×

ภาพรวมซีรีส์วายปี 2023 แม้กระแสไม่หวือหวา แต่เนื้อหาน่าสนใจ

25.12.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 MIN READ
  • หากเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา ความนิยมของซีรีส์วายในปี 2566 ดูเหมือนจะย้อนกลับไปอยู่ในตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) อีกครั้ง โดยเฉพาะฝั่ง Boy’s Love (BL) ที่เรียกได้ว่ากระแสนิ่งกว่าช่วงก่อนอยู่พอตัว ในขณะที่กระแสของซีรีส์ฝั่ง Girl’s Love (GL) กลับพุ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 
  • จากการรวบรวมซีรีส์ Boy’s Love และ Girl’s Love ที่ฉายในปีนี้ทั้งหมดจำนวน 67 เรื่อง (โดยไม่นับมินิซีรีส์และภาพยนตร์) มีซีรีส์ BL จำนวน 64 เรื่อง และซีรีส์ GL จำนวน 3 เรื่อง
  • ปีนี้มีซีรีส์แนว Horror-Thriller เพิ่มขึ้นมาถึงสองเรื่องคือ Shadow เงา / ล่า / ตาย และ The Whisperer ศพกระซิบ ซีรีส์จากนิยายสยองขวัญของ ภาคินัย

หากเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา ความนิยมของซีรีส์วายในปี 2566 ดูเหมือนจะย้อนกลับไปอยู่ในตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) อีกครั้ง โดยเฉพาะฝั่ง Boy’s Love (BL) ที่เรียกได้ว่ากระแสนิ่งกว่าช่วงก่อนอยู่พอตัว ผู้ชมส่วนใหญ่มักจะเป็นกลุ่มแฟนคลับที่ติดตามมาก่อนแล้ว ในขณะที่กระแสของซีรีส์ฝั่ง Girl’s Love (GL) กลับพุ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แม้จะยังไม่ได้แพร่หลายมากนัก แต่ก็มีฐานแฟนคลับทั่วโลกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังคงแข็งแรงในวงการนี้คือการผลิตเนื้อหารูปแบบใหม่ๆ มามอบให้ผู้ชมอยู่ตลอด อย่างปีนี้เอง สิ่งที่เราเห็นได้ชัดเลยก็คือเรื่องราวแนวแฟนตาซีที่ยกมาทั้งพลังวิเศษ, ทะลุเวลา, ภูต, ผี, เทวดา ไปจนถึงพญานาค นอกจากนี้ยังมีเรื่องธรรมดาที่ไม่ธรรมดาของคนทำงานและมนุษย์ออฟฟิศมาให้ดูมากขึ้นด้วย

 

ดังนั้นแล้ว ปีนี้จึงเป็นปีที่เราได้เห็นการเติบโตด้านไอเดีย ความสร้างสรรค์ และงานโปรดักชันที่พัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด เรียกได้ว่าเป็นปีที่แม้กระแสจะไม่ได้หวือหวา แต่มีซีรีส์สนุกๆ และน่าสนใจให้ได้ดูตลอดทั้งปี

 

 

ในวันที่กระแส BL ค่อนข้างนิ่ง และ GL กลายเป็นคลื่นลูกใหม่

 

ลองนับกันแบบคร่าวๆ ประเทศไทยเริ่มทำซีรีส์ Boy’s Love มาเกือบจะครบ 10 ปีแล้ว ตลอดเวลาที่ผ่านมา เรามักจะเห็นการเติบโตของวงการในแง่กระแสและจำนวนคอนเทนต์ที่เพิ่มมากขึ้นอยู่ตลอด โดยเฉพาะช่วงปี 2563-2665 ที่วายไทยเริ่มกระโดดไปอยู่ในหน้าไทม์ไลน์ของชาวต่างชาติ จนติดเทรนด์ทวิตเตอร์โลกอยู่บ่อยครั้ง 

 

