กรุงปักกิ่งเผชิญภาวะคลื่นความเย็นที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ นับตั้งแต่มีการบันทึกในปี 1951 ท่ามกลางอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส ต่อเนื่องกว่า 300 ชั่วโมง
โดย Beijing Daily สื่อทางการจีน รายงานผลการตรวจวัดระดับอุณหภูมิจากสถานีตรวจอากาศหนานเจียว พบว่าอุณหภูมิในกรุงปักกิ่งเพิ่มขึ้นสูงกว่า 0 องศาเซลเซียส เมื่อช่วงบ่ายวานนี้ (24 ธันวาคม) ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม
ขณะที่คลื่นความเย็นดังกล่าว ซึ่งไหลเวียนมาจากแถบขั้วโลกเหนือ (Arctic) ส่งผลให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนเผชิญกับความหนาวเย็นทำลายสถิตินับตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว โดยบางพื้นที่มีระดับอุณหภูมิต่ำสุดถึงติดลบ 40 องศาเซลเซียส อีกทั้งยังเกิดพายุหิมะปกคลุมในกรุงปักกิ่งและอีกหลายเมือง
ผลกระทบจากภาวะคลื่นความเย็นที่รุนแรง ยังส่งผลให้ระบบทำความร้อนในหลายเมืองทางตอนเหนือถึงขีดจำกัด
โดยที่เมืองเจียวจัว (Jiaozuo) มณฑลเหอหนาน พบว่าระบบทำความร้อนบางส่วนของเมืองไม่สามารถใช้การได้จากปัญหาขัดข้องในโรงไฟฟ้า ซึ่งทางการกำลังเร่งแก้ไข
ขณะที่อีก 2 เมืองในเหอหนาน ได้แก่ ผูหยาง (Puyang) และผิงติ่งชาน (Pingdingshan) ทางการต้องตัดระบบทำความร้อนในอาคารรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ เพื่อให้โรงพยาบาล โรงเรียน และอาคารที่พักอาศัยได้ใช้ก่อน
ออสเตรเลียอ่วมคลื่นความร้อน
ที่ออสเตรเลีย พบว่าประชาชนในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย (Western Australia) รัฐที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ กำลังเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัดตรงข้ามกับจีน อันเป็นผลจากสภาวะคลื่นความร้อน และมีรายงานว่าเกิดไฟป่ากว่า 20 จุดวานนี้ ขณะที่ทางการได้ประกาศเตือนความเสี่ยงสูงในการเกิดไฟป่ามากขึ้นในหลายพื้นที่ และเตือนระดับอุณหภูมิในบางพื้นที่อาจเพิ่มสูงถึง 45 องศาเซลเซียส
ที่เมืองเพิร์ท เมืองเอกของรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย พบว่าอุณหภูมิสูงสุดวานนี้อยู่ที่ 35 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยอุณหภูมิในเดือนธันวาคมมากกว่า 5 องศาเซลเซียส
ขณะเดียวกัน พื้นที่ฝั่งตะวันออกของออสเตรเลียก็กำลังเผชิญอากาศร้อนจัด อันเป็นผลจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งอุณหภูมิในมหาสมุทรแปซิฟิกที่อบอุ่นผิดปกติ ส่งผลให้เกิดคลื่นความร้อน ไซโคลน ความแห้งแล้ง และไฟป่า
อ้างอิง: