาศาลฎีกาฯ ยกฟ้องคดีอาญายิ่งลักษณ์ ใช้อำนาจย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี พ้นเก้าอี้เลขาฯ สมช. ชี้ขาด ‘เจตนาพิเศษ’ ทำให้เสียหาย

โดย THE STANDARD TEAM
26.12.2023
  • LOADING...
คดีอาญายิ่งลักษณ์

วันนี้ (26 ธันวาคม) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดอ่านคำพิพากษาคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ใช้อำนาจในการโยกย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในขณะนั้น ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ

 

ย้อนที่มาคดียิ่งลักษณ์โยกถวิลพ้นเก้าอี้เลขาฯ สมช.

 

– 30 กันยายน 2554

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี ลงนามในคำสั่งตามมติ ครม. ที่ให้โอน ถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการ สมช. ไปปฏิบัติหน้าที่ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

 

– 4 ตุลาคม 2554 

ครม. ตั้ง พล.ต.อ. วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร. ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช. 

และต่อมามีการแต่งตั้ง พล.ต.อ. เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ เป็น ผบ.ตร. แทน

 

– 7 มีนาคม 2557 

ศาลปกครองสูงสุดสั่งคืนตำแหน่งเลขาธิการ สมช. ให้ถวิลตามที่ถวิลฟ้อง หลังศาลเห็นว่าเป็นการโยกย้ายที่ใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ พร้อมเพิกถอนประกาศให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ถูกสั่งย้าย

 

7 พฤษภาคม 2557

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 วินิจฉัยว่า ยิ่งลักษณ์ใช้สถานะการเป็นนายกรัฐมนตรีเข้าไปก้าวก่าย แทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายถวิล เพื่อประโยชน์ของตัวเอง ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง

 

– 1 กรกฎาคม 2563 

ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดยิ่งลักษณ์ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ส่งอัยการสูงสุดพิจารณาสั่งฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป

 

– 28 กุมภาพันธ์ 2565

อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้องยิ่งลักษณ์ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด

 

22 พฤศจิกายน 2565 

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกหมายจับยิ่งลักษณ์ เนื่องจากไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุ

 

– 9 พฤศจิกายน 2566

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดฟังคำพิพากษา แต่เลื่อนการอ่านคำพิพากษา เหตุองค์คณะผู้พิพากษามาไม่ครบจากเหตุจำเป็นที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ ก่อนเปลี่ยนตัวองค์คณะผู้พิพากษาแทนคนเดิม

 

– 26 ธันวาคม 2566

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดฟังคำพิพากษา 

 

คำฟ้องจากอัยการสูงสุด

 

โดยในวันนี้หลังอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น ศาลฎีกาได้ออกจดหมายชี้แจงคำพิพากษา ดังนี้

 

“โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องว่า จำเลยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรักษาการนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งโยกย้ายและให้ ถวิล เปลี่ยนศรี พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 57 วรรคสอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งและเชื่อมโยงกับการโอนย้าย พล.ต.อ. วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติแทน และบรรจุแต่งตั้ง พล.ต.อ. เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อันเป็นการแทรกแซงและก้าวก่ายการแต่งตั้ง โยกย้าย หรือการให้พ้นจากตำแหน่งข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งเงินเดือนประจำ และมิใช่ข้าราชการการเมือง ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (2) (3) 

 

“และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของ พล.ต.อ. เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ เครือญาติของจำเลย และเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

 

“ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192 นับโทษจำเลยต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ อม.211/2560 และจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อม. 2/2565 ของศาลนี้”

 

ความเห็นขององค์คณะผู้พิพากษาต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาของศาลปกครอง 

 

องค์คณะผู้พิพากษาเห็นว่า แม้มูลกรณีคดีนี้จะเคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2557 แล้วก็ตาม แต่คดีของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวคงพิจารณาวินิจฉัยแต่เพียงว่า ผู้ถูกร้อง (จำเลยคดีนี้) ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นนายกรัฐมนตรีเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ในเรื่องการบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง เลื่อนเงินเดือน หรือการพ้นจากตำแหน่งของข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ และมิใช่ข้าราชการการเมือง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 266 (2) และ (3) อันมีผลให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัวตามมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) ประกอบมาตรา 268 หรือไม่เท่านั้น 

 

และผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวคงผูกพันศาลนี้ให้รับฟังได้เพียงว่า ความเป็นรัฐมนตรีของจำเลยได้สิ้นสุดลงแล้ว ส่วนคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขแดงที่ อ.33/2557 ก็มีประเด็นเพียงว่า คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 152/2554 ลงวันที่ 7 กันยายน 2554 ที่สั่งให้ถวิลไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 30 กันยายน 2554 ที่สั่งให้ถวิลพ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เท่านั้น ไม่มีประเด็นพิจารณาวินิจฉัยถึงความรับผิดทางอาญาของบุคคลใด

 

ปัญหาว่าจำเลยกระทำความผิดอาญาตามฟ้องคดีนี้หรือไม่จึงเป็นคนละประเด็นกับที่ศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัย และยังไม่มีศาลใดวินิจฉัยมาก่อน จึงอยู่ในอำนาจศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และการวินิจฉัยที่เกี่ยวกับความรับผิดทางอาญาของจำเลย 

 

พิจารณา ‘เจตนาพิเศษ’ ของจำเลย

 

นอกจากจะต้องพิจารณาจากการกระทำของจำเลยแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 และเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือโดยทุจริต อันเป็นองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192 ด้วย จึงไม่อาจนำเอาข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวมาผูกพันให้ศาลนี้ต้องรับฟังตาม

 

ส่วนประเด็นว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ องค์คณะผู้พิพากษามีมติเสียงข้างมากเห็นว่าการกระทำความผิดตามฟ้อง นอกจากเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่โดยตรงในการปฏิบัติหน้าที่ต้องมีเจตนาในการปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าโดยมิชอบแล้ว เจ้าพนักงานผู้นั้นยังต้องมีเจตนาพิเศษในขณะกระทำความผิดเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือต้องมีเจตนาปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต โดยพยานหลักฐานจากการไต่สวนได้ความว่า ในทางปฏิบัติที่ผ่านมาได้มีการพิจารณาโยกย้ายตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ แตกต่างจากกรณีข้าราชการอื่นทั่วไป ประกอบกับจำเลยมิได้มีสาเหตุขัดแย้งอันใดกับถวิลเป็นการส่วนตัว อันจะเป็นมูลเหตุจูงใจให้จำเลยประสงค์ที่จะกลั่นแกล้งถวิลแต่อย่างใด

 

เป็นการย้ายข้าราชการตามแนวทางที่เคยปฏิบัติกันมาแต่เดิม 

 

จำเลยคงอ้างเหตุผลว่า รัฐบาลก่อนได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โดยมีถวิลเป็นกรรมการและเลขานุการ เกิดเหตุการณ์นำไปสู่ความรุนแรงยิ่งขึ้น จึงต้องการเปลี่ยนตัวบุคคลที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ แสดงว่ามีเหตุที่จะโอนถวิลมาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนแล้ว โดยไม่ได้มีข้อคำนึงถึงว่า พล.ต.อ. วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี จะยินยอมย้ายจากตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติหรือไม่ 

 

อีกทั้ง พล.ท. ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เบิกความว่า เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลย่อมต้องการผู้ได้รับความไว้วางใจสูงสุดมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ก็มีความชอบธรรมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ 

 

โดยก่อนที่ถวิลจะมาดำรงตำแหน่งดังกล่าว มี พล.ท. ส. ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนแล้ว เมื่อเข้าสู่สมัย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีการโอนย้าย พล.ท. ส. จากต้นสังกัดเดิมมาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำเช่นเดียวกับกรณีของถวิล การใช้ดุลพินิจของจำเลยในการโยกย้ายถวิลจึงเป็นไปตามแนวทางที่เคยปฏิบัติกันมาแต่เดิม ข้อเท็จจริงยังไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ถวิล

 

ไม่อาจบ่งชี้ว่ามีการวางแผนให้ญาติตนเองขึ้นเป็น ผบ.ตร.

 

ส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยต้องการให้ พล.ต.อ. เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ญาติของจำเลย ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาตินั้น เมื่อทางไต่สวนไม่มีประจักษ์พยานมาเบิกความยืนยัน กรณีนี้จำเป็นต้องพิจารณาจากพยานแวดล้อมที่ปรากฏในการไต่สวน ซึ่งพยานหลักฐานดังกล่าวยังไม่อาจบ่งชี้อย่างชัดแจ้งว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการโยกย้ายได้มีการสมคบคิดวางแผนกันล่วงหน้าในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำกับจำเลยมาตั้งแต่แรก 

 