ตัดภาพมาในปี 2566 มีซีรีส์ BL เพียงเรื่องเดียวที่สามารถขึ้นไปสู่อันดับ 1 บนเทรนด์โลกได้คือซีรีส์ แฟนผมเป็นประธานนักเรียน My School President ผลงานของค่ายใหญ่อย่าง GMMTV ที่กวาดยอดผู้เข้าชมได้ 18 ประเทศ ครอบคลุมทั้งทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาใต้ ซึ่งนับว่าน้อยลงจากปีที่แล้ว (2565) ที่มีถึง 6 เรื่องคือ แค่เพื่อนครับเพื่อน BAD BUDDY SERIES, NOT ME เขา…ไม่ใช่ผม, นิ่งเฮียก็หาว่าซื่อ Cutie Pie Series, บรรยากาศรัก เดอะซีรีส์ Love in The Air, คุณชาย และ KinnPorsche The Series 

 

สาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากจำนวนคอนเทนต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดกว่าหนึ่งเท่าตัว จาก 30 เรื่องในปี 2564 กลายมาเป็นเกือบ 70 เรื่องในปีต่อๆ มา ทำให้การแข่งขันกันเองในตลาดสูงขึ้น และฝั่งผู้ชมเองมีตัวเลือกเพิ่มมากขึ้น บวกกับช่องทางในการรับชมที่กระจัดกระจายไปตามสตรีมมิงต่างๆ มากมาย ทำให้แฟนๆ บางส่วนต้องเลือกที่จะไม่ดูซีรีส์บางเรื่อง เพื่อไม่ต้องจ่ายค่าสมาชิกรายเดือนให้กับสตรีมมิงอื่นๆ เพิ่มเติม จนทำให้ซีรีส์ดีๆ หลายเรื่องไม่ถูกค้นพบไปอย่างน่าเสียดาย

 

 

ดังนั้นความโดดเด่นด้านกระแสในปีนี้จึงกระโดดไปอยู่กับฝั่งซีรีส์ GL ที่แม้จะมีแค่ 3 เรื่อง (ไม่นับมินิซีรีส์) คือ ทฤษฎีสีชมพู GAP The series ที่เริ่มออกอากาศในช่วงเดือนพฤศจิกายนปี 2565, Show Me Love The Series แค่อยากบอกรัก และ Love Senior The Series พี่ว้ากคะ…รักหนูได้มั้ย แต่ก็ต่างได้รับความสนใจจากแฟนๆ เป็นอย่างดี การันตีด้วยอันดับ 1 บนเทรนด์โลกของ ทฤษฎีสีชมพู GAP The series รวมกับรางวัลจากหลากหลายเวที 

 

อย่างไรก็ตาม เราคงไม่สามารถเทียบกระแสของทั้งสองฝั่งได้อย่างชัดเจน เนื่องจากจำนวนผลงานที่ต่างกันหลายเท่าตัว และจุดเริ่มต้นที่ไม่เท่ากัน ในขณะที่ BL สร้างฐานแฟนมาเกือบ 10 ปี เราเพิ่งได้เห็นการเดินทางของ GL ในไม่กี่ปีที่ผ่านมาเท่านั้น ดังนั้นขนาดของตลาดฝั่ง GL ในตอนนี้อาจจะเทียบเท่ากับยุคตั้งไข่ของวายเมื่อปี 2559 ก็เป็นได้ ซึ่งการเติบโตของซีรีส์ Girl’s Love ในวันนี้อาจจะเห็นผลที่ชัดเจนขึ้นในปีหน้า หรือในเร็วๆ นี้ก็เป็นได้

 

 

สายการบินซีรีส์วาย พร้อมจัดทัวร์ทั่วโลกตลอดปี

 

ถึงกระแสจะไม่ได้พุ่งแบบปีก่อนๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าวายในปีนี้มีกระแสในต่างประเทศอยู่พอตัว บวกกับสถานการณ์โควิดที่แทบจะกลับมาเป็นปกติเกือบทุกประเทศ ทำให้เราได้เห็นนักแสดงซีรีส์วายบินไปจัดแฟนมีตติ้งในหลายเมืองรอบโลก ครอบคลุมทั้งทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาใต้ 

