×

จับชีพจรเศรษฐกิจโลกและไทยในปี 2024

22.12.2023
  • LOADING...
เศรษฐกิจโลกและไทย

เศรษฐกิจไทยในปี 2023 เติบโตต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ โดยในช่วง 9 เดือนแรก เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพียง 1.9% ซึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกที่ชะลอตัวตามอุปสงค์ในตลาดโลก และรายได้จากภาคการท่องเที่ยวที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวัง ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาต่ำกว่าเป้าหมาย เพียงแค่ 30 ล้านคนเท่านั้น ประกอบกับการหายไปของนักท่องเที่ยวจีนซึ่งมีการใช้จ่ายต่อหัวสูง 

 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้หน่วยงานสำคัญหลายแห่งพร้อมใจกันปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2023 ลงจากเดิม โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับตัวเลขคาดการณ์ GDP ลงจาก 2.8% เหลือ 2.4% ขณะที่สภาพัฒน์และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดว่า GDP ไทยในปี 2023 จะขยายตัวได้เพียง 2.5% และ 2.4% ตามลำดับ 

 

เมื่อมองต่อไปในข้างหน้า หรือปี 2024 เศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง โดยสหรัฐฯ และยุโรปอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงกว่ากรอบเป้าหมาย แต่เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ประเด็นหลักที่ต้องจับตาในปีหน้านี้ อาจต้องโฟกัสที่ความคาดหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงกลางปี 2024 ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ทั้งนี้ ธนาคารกลางอื่นๆ มีแนวโน้มจะผ่อนคลายและลดดอกเบี้ยเช่นกัน แต่อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่แตกต่างกันไป ยกเว้นธนาคารกลางญี่ปุ่นที่จะใช้นโยบายการเงินสวนทางกับธนาคารกลางอื่นๆ คาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะเริ่มปรับนโยบายการเงินให้เป็นปกติมากขึ้นในช่วงการประชุมนโยบายการเงินเดือนเมษายน 2024

 

ขณะที่เศรษฐกิจจีน อีกหนึ่งคู่ค้าสำคัญของไทย ก็มีแนวโน้มจะเติบโตไม่ถึง 5% แม้จะมีข้อมูลรายงานทางเศรษฐกิจว่าจีนเริ่มจะดีขึ้น แต่ความเชื่อมั่นยังเปราะบาง ในปี 2024 ภาคอสังหาริมทรัพย์อาจยังเป็นตัวฉุดอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ คาดว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจะออกมาเพิ่มเติมในปี 2024 รวมไปถึงมาตรการผ่อนคลายภาคอสังหาริมทรัพย์และนโยบายการคลังที่เพิ่มมากขึ้น จะช่วยเพิ่มความเติบโตทางเศรษฐกิจให้จีนได้ 

 

ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้คาดการณ์ไว้ในรายงานฉบับปรับปรุงล่าสุดว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2024 จะขยายตัวได้เพียง 2.9% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตระหว่างปี 2000-2019 ที่โตเฉลี่ยถึงปีละ 3.8% โดยคาดว่าเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Market) อาจโตได้เพียง 1.4% ในปี 2024 

 

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจของเอเชีย (ไม่รวมจีน) ซึ่งได้แก่ อาเซียน-5 เกาหลีใต้ และไต้หวัน มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีขึ้น เฉลี่ยที่อัตรา 3.7% นอกจากนี้ ภูมิภาคตะวันออกกลางและอินเดียก็มีแนวโน้มเติบโตได้ในระดับสูงขึ้นที่ประมาณ 3.4% และ 6.3% ตามลำดับ ทำให้อาจเป็นปัจจัยสนับสนุนการส่งออกของไทยในปีข้างหน้า โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และในภาคอุตสาหกรรมอาหาร 

 

แม้ในภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปี 2024 อาจเติบโตได้ไม่สูงมากนัก แต่ทิศทางเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวในอัตราที่เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าจาก 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ 

 

  1. การกลับมาขยายตัวของการส่งออก โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยฐาน 
  2. การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งหากนโยบาย Digital Wallet ของรัฐบาลไทยสามารถดำเนินการได้ ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มการเติบโตของ GDP 
  3. การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว

 

โดยประมาณการล่าสุดของสภาพัฒน์คาดว่า การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนของไทยในปี 2024 จะขยายตัวที่ 3.2% และ 2.8% ตามลำดับ ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวที่ 3.8% ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2024 คาดว่าจะแตะราว 35 ล้านคน ซึ่งฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่อง ทำให้ภาพรวม GDP ไทยมีโอกาสขยายตัวได้ในกรอบ 2.7-3.7% (ค่ากลางอยู่ที่ 3.2%) 

 

มุมมองดังกล่าวมีความสอดคล้องกับของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปมีแนวโน้มจะขยายตัวสมดุลมากขึ้น ภายใต้บริบทที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง และภาคการส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัว ทำให้ GDP ในปี 2024 น่าจะขยายตัวได้ 3.2% (ไม่รวมผลจากนโยบาย Digital Wallet

 

อย่างไรก็ดี ยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกที่ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด อาทิ สงครามอิสราเอล-ฮามาส ที่แม้ปัจจุบันจะส่งผลกระทบต่อการค้าและการส่งออกไทยไม่มากนัก แต่หากสถานการณ์ลุกลามรุนแรง เศรษฐกิจโลกรวมถึงไทยอาจได้รับผลกระทบผ่านราคาน้ำมันโลก และความผันผวนในตลาดการเงินโลกที่ปรับสูงขึ้น 

 

ในขณะเดียวกันก็ต้องจับตาวิกฤตภัยแล้งในหลายพื้นที่ที่อาจส่งผลต่อผลผลิตของพืชเศรษฐกิจสำคัญ โดยความเสี่ยงทั้งจากต้นทุนราคาอาหารที่อาจปรับสูงขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญ รวมถึงความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ที่อาจส่งผลให้ราคาพลังงานโลกปรับสูงขึ้น ยังมีโอกาสสร้างแรงกดดันต่อสถานการณ์เงินเฟ้อและการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้

 

สำหรับการลงทุนในปี 2024 UOB Privilege Banking แนะนำให้ผู้ลงทุน ‘Stay Defensive’ โดยกระจายการลงทุนเพื่อข้ามผ่านช่วงความไม่แน่นอนเชิงภูมิรัฐศาสตร์ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยสินทรัพย์ที่น่าลงทุนในปี 2024 ได้แก่ ตราสารหนี้คุณภาพดี (Investment Grade) เพื่อสร้างกระแสรายได้ (Income) ที่สม่ำเสมอ ทั้งนี้ รวมไปถึงกองทุนรวมตราสารหนี้ทั่วโลก (Global Bond Fund) และกองทุนผสม (Multi Asset) ที่มีการกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหุ้น ตราสารหนี้ หรือสินทรัพย์อื่นๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง ทุกสินทรัพย์มีทั้งปีที่ดีและปีที่ไม่ดี เพื่อไม่พลาดโอกาสการลงทุนในทุกสภาวะตลาด


สำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้เพิ่มสูงขึ้น แนะนำกระจายการลงทุนในกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นปันผล เนื่องจากรายได้จากเงินปันผลจะช่วยสร้างผลตอบแทนรวมให้ดีขึ้น รวมไปถึงหุ้นกลุ่ม Quality Growth คัดเลือกหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี งบการเงินแข็งแกร่ง และมีโอกาสการเติบโตที่ดี นอกจากนี้กลุ่ม Defensive อย่างกลุ่ม Global Healthcare ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจลงทุน เนื่องจากรายได้ไม่ได้ผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจ และยังมีปัจจัยขับเคลื่อนเชิงโครงสร้างระยะยาวจากสังคมผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น นวัตกรรมยาและการรักษาที่มีการพัฒนาต่อเนื่อง ส่งผลให้หุ้นกลุ่มนี้ยังมีความน่าสนใจในระยะยาว 

 

ทั้งนี้ นักลงทุนสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม หรือติดต่อที่ปรึกษาทางการเงิน (Client Advisor) ของ UOB Privilege Banking ได้ที่ โทร. 0 2081 0999 หรือ คลิก www.uob.co.th/privilegebanking

 

เศรษฐกิจโลกและไทย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X