ทั้งหากจำเลยมีเจตนาตระเตรียมการให้รับโอนถวิลมาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ และรับโอน พล.ต.อ. วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี มาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติแทน เพื่อที่จะให้ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่างลงแล้ว น่าจะต้องมีการแจ้งหรือทาบทาม พล.ต.อ. วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ให้ยินยอมที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเสียก่อน แต่ขณะที่ บัณฑูร สุภัควณิช จัดทำบันทึกขอรับโอนถวิล จนถึงวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการโอนถวิลมาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำนั้น ไม่มีพยานปากใดยืนยันว่าจำเลยสั่งการหรือมอบหมายผู้ใดให้ทาบทาม พล.ต.อ. วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

 

ข้อเท็จจริงกลับได้ความว่า หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ถวิลไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ พล.ต.อ. โกวิท วัฒนะ ได้โทรศัพท์มาทาบทาม พล.ต.อ. วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี แล้ว พล.ต.อ. วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี จึงตัดสินใจไปดำรงตำแหน่งดังกล่าว อันเป็นการยินยอมภายหลังจากที่โยกย้ายถวิลไปแล้วนานถึง 22 วัน 

 

ยิ่งกว่านั้น ขณะที่จำเลยสั่งการให้โอนถวิลก็ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าจำเลยทราบว่าต่อมาภายหลัง พล.ต.อ. วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี จะสมัครใจย้ายหรือไม่ หรือจะย้ายไปดำรงตำแหน่งใด เมื่อใด ย่อมรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยสั่งการให้รับโอนถวิลโดยมีเจตนาเพื่อจะให้ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่างลง และไม่อาจฟังได้ว่าการสมัครใจย้ายของ พล.ต.อ. วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เป็นผลโดยตรงจากการโยกย้ายถวิลอีกด้วย

 

ส่วนที่ บัณฑูร สุภัควณิช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีบันทึกข้อความถึงรองนายกรัฐมนตรี (พล.ต.อ. โกวิท วัฒนะ) เพื่อขอรับโอนถวิลมาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ โดยระบุว่า รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (กฤษณา สีหลักษณ์) ในฐานะรัฐมนตรีเจ้าสังกัด ให้ความเห็นชอบและยินยอมการรับโอนแล้ว ทั้งที่ กฤษณา สีหลักษณ์ ยังมิได้ให้ความเห็นชอบ และมีการแก้ไขวันที่ที่ทำเอกสารจากวันที่ 4 กันยายน 2554 เป็นวันที่ 5 กันยายน 2554 นั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยรู้เห็นเกี่ยวข้องกับข้อความในเอกสารฉบับดังกล่าว

 

ส่วนการดำเนินการในการขอรับโอน ขอรับความเห็นชอบ และเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อมีมติอนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ รวมทั้งการที่จำเลยได้มีคำสั่งให้ถวิลไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีใช้เวลาเพียง 4 วัน ก็ได้ความว่าการเสนอแต่งตั้งโยกย้ายเป็นเรื่องที่ต้องเร่งรัดให้ทันต่อการเข้าประชุมคณะรัฐมนตรี เป็นเรื่องปกติและเกิดขึ้นบ่อย จึงไม่ถือเป็นข้อพิรุธ และที่จำเลยมีส่วนในการดำเนินการโยกย้ายถวิลให้พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยเป็นผู้อนุมัติให้นำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติในวันที่ 6 กันยายน 2554 ได้ร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีและร่วมลงมติอนุมัติให้ถวิลพ้นจากตำแหน่ง

 

เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว จำเลยได้ออกคำสั่งให้ถวิลไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีภายหลังคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแล้ว ก็เป็นกระบวนการและขั้นตอนของกฎหมายในการโอนย้ายข้าราชการระดับสูง การกระทำของจำเลยในส่วนนี้ย่อมไม่อาจนำมารับฟังว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตเพื่อประโยชน์ของ พล.ต.อ. วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามฟ้อง

 

พลิกแฟ้มคดีความยิ่งลักษณ์

 

คดีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดจำนวน 2 คดี

 

24 กันยายน 2560

คดีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว จำคุก 5 ปี

 

9 พฤศจิกายน 2566 

คดีใช้อำนาจโยกย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการ สมช. โดยมิชอบ ศาลให้ยกฟ้อง

 

คดีที่ออกหมายจับ

 

19 เมษายน 2565

คดีเอื้อประโยชน์เอกชนจัดโรดโชว์ไทยแลนด์ 2020

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X