 

ในงานแถลงข่าว GMMTV2024 UP&ABOVE PART1 เมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา ถา-สถาพร พานิชรักษาพงศ์ ได้พูดถึงความสำเร็จของ GMMTV ในปี 2566 ไว้ส่วนหนึ่งว่า “โชว์ที่เรานำออกไปสู่ต่างประเทศในปีนี้ เราจัดได้ถึง 157 โชว์ ใน 20 เมืองใหญ่ นอกจากในเอเชียแล้ว เรากำลังจะไปที่โรม อิตาลี และเซาเปาโลที่บราซิลด้วย” ซึ่งโชว์ทั้งหมดนี้หมายรวมถึงคอนเสิร์ต แฟนมีตติ้ง และมิวสิกเฟสติวัลจาก GMMTV ทั้งหมด

 

อย่างงาน My School President Fan Meeting จากซีรีส์ แฟนผมเป็นประธานนักเรียน My School President ก็เดินทางไปแสดงในต่างประเทศได้ถึง 9 เมือง รวมทั้งหมด 10 รอบการแสดงด้วยกัน ในขณะที่ฝั่งรุ่นพี่อย่าง ออฟ-จุมพล อดุลกิตติพร, กัน-อรรถพันธ์ พูลสวัสดิ์, เต-ตะวัน วิหครัตน์ และ นิว-ฐิติภูมิ เตชะอภัยคุณ ก็มี BELUCA 1st Fan Meet ในหลายเมืองทั่วเอเชียเช่นกัน

 

 

นอกจากค่ายใหญ่อย่าง GMMTV แล้ว ปีนี้ช่อง one31 ก็มีโอกาสส่งนักแสดงไปเจอแฟนๆ ในแถบเอเชียด้วยเช่นกัน อย่างคู่นักแสดงจากละคร คุณชาย ก็ได้ส่ง ฟิล์ม-ธนภัทร กาวิละ และ แจม-รชตะ หัมพานนท์ ไปจัดแฟนมีตติ้งที่ฮ่องกง มาเก๊า และญี่ปุ่น เช่นเดียวกับซีรีส์ เชือกป่าน Between Us, รักไม่รู้ภาษา Love in Translation ฯลฯ ก็มีโอกาสได้ไปทำการแสดงในหลากหลายเมืองเช่นกัน

 

นอกจากแถบเอเชียแล้ว ปีนี้เรายังได้เห็นนักแสดงหลายคนบินไปจัดแฟนมีตติ้งถึงทวีปยุโรปและลาตินอเมริกา อย่างคู่ ฟอส-จิรัชพงศ์ ศรีแสง และ บุ๊ค-กษิดิ์เดช ปลูกผล ก็เพิ่งมีแฟนมีตติ้งที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ไปเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พร้อมกับนักแสดงคนอื่นๆ อย่าง มอส-ภาณุวัฒน์ โสประดิษฐ, แบงค์-มณฑป เหมตาล และ โนอึล-ณัฐรัชต์ ตังวาย 

 

ส่วน 3 นักแสดงจากค่าย Studio Wabi Sabi อย่าง บุ๋น-นพณัฐ กันทะชัย, เอิร์ธ-กัษมนณัฎฐ์ นามวิโรจน์ และ แซนต้า-พงศภัค อุดมโภชน์ ก็มีโอกาสเดินทางโชว์ในลาตินอเมริกาถึง 4 เมืองคือ รีโอเดอจาเนโร, เซาเปาโล, ฟอร์ตาเลซา ของบราซิล และซานติอาโกที่ชิลี ในขณะที่อีกสองนักแสดงจาก GMMTV อย่าง เฟิร์ส-คณพันธ์ ปุ้ยตระกูล และ ข้าวตัง-ธนวัฒน์ รัตนกิจไพศาล ก็เพิ่งกลับมาจากงานแฟนมีตติ้งของตัวเองที่บราซิลไม่นานนี้เช่นกัน

