ทำไมลูกค้าต้องจ่ายเงินส่วนหนึ่งของค่าสินค้าเพื่อมาเป็นค่าแพ็กเกจจิ้งที่ไร้ประโยชน์และถูกโยนทิ้งไปกลายเป็นขยะปัญหาสิ่งแวดล้อมในที่สุด
นี่เป็นคำถามในใจของผู้ร่วมก่อตั้ง Lush Cosmetics ธุรกิจผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและเครื่องสำอางสีสันสดใสจากอังกฤษที่มีสินค้าขายดีอย่างสบู่ โลชัน และแชมพูที่ ‘คิดต่าง’ ขายแบบ ‘เปลือยๆ’ ไร้บรรจุภัณฑ์เป็นสินค้าหลัก หากนับแค่ยอดขายแชมพูก้อนสำหรับสระผมอย่างเดียว Lush Cosmetics ก็ช่วยกำจัดขวดแชมพูพลาสติกไปเกือบ 6 ล้านขวดต่อปี
มาร์ก คอนสแตนติน (Mark Constantine) ผู้เชี่ยวชาญด้านผมและหนังศีรษะและอลิซาเบธ เวียร์ (Elizabeth Weir) ผู้เชี่ยวชาญด้านความงามร่วมกันก่อตั้ง Lush Cosmetics ใน ค.ศ. 1995 หลังจากทำธุรกิจเครื่องสำอางด้วยกันตั้งแต่ช่วงปี 80s ช่วงเดียวกับที่ แอนนิต้า ร็อดดิกค์ (Anita Roddick) เริ่มก่อตั้ง The Body Shop แบรนด์เครื่องสำอางที่มีพันธกิจด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นและเป็นผู้บุกเบิกด้านความยั่งยืน (Sustainability) ของธุรกิจเครื่องสำอาง เช่น การไม่ทดลองผลิตภัณฑ์กับสัตว์ และการส่งเสริมการค้าที่เป็นธรรม (Fair Trade) ในการซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกร
มาร์กอ่านเจอเรื่องราวของแอนนิต้าและรู้สึกชื่นชมในอุดมการณ์ เขาจึงโทรหาเธอเพื่อนำเสนอสินค้าที่เขามีก่อนจะกลายเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ของ The Body Shop จนกระทั่งซื้อกิจการของพวกเขาไป มาร์ก อลิซาเบธ และเพื่อนๆ จึงได้ก่อตั้งร้านเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมจากสารธรรมชาติล้วนและผลิตด้วยมือในชื่อ Lush Cosmetics ในเวลาต่อมา
จากร้านเครื่องสำอางทำมือเล็กๆ ในเมือง Poole ประเทศอังกฤษ ปัจจุบัน Lush Cosmetics มีสาขา 932 แห่งใน 50 ประเทศ (รวมทั้งประเทศไทย) ปี 2017 บริษัทมีรายได้ 995 ล้านปอนด์ (43,200 ล้านบาท) เติบโตขึ้น 36% จากปีก่อนหน้า และมีกำไรก่อนหักภาษีอยู่ที่ 7%
ผลิตภัณฑ์ของ Lush Cosmetics เป็นมิตรกับคนที่เป็นมังสวิรัติและวีแกน (Vegan) ที่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากสัตว์ เช่น สบู่จากไขมันสัตว์ และไม่มีส่วนผสมจากน้ำมันปาล์ม วัตถุดิบเจ้าปัญหาที่ทำลายล้างป่าไม้และบ้านของสัตว์ป่า เช่น ลิงอุรังอุตังและสร้างปัญหาหมอกควันในหลายพื้นที่ เช่น อินโดนีเซีย ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของเรา
สิ่งแวดล้อมถือเป็นหนึ่งในหัวใจของการทำธุรกิจของ Lush Cosmetics บริษัทถือเป็นผู้บุกเบิกผลิตภัณฑ์แชมพู สบู่ โลชันแบบไม่มีบรรจุภัณฑ์ คือ ซื้อขายเป็นก้อนใส่ถุงกระดาษรีไซเคิล
แชมพูแบบ ‘ก้อน’ ของ Lush Cosmetics สระผมได้ 100 ครั้ง และแทนที่แชมพูในขวดพลาสติกขนาด 250 กรัม ได้ 3 ขวด นอกเหนือจากการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การ ‘เปลือย’ สินค้าจากแพ็กเกจจิ้งทำให้ลูกค้าสัมผัสกับผลิตภัณฑ์ได้โดยตรง สีสันสดใสและกลิ่นหอมจากสบู่และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาในร้าน
บริษัทเชื่อในเรื่องการซื้อของด้วย ‘คุณค่า’ ของสินค้าชิ้นนั้น ลูกค้าควรสนใจคุณสมบัติของสินค้าจริงๆ มากกว่าบรรจุภัณฑ์ Lush Cosmetics จึงไม่เคยมีโปรโมชันแบบซื้อ 3 แถม 1 เพราะเป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโภคซื้อด้วยราคามากกว่าจะอยากได้ของจริงๆ เราอาจจะได้เห็นร้านของ Lush Cosmetics ลดราคาบ้างในช่วงใกล้คริสต์มาสเพื่อให้ลูกค้าซื้อไปเป็นของขวัญให้กัน
มาร์กมองว่าเขาอยากให้ธุรกิจเครื่องสำอางหยุดทำตัวเป็น ‘แผนกย่อย’ ของธุรกิจบรรจุภัณฑ์ เครื่องสำอางในปัจจุบันใช้แพ็กเกจจิ้งปริมาณมหาศาล เขามองว่าผู้บริโภคกำลังจ่ายให้ค่าบรรจุภัณฑ์มากกว่าค่าสินค้าจริงๆ หากผู้ผลิตอย่างเขาส่งมอบผลิตภัณฑ์ทุกส่วน 100% ที่ใช้ประโยชน์ได้ ก็จะไม่เกิดขยะ และเมื่อผู้ผลิตไม่ต้องเสียเงินไปกับค่าบรรจุภัณฑ์ก็นำเงินส่วนนั้นมาใช้จ่ายกับวัตถุดิบจากธรรมชาติที่มีคุณภาพสูงได้มากขึ้น
แม้ว่าจะพยายามไม่ใช้บรรจุภัณฑ์แต่ Lush Cosmetics ก็ยังมีสินค้าแบบ ‘เปลือย’ อยู่เพียง 35% สินค้าอื่นที่มีในรูปของเหลวและครีมก็ยังต้องอาศัยบรรจุภัณฑ์ ซึ่งบริษัทมีกฎว่าต้องมาจากวัสดุรีไซเคิล นำไปใช้ซ้ำได้หรือต้องย่อยสลายได้อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ขวดที่รีไซเคิลจากพลาสติกในทะเลหรือถ้วยใส่ครีมบำรุงผิวที่มีส่วนผสมจากถั่วและย่อยสลายได้ ในปัจจุบันรีไซเคิลแพ็กเกจจิ้ง หรือทำให้ย่อยสลายได้ 90% และระบุไว้บนเว็บไซต์ว่าจะจัดการกับอีก 10% ที่เหลือให้ได้ รวมทั้งกระตุ้นลูกค้าให้นำบรรจุภัณฑ์กลับมาคืน เช่น ลูกค้าสามารถนำถ้วยครีมมาสก์หน้าที่ใช้แล้ว 5 ถ้วยไปแลกถ้วยใหม่ได้ เพื่อที่บริษัทจะนำไปรีไซเคิลต่อเอง
ในด้านสิทธิสัตว์ บริษัทสนับสนุนการไม่ทดลองผลิตภัณฑ์ในสัตว์มาตั้งแต่ยุค 90s และไม่เข้าตลาดในประเทศจีน เพราะมีกฎว่าเครื่องสำอางที่จะนำมาขายต้องทดลองกับสัตว์ก่อนเท่านั้น เมื่อผลิตภัณฑ์ของ Lush Cosmetics เริ่มได้รับความนิยมเพราะมีลูกค้าชาวจีนหิ้วเข้าไปขายเอง บริษัทจึงปั๊มข้อความต่อต้านการทดลองในสัตว์เป็นภาษาจีนลงบนสบู่ก้อนเพื่อส่งสาร ผู้บริหารของ Lush เชื่อว่าด้วยเทคโนโลยีที่ดีขึ้นมากในปัจจุบันที่จะทดสอบเครื่องสำอาง การทดลองกับสัตว์จึงเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นอีกต่อไป
