ในบทความนี้ ผมเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งแนวร่วมความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม เพื่อขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก และนำพาเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนผ่านสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
ผมเรียกแนวร่วมนี้ว่า ‘Thailand Net Zero Coalition’ โดยต้องอาศัยการประสานพลังของ 3 ภาคส่วนสำคัญ คือ ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการเงิน
ผมขอใช้พื้นที่ตรงนี้อธิบายถึงเหตุผลความจำเป็นของการจัดตั้งแนวร่วมดังกล่าว
Carbon is a measure of competitiveness.
ผมเคยเขียนไว้ในบทความเรื่อง Transition Finance ว่า การลดก๊าซเรือนกระจก คือ การรักษาความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจในระยะยาว ทั้งในระดับองค์กรและระดับประเทศ
ในโลกที่คาร์บอนกลายเป็น ‘ต้นทุน’ ทางธุรกิจ และ ‘ราคา’ ของคาร์บอนจะปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ธุรกิจและเศรษฐกิจที่ยังปล่อยคาร์บอนสูง จะเสียเปรียบและพ่ายแพ้ต่อธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศอื่นที่ลดคาร์บอนได้เร็วกว่า
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การใช้มาตรการ CBAM ของสหภาพยุโรป เพื่อปรับราคาคาร์บอนของสินค้านำเข้าให้เท่าเทียมกับสินค้าที่ผลิตในยุโรป
บนเวที COP28 ที่เพิ่งปิดฉากลง ผู้บริหารสูงสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้เรียกร้องให้โลกเพิ่มการจัดเก็บภาษีคาร์บอน เพราะเป็นแรงกระตุ้นที่ดีที่สุดที่จะทำให้ภาคธุรกิจเร่งลดคาร์บอน โดย IMF ประเมินว่า ‘ราคา’ ที่เหมาะสมของคาร์บอนจะอยู่ที่ 85 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันคาร์บอนภายในปี 2030
เวที THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2023 ก็ได้ตอกย้ำถึงเรื่องนี้เช่นกัน
อธิบดีกรมสรรพสามิตเน้นว่า กรมกำลังศึกษาเตรียมความพร้อมในการเริ่มเก็บภาษีคาร์บอนในอนาคต โดยในช่วงแรกน่าจะเก็บในอัตราที่ไม่มาก แต่เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนจากภาครัฐว่า คาร์บอนจะมีราคาที่ทยอยปรับสูงขึ้นในอนาคต สอดคล้องกับทิศทางของโลก และเป็นการต่อยอดมาตรการทางภาษีของกรมสรรพสามิต ซึ่งที่ผ่านมาประสบผลสำเร็จในการส่งเสริมการเติบโตแบบก้าวกระโดดของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า และการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
ซีอีโอของเอสซีจีกล่าวถึงกรณีที่บริษัทยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศที่จะมาลงทุนในประเทศไทย เขาจะตั้งคำถามว่า ไทยมีกระแสไฟฟ้าที่มาจากพลังงานสะอาดและโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวอื่นๆ พร้อมหรือไม่ หรือมีแผนพัฒนาในเรื่องนี้ที่เป็นรูปธรรมมากน้อยแค่ไหน
เพราะคาร์บอนคือต้นทุนทางธุรกิจที่บริษัทระดับโลกต้องนำมาประกอบการพิจารณา ทุกบริษัทต่างมีเป้าหมายการลดก๊าซคาร์บอนสู่ Net Zero ที่เขาต้องบรรลุ เขาต้องมองหาชัยภูมิที่ดีที่จะเอื้อต่อการสร้าง Low-Carbon Supply Chain
การลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อแก้ปัญหาโลกเดือดจึงไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่เป็นเรื่องเศรษฐกิจ นโยบายการลดคาร์บอนเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero จึงไม่ใช่นโยบายสิ่งแวดล้อม แต่เป็นนโยบายทางเศรษฐกิจ หากองคาพยพทุกภาคส่วนของไทยไม่จริงจังกับการลดก๊าซเรือนกระจกมากพอ หรือดำเนินงานช้าเกินไป ไทยจะกลายเป็นเศรษฐกิจคาร์บอนสูงในโลกคาร์บอนต่ำ (High-Carbon Economy in a Low-Carbon World) ศักยภาพในการแข่งขันและเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะถูกลดทอนลงอย่างแน่นอน
แต่มองในมุมกลับ หากพวกเราร่วมมือกันผลักดันการลดคาร์บอนอย่างจริงจัง นี่คือโอกาสทองของประเทศในการลงทุนเพื่อพลิกโฉมระบบเศรษฐกิจครั้งใหญ่ การลดคาร์บอนสามารถเป็นเครื่องยนต์ที่จะช่วยติดเครื่องเศรษฐกิจไทยให้หลุดพ้นจากทศวรรษที่สาบสูญ (Lost Decade) และปลดล็อกการเติบโตสีเขียว (Green Growth) อย่างแท้จริง
พัฒนาการสำคัญจาก COP28 โลกรุกหนักเพื่อระดมเงินไปลงทุนในการลดคาร์บอน
ในการประชุม COP28 ที่ดูไบ เห็นได้ชัดว่าทุกภาคส่วนเล็งเห็นความสำคัญของการระดมทุนเพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาโลกร้อน หรือที่เรียกว่า Climate Finance
หากโลกจะเดินไปสู่ Net Zero ได้ เราจะต้องจัดสรรเงินทุนไปใช้ในการลดคาร์บอนในตลาดเกิดใหม่ และเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนา เพราะเป็นกลุ่มประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นทุกปี จากการเติบโตทางเศรษฐกิจและความต้องการการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเป็นกลุ่มประเทศที่ยังคงใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นแหล่งพลังงานหลัก
โลกมีเงินทุนมากเพียงพอที่จะแก้ปัญหาโลกร้อน แต่ปัญหาคือ เงินทุนของโลกยังไม่ค่อยไหลไปยังกลุ่มประเทศเหล่านี้ ซีอีโอ KBank พูดเรื่องนี้ไว้ในเวที THE STANDARD ECONOMIC FORUM เช่นกัน โดยชี้ให้เห็นว่าเม็ดเงินลงทุน Climate Finance กว่า 73% ไหลไปที่ 3 ภูมิภาคเท่านั้น คือ ยุโรป อเมริกาเหนือ และจีน
ความไม่ชัดเจนของนโยบายด้าน Climate ความไม่แน่นอนของกฎระเบียบ ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงจากการดำเนินโครงการ และปัจจัยเชิงโครงสร้างอื่นๆ ทำให้ต้นทุนเงินทุน (Cost of Capital) ในประเทศกำลังพัฒนาสูงกว่าในประเทศพัฒนาแล้วหลายเท่าตัว
เมื่อเป็นเช่นนี้ เศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนาจึงต้องอาศัยเงินทุนจากภาครัฐและธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ เพื่อมาช่วยลดความเสี่ยง ลดต้นทุนของเงินทุนในการแก้ปัญหาโลกร้อน
ใน COP28 เราเห็นความตื่นตัวและพัฒนาการที่สำคัญจากหลายประเทศและหลายองค์กรในเรื่อง Climate Finance โดยมีการเปิดตัวข้อริเริ่มและพันธมิตรใหม่เพื่อระดมเงินทุนมาใช้ในการลดคาร์บอนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
ธนาคารโลก (World Bank) ประกาศปรับเพิ่มเป้าหมายสัดส่วนเงินกู้สำหรับแก้ปัญหาโลกร้อนหรือ Climate Lending จากเดิม 35% เป็น 45% ของเงินกู้ทั้งหมดภายในปี 2025 หรือประมาณ 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เจ้าภาพการประชุม COP28 ประกาศจัดตั้งกองทุนใหม่เพื่อนำไปลงทุนในโครงการแก้ปัญหาโลกร้อนในประเทศกำลังพัฒนา แพลตฟอร์มการลงทุนนี้มีชื่อว่า ‘ALTÉRRA’ โดยตั้งเป้าจะระดมเม็ดเงินกว่า 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030 จากพันธมิตรทั้งภาครัฐและนักลงทุนเอกชนยักษ์ใหญ่ เช่น รัฐบาลยูเออี BlackRock Brookfield และ TPG ถือเป็นกองทุน Blended Finance เพื่อการลดโลกร้อนที่น่าจับตามอง