 

การส่งออกโชว์และแฟนมีตติ้งของซีรีส์วายในปีนี้จึงนับว่าเติบโตขึ้นอย่างมาก แม้ว่ากระแสทางโซเชียลจะสู้ปีก่อนๆ ไม่ได้ แต่พวกเขาก็ยังสามารถเจาะตลาดในประเทศใหม่ๆ และสะสมไมล์เดินทางไปในเมืองที่ไกลขึ้นเรื่อยๆ ได้เสมอ

 

 

แม้กระแสไม่หวือหวา แต่เนื้อหายังคงน่าสนใจ

 

แม้ว่ากระแสของซีรีส์วายในปีนี้จะไม่ได้หวือหวาเหมือนที่ผ่านๆ มา แต่ในด้านของเนื้อหาแล้ว ผู้ผลิตซีรีส์วายยังคงเป็นกลุ่มคนที่น่าชื่นชมในด้านการคัดสรรและนำเสนอเนื้อหาใหม่ๆ เช่นเคย โดยเฉพาะในปีนี้ที่ซีรีส์วายมีความหลากหลายทางเนื้อหาเพิ่มขึ้นมาก จากเนื้อหาที่วนอยู่ในรั้วโรงเรียน รั้วมหาวิทยาลัยเป็นส่วนใหญ่ ปีนี้เราได้เห็นซีรีส์ที่กระโดดมาอยู่ในออฟฟิศมากขึ้น ได้เห็นตัวละครในช่วงวัยที่โตขึ้น และยังได้เห็นเนื้อหาเชิงแฟนตาซีเพิ่มขึ้นอีกด้วย

 

จากการรวบรวมซีรีส์ Boy’s Love และ Girl’s Love ที่มีตอนฉายในปีนี้ทั้งหมดจำนวน 67 เรื่อง (โดยไม่นับมินิซีรีส์และภาพยนตร์) มีซีรีส์ BL จำนวน 64 เรื่อง และซีรีส์ GL จำนวน 3 เรื่อง หากรวมซีรีส์ที่มีตัวละครหลักทั้งหมดเป็นวัยเรียน หรือมีโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเป็นสถานที่หลักๆ จะได้ซีรีส์เนื้อหาคล้ายกันทั้งหมดราวๆ 20 เรื่อง หรือประมาณ 29% ของซีรีส์ทั้งหมด ซึ่งน้อยลงกว่าปีที่แล้วที่มีราวๆ 50% เลยทีเดียว

 

 

ดังนั้นปีนี้จึงเป็นปีที่ผู้จัดหันมาทำซีรีส์ที่มีตัวดำเนินเรื่องหลักเป็นวัยทำงานมากขึ้น หากนับคร่าวๆ ก็จะมีประมาณ 29 เรื่อง โดยมีพื้นหลังเป็นออฟฟิศทั้งหมด 6 เรื่อง และอาชีพอื่นๆ อีก 23 เรื่อง ครอบคลุมเนื้อหาทั้ง Coming of Age, แฟนตาซี, แอ็กชัน และโรแมนติก-คอเมดี้ เช่น Moonlight Chicken พระจันทร์มันไก่ ซีรีส์บอกเล่าชีวิตกลางคืนของชายขายข้าวมันไก่และผู้คนที่รายล้อมเขา, ค่อยๆ รัก Step By Step ที่ตีแผ่ชีวิต First Jobber ไว้ได้อย่างครบถ้วน, องศาสูญ Absolute Zero Series ซีรีส์แฟนตาซีย้อนเวลา ที่จะพาตัวละครไปเจอกับแฟนคนปัจจุบันในอดีต ฯลฯ

 

