วันนี้ (21 ธันวาคม) ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร โดยมี ชัยชนะ เดชเดโช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการเป็นประธานในการประชุม ได้มีการพิจารณาคำร้องของ วัชระ เพชรทอง ที่ขอให้ทาง กมธ.การตำรวจตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่ารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจจริงหรือไม่
กมธ.การตำรวจได้เชิญ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มาชี้แจง ซึ่ง พ.ต.อ. ทวี มอบหมายให้ สิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นผู้มาชี้แจงแทน รวมถึง นัสที ทองปลาด ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร, นพ.พงศ์ภัค อารียาภินันท์ นพ.ชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์
เอกอิศร์ ทองเนื้อดี นักทัณฑวิทยาชำนาญการพิเศษ กองทัณฑวิทยา, ชตฤณ พลอยคำ นักทัณฑวิทยาชำนาญการพิเศษ กองทัณฑวิทยา, ขนิษฐา โชติจันทร์ นิติกรชำนาญการพิเศษ กองกฎหมาย, ปริญญา สร้อยสน พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รักษาการนักวิชาการชำนาญการพิเศษ กองบริการทางการแพทย์ และ พล.ต.ต. สามารถ ม่วงศิริ นายแพทย์ (สบ 7) โรงพยาบาลตำรวจ
ก่อนเริ่มการประชุม วัชระได้ขออนุญาตประธานเพื่ออภิปรายในที่ประชุมต่อหน้าสื่อมวลชนว่า ตนในฐานะผู้ร้องเรียนได้ขอให้ กมธ.การตำรวจสืบหาข้อเท็จจริงว่า 1. ทักษิณรักษาตัวอยู่ตลอดเวลาจริงหรือไม่ 2. การที่ทักษิณออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไปที่โรงพยาบาลตำรวจในช่วงเที่ยงคืนของวันที่ 23 สิงหาคม 2566 ขอถามว่าแพทย์ที่รักษาทักษิณได้มีการตรวจจริงหรือไม่ มีความจำเป็นที่จะต้องไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจใช่หรือไม่
นอกจากนี้ การก้าวเท้าสู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ที่มีกล้องวงจรปิดทุกตารางนิ้วนั้น ตนขอให้มีการทำเป็นวิดีโอนำส่งต่อ กมธ.การตำรวจ ซึ่งเมื่อทักษิณไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ แต่ปรากฏว่ากล้องวงจรปิดเสียทุกชั้นทุกห้องตั้งแต่ปีที่แล้ว จึงไม่มีภาพมายืนยันให้กับสาธารณชน อย่างไรก็ตาม ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้ให้การยืนยันต่อ กมธ.การตำรวจว่า ผู้คุมของทักษิณได้รายงานตลอดทุก 2 ชั่วโมง
วัชระกล่าวอีกว่า ทักษิณไม่ได้มีการลงทะเบียนประวัตินักโทษตามแบบฟอร์ม รท.101 เจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้คุมชั้นผู้น้อยเกรงกลัว ไม่กล้าสอบถาม และผู้บังคับบัญชาไม่ได้สั่งการให้ทักษิณกรอกใบทะเบียนประวัติเหมือนกับนักโทษคนอื่น ถามว่าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มีข้อยกเว้นอะไร เพราะในใบนั้นมีทั้งหนังสืออายัดตัวผู้ต้องขัง การอภัยโทษ การพักโทษ และเจ้าพนักงานทะเบียนต้องลงชื่อ เป็นไปได้อย่างไรที่นักโทษคนนี้ไม่ต้องกรอกประวัติ ซึ่งเรื่องนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพราะถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอาญา มาตรา 157
เตรียมไปโรงพยาบาลตำรวจ 12 มกราคม 2567
ชัยชนะกล่าวภายหลังประชุมว่า ในที่ประชุมได้ข้อสรุปมาว่าการวินิจฉัยว่าให้ทักษิณเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลใดนั้นเป็นความคิดเห็นของแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เนื่องจากทักษิณมีโรคไวรัสตับอักเสบบี มีอาการแน่นหน้าอกในช่วงกลางดึก และเคยมีโรคเกี่ยวกับปอดจากโรคโควิด แพทย์จึงมีความเห็นให้รักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ
ขณะเดียวกันเงินที่ใช้รักษาตัวของทักษิณนั้นเป็นการใช้สิทธิตามสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และทางกรมราชทัณฑ์แจ้งว่า หากใช้เกินสิทธิที่ สปสช. กำหนด ผู้ต้องขังมีสิทธิจ่ายเงินส่วนต่างได้ ตนจึงถามกลับไปว่า มีระเบียบข้อไหนที่ระบุว่าสามารถดำเนินการเช่นนี้ได้ ก็ขอให้กรมราชทัณฑ์ส่งเอกสารกลับมายัง กมธ.การตำรวจ
ชัยชนะกล่าวอีกว่า กรมราชทัณฑ์ได้ชี้แจงในที่ประชุมถึงกรณีการกรอกประวัติทางอิเล็กทรอนิกส์ว่า ทักษิณได้กรอกประวัติก่อนเข้ารับโทษที่เรือนจำกรุงเทพฯ อย่างครบถ้วนถูกต้องเรียบร้อย ทั้งนี้ทางผู้ร้องได้ขอประวัติที่มีการกรอกเอกสารแบบสิ่งพิมพ์ (รท.101) ด้วย ซึ่งทางกรมราชทัณฑ์แจ้งว่าจะรวบรวมส่งเอกสารมาให้หลังจากนี้
ชัยชนะกล่าวว่า กมธ.การตำรวจมีกำหนดการที่จะไปศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลตำรวจในวันที่ 12 มกราคม 2567 เวลา 09.30 น. หากในวันดังกล่าวไม่ติดกำหนดการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 หากติดก็กำหนดเป็นวันถัดไป
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงการลงพื้นที่ในวันที่ 12 มกราคม 2567 จะมีการตรวจสอบอะไรบ้าง ชัยชนะกล่าวว่า ดูทั้งหมด ทั้งการรักษาตัว การปฏิบัติต่อผู้ป่วยที่เป็นผู้ต้องขังของโรงพยาบาลตำรวจว่าพักรักษาตัวที่ห้องใด ตึกใด และมีขั้นตอนมาตรการควบคุมผู้ต้องขังอย่างไร
เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อว่า จะไปชั้น 14 ด้วยหรือไม่ ชัยชนะกล่าวว่า ไปทุกชั้นที่มีผู้ต้องขังอยู่ เพราะเราไปศึกษาดูงาน
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากโรงพยาบาลตำรวจไม่ให้เข้าชั้น 14 โดยอ้างว่าเป็นสิทธิของผู้ป่วย ชัยชนะกล่าวว่า เราจะทำหนังสือแจ้งไปที่โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อเดินทางไปสืบหาข้อเท็จจริงให้สังคมไทยหายสงสัย ก็เป็นสิทธิของโรงพยาบาลตำรวจที่จะตอบว่าจะอนุญาตแค่ไหน ตนไม่อาจก้าวล่วงได้
เมื่อผู้สื่อข่าวถามอีกว่า ถ้าโรงพยาบาลตำรวจไม่อนุญาต กมธ.การตำรวจมีสิทธิทำอะไรหรือไม่ ชัยชนะกล่าวย้ำว่า ก็เป็นสิทธิของโรงพยาบาลตำรวจที่จะต้องตอบสังคมให้ได้ว่าเพราะอะไร มีเหตุผลอะไรบ้าง
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มั่นใจหรือไม่ว่าในวันที่ 12 มกราคม 2567 ทักษิณจะยังอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ ชัยชนะกล่าวว่า “ผมไม่ใช่เทวดาที่จะตอบได้ ถูกไหมครับ ถ้าผมเป็นเทวดา ผมจะตอบได้ว่าจะอยู่หรือไม่อยู่ แต่ 12 มกราคมต้องขึ้นอยู่ที่ว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบจะให้สิทธิกับนักโทษคนใดอย่างไร ถ้าผมไปตอบว่าอยู่ แต่ไม่อยู่ ผมก็เสียหน้า ตอบว่าไม่อยู่ แต่อยู่ ผมก็เสียหน้า เพราะฉะนั้นผมยังไม่ตอบ ผมไม่ได้เป็นซูเปอร์แมนที่เนรมิตให้ทุกอย่างเกิดขึ้นได้”
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีการปฏิบัติแบบสองมาตรฐาน กมธ.การตำรวจได้คลายข้อสงสัยตรงนี้หรือไม่ ชัยชนะกล่าวว่า ก็ยังไม่คลาย เพราะต้องรอเอกสารที่กรมราชทัณฑ์ชี้แจงว่าผู้ต้องหาใช้บัตรทองในการรักษาตัว ซึ่งเมื่อเกินสิทธิบัตรทองมีระเบียบข้อใดรองรับให้สามารถใช้เงินของครอบครัวได้หรือไม่ ถ้ามีรองรับเราก็จะได้ประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนทราบว่า “ถ้าอยากใช้สิทธิเหนือนักโทษคนอื่นก็สามารถใช้ได้ แต่ใช้เงินตัวเอง”