เพราะเน้นการสรรหาวัตถุดิบแฟร์เทรด ออร์แกนิก และสารสกัดจากธรรมชาติคุณภาพสูง บริษัทจึงต้องทำงานร่วมกับเกษตรกรทั่วโลกเพื่อยกระดับมาตรฐานการเพาะปลูกและการค้าที่เป็นธรรม นโยบายด้านห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) อันเข้มข้นนี้ทำให้บริษัทต้องสูญเสียผู้บริหารฝ่ายจัดซื้อและนักสิ่งแวดล้อมอย่างเปาโล เมลเลต (Paolo Mellet) ไปเพราะติดเชื้อโรคมาลาเรียในขณะที่ทำงานกับเกษตรกรในประเทศกานาเมื่อปี 2014 ซึ่งบริษัทได้โพสต์ข้อความไว้อาลัยไว้บนเว็บไซต์
การยกย่องพนักงานนี้รวมไปถึงการติดสติกเกอร์บนสินค้าเพื่อบอกว่า พนักงานคนไหนเป็นผู้ทำสินค้าชิ้นนั้น (สินค้าของ Lush Cosmetics ทำด้วยมือทั้งหมด) หน้าตาเป็นอย่างไร ทำของชิ้นนี้เมื่อไร หมดอายุเมื่อไร บริษัทไม่ได้มองว่าพนักงานเหล่านั้นคือ ‘แรงงาน’ ในโรงงาน แต่คือดาวเด่นผู้มีฝีมือในการทำสบู่ โลชัน แชมพู และครีมบำรุงต่างๆ
มาร์กเคยให้สัมภาษณ์ว่า เส้นทางการเป็นผู้ประกอบการของเขาไม่ได้ราบรื่นมาตั้งแต่แรก ตอนที่เริ่มทำ Lush Cosmetics เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนจะชอบมันหรือไม่ แม้ว่าจะมีใจสร้างธุรกิจเขียว แต่เขาเชื่อว่าธุรกิจนี้สำเร็จได้เพราะมัน ‘สนุก’ และไม่ ‘ซีเรียส’ หรือ ‘อ่อนไหว’ กับประเด็นสังคมและสิ่งแวดล้อมจนเกินไป ตัวเขาเองเชื่อในระบบทุนนิยม เขาคิดว่าการเป็นนักทุนนิยมเป็นเรื่องโอเค เช่นเดียวกับการใส่ใจว่าธุรกิจของเราสร้างผลกระทบอะไรบ้าง และช่วยทำให้ชีวิตของคนที่เกี่ยวข้องกับเราในทุกระดับดีขึ้นได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้ทำไปพร้อมๆ กับการทำกำไรได้ อย่าง Lush Cosmetics ที่เป็นเครื่องสำอางที่สนุก มีสีสัน เป็นมิตรและ ‘เขียว’ ไปพร้อมกัน
อ้างอิง:
- www.standard.co.uk/business/lush-warns-profits-will-bomb-as-retailer-struggles-to-break-america-a3807621.html
- www.huffingtonpost.com/entry/how-to-make-sure-your-beauty-products-arent-killing-the-planet_us_5ada034be4b03c426dae029a
- www.huffingtonpost.com.au/2017/04/23/here-are-all-the-causes-you-support-when-buying-lush-products_a_22048431/
- uk.lush.com/article/packaging-rubbish
- www.insidermedia.com/insider/southwest/Lush-hails-record-turnover
- www.greenbiz.com/blog/2014/07/14/lush-founder-dont-worry-be-profitable