นอกจากนี้ ซีรีส์อีกประเภทที่มีมาให้เห็นบ้างก็คือซีรีส์แนวแฟนตาซีที่มีทั้งหมด 13 เรื่อง เช่น Midnight Museum พิพิธภัณฑ์รัตติกาล ที่บอกเล่าเรื่องพิพิธภัณฑ์ของอาถรรพ์ลึกลับ พร้อมอัดแน่นด้วยนักแสดงมากฝีมืออย่าง กัน-อรรถพันธ์ พูลสวัสดิ์ และ ต่อ-ธนภพ ลีรัตนขจร, บทกวีของปีแสง Be My Favorite ซีรีส์ย้อนเวลาอีกหนึ่งเรื่อง, The Sign ลางสังหรณ์ ซีรีส์แอ็กชันที่มาพร้อมพญานาค และอีกมากมาย นอกจากนี้เรายังได้เห็นซีรีส์แนว Horror-Thriller เพิ่มขึ้นมาถึงสองเรื่องคือ Shadow เงา / ล่า / ตาย ซีรีส์จากบทผู้ชนะในงาน Viu Pitching Forum 2021 และ The Whisperer ศพกระซิบ ซีรีส์จากนิยายสยองขวัญของ ภาคินัย ที่หลอนสุดพลังตั้งแต่ตัวอย่างแรก

 

 

ด้านซีรีส์แนวพีเรียดที่คาดว่าจะได้เห็นอย่างน้อย 3-4 เรื่องในปีนี้ สุดท้ายก็ออกอากาศไปเพียงเรื่องเดียวคือ หอมกลิ่นความรัก I Feel You Linger In The Air ที่นำแสดงโดย ไบร์ท-รพีพงศ์ ทับสุวรรณ และ นน-ชานน สันตินธรกุล ในขณะที่ซีรีส์แนวสืบสวนสอบสวนก็มีให้เห็นน้อยลงเช่นเดียวกัน

 

อย่างไรก็ตาม ปีนี้ถือว่าวงการซีรีส์วายผลิตเนื้อหาออกมาได้หลากหลายและน่าสนใจ ทั้งในเชิงของตัวละครที่มีมาให้เห็นตั้งแต่นักเรียน, คนทำงาน, ลุงขายข้าวมันไก่ ไปยันพญานาค แถมยังพูดถึงประเด็นเรื่องคนพิการ, ความเท่าเทียมทางเพศ, แรงกดดันในสถานที่ทำงาน, ค่านิยมของสังคม ฯลฯ ออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติและน่าสนใจ เรียกได้ว่ามีไอเดียใหม่มาเสิร์ฟผู้ชมแบบไม่ซ้ำเลยทีเดียว

 

 

ฉาก NC ของต้องมี ต้องมีจริงหรือ?

 

แม้ว่าในปีนี้จะมีซีรีส์เนื้อหาสดใหม่มาให้ได้ชมอยู่ตลอด แต่ตัวผู้เขียนเองก็สังเกตได้ถึงความหวือหวาของฉากเซ็กซ์ซีน (NC) ที่ทวีความเข้มข้นขึ้นในซีรีส์วายหลายๆ เรื่อง จนอาจจะพูดได้ว่าเลิฟซีนแบบที่ตัดเข้าโคมไฟ ผ้าม่าน ตุ๊กตาหมา แทบจะไม่มีให้เห็นแล้วในซีรีส์วายทุกวันนี้ จนนำมาซึ่งคำถามที่ยังหาคำตอบไม่ได้ว่า 

 

‘ตกลงแล้วฉาก NC ที่ร้อนแรงอย่างทุกวันนี้ มีความจำเป็นจริงหรือไม่ในเชิงเนื้อหา?’

 

การมีอยู่ของฉากเหล่านี้ ฝั่งหนึ่งอาจจะมองได้ว่ามันยังสำคัญกับเนื้อเรื่องในแง่ความสัมพันธ์ของตัวละคร การบอกเล่าถึงบริบทบางอย่าง และยังช่วยเพิ่มอรรถรสในการรับชมได้ นอกจากนี้ยังทำให้ความเข้าใจเรื่องเพศที่มักจะถูกพูดถึงอย่างเขินอาย สามารถสื่อสารถึงผู้ชมได้อย่างเปิดกว้างมากขึ้น

 

ซึ่งหากมองในมุมนี้ การใส่ฉาก NC เข้าไปก็ไม่น่าใช่เรื่องผิดอะไร หากมีการออกอากาศในช่องทางที่เหมาะสม แถมยังได้ผลตอบรับเป็นความนิยมของผู้ชมที่มากขึ้นด้วย สังเกตได้จากการพูดถึงในอินเทอร์เน็ต ที่หลายครั้งเราก็มักจะเห็นผู้ชมบางกลุ่มเลือกหยิบฉากเหล่านี้ไปพูดต่อในช่องทางอื่นๆ จนกลายเป็นกระแสแบบปากต่อปาก

 

ในทางตรงกันข้าม การมีอยู่ของฉาก NC อาจไม่ได้มีความจำเป็นมากไปกว่าเพื่ออรรถรสอย่างที่กล่าวไป เพราะในหลายครั้งการเปลี่ยนเอาฉากเหล่านี้ออกไปก็แทบไม่ได้ส่งผลใดๆ กับเนื้อหา และหลายครั้งผู้จัดเองก็เลี่ยงที่จะออกอากาศซีนเหล่านี้ โดยการทำซีรีส์เป็น 2 เวอร์ชันคือ แบบปกติและ Uncut มาให้ผู้ชมได้เลือกดู โดยรูปแบบหลังมักจะมีความยาวของเลิฟซีนหรือเซ็กซ์ซีนที่มากกว่าแบบปกติ ซึ่งอาจหมายความได้ว่า แม้ผู้จัดจะตัดซีนเหล่านี้ออกไปบ้าง ก็แทบจะไม่ทำให้เนื้อหาของเรื่องเปลี่ยนไปเท่าไรนัก

 

นอกจากนี้ การมีอยู่ของฉาก NC ก็เป็นเรื่องที่น่ากังวลไม่น้อย เพราะในหลายครั้งฉากตอนเหล่านี้เพียงถูกจับยัดลงไปเพื่อสร้างกระแสให้กับซีรีส์ โดยที่ไม่ได้คำนึงว่ามันอาจสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับประเด็นเรื่องเพศในเชิงเดียวกันได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมิติทางเพศ, การป้องกันระหว่างมีเพศสัมพันธ์, การขอความยินยอม (Consent) ฯลฯ บวกกับระบบการคัดกรองผู้ชมที่ทำได้ยากมากๆ ในโลกอินเทอร์เน็ตทุกวันนี้ ทำให้ผู้ชมที่มีอายุน้อยกว่าเกณฑ์การรับชมสามารถเข้าถึงคอนเทนต์แบบนี้ได้โดยง่าย 

 

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ยังคงเป็นสิ่งที่ต้องจับตาและหาคำตอบกันต่อไปว่า ตกลงแล้วฉากตอนเหล่านี้ยังมีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน และผู้ผลิตเองจะหาจุดตรงกลางให้มันได้อย่างไร ในขณะที่ต้องดำเนินเนื้อเรื่องไปพร้อมกับเสิร์ฟความต้องการของคนดู

 

 

อย่างไรก็ตาม บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อสรุปภาพรวมของวงการซีรีส์วายทั้ง Boy’s Love และ Girl’s Love ในปี 2566 จากข้อมูลและมุมมองที่ผู้เขียนพอจะหาได้เท่านั้น แต่พัฒนาการของวงการในภาพรวมที่เห็นนี้จะเป็นไปในทางใดต่อไป คงต้องฝากผู้อ่าน แฟนๆ และผู้จัดทุกท่าน ให้ช่วยกันสนับสนุนและผลักดันวงการนี้ไปด้วยกัน อย่างน้อยในท้ายที่สุดเราอาจจะได้ยืดอกภูมิใจกับสถานะ Soft Power ที่หลายคนยกให้ได้อย่างเต็มที่

 

ภาพ: BedFriendSeries / X, TheLoyalPin / X, ShowmeLove_O / X, GMMTV, Dee Hup House, Viu

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X