สิงคโปร์ประกาศจัดตั้งแพลตฟอร์มระดมเงินทุนในลักษณะคล้ายกัน ชื่อว่า FAST-P หรือ Financing Asia’s Transition Partnership เพื่อระดมเงินจากภาครัฐ ภาคเอกชน และ Philanthropy เพื่อลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน (Green and Transition Infrastructure) และเทคโนโลยีพลังงานสะอาดในภูมิภาคเอเชีย โดยตั้งเป้าระดมเงินทุน 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อเรามองปัญหาความท้าทายของไทยที่สะท้อนผ่านเวที THE STANDARD ECONOMIC FORUM ควบคู่ไปกับความเคลื่อนไหวด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนในเวที COP28 เราจะเห็นความเชื่อมโยงและโอกาสในการขับเคลื่อนวาระ Net Zero ของไทย
ความท้าทายด้าน Climate ของไทย
ผมคิดว่าแนวร่วม Thailand Net Zero Coalition สามารถช่วยจัดการกับอุปสรรคและความท้าทายของไทยในเรื่อง Climate 5 ข้อสำคัญ ดังนี้
1. Policy Gap นโยบายที่ไม่ชัดเจน ขาดความเป็นองค์รวม และขาดแผนงานที่เป็นรูปธรรม
แม้ว่านายกรัฐมนตรีจะประกาศชัดเจนในเวทีระหว่างประเทศว่าไทยจะให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน และแม้ว่าไทยจะมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน BCG แผนพลังงานชาติ และนโยบายอื่นๆ ในภาพรวม แต่ไทยยังขาดการกำหนดนโยบายที่มีความเชื่อมโยงระหว่างกันอย่างเป็นองค์รวมทั้งระบบ ขณะที่นโยบายที่มีอยู่ก็ขาดโฟกัสในเรื่องกลยุทธ์การลดก๊าซเรือนกระจกในแต่ละภาคเศรษฐกิจ และขาดแผนงานที่จับต้องได้
2. Action Gap การขับเคลื่อนวาระ Net Zero ในภาคธุรกิจยังจำกัดในวงแคบและไม่เป็นเอกภาพ
เมื่อนโยบายและแผนงานยังไม่ชัด ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ก็ไม่กล้าเดินหน้าเต็มที่ ผู้บริโภคก็ปรับพฤติกรรมช้า ทำให้ ‘ตลาดสินค้าสีเขียว’ เกิดยากและเติบโตช้า สถาบันการเงินและนักลงทุนก็ไม่กล้าเอาเม็ดเงินมาลงทุน
แม้ว่าธุรกิจชั้นนำรายใหญ่ของไทยเริ่มตื่นตัวเรื่องนี้มาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีความร่วมมือผ่านเครือข่ายภาคเอกชนในการลดก๊าซคาร์บอน แต่ถือว่าความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมยังจำกัดอยู่ในวงแคบ
ปัจจุบันมีบริษัทไทยเพียง 11 บริษัทที่ได้จัดทำเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรองโดยองค์กร Science-Based Target Initiative (SBTi) แล้วเสร็จ และมีอีก 22 บริษัทที่ประกาศ (Commit) ว่าจะตั้งเป้าหมาย SBTi
ตัวเลขนี้ถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ SET ที่มีเกือบ 700 บริษัท ยังไม่นับธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการลดคาร์บอนด้วย
เรายังจำเป็นต้องผลักดันให้ภาคธุรกิจในวงกว้าง หันมาใส่ใจกับ Net Zero ตั้งเป้าหมายการลดคาร์บอนที่ชัดเจน นำเรื่อง Climate ไปปรับเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจอย่างจริงจัง และจัดทำ Transition Strategy ขององค์กร เพื่อบริหารความเสี่ยงและแสวงหาโอกาสใหม่จาก Net Zero Transition
3. Data Gap การขาดข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีคุณภาพและเชื่อถือได้
ทุกธุรกิจที่พยายามลดก๊าซเรือนกระจกต่างประสบปัญหาการเข้าถึงหรือเก็บข้อมูลก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กใน Supply Chain เมื่อไม่มีข้อมูลดิบที่เชื่อถือได้ ทำให้ต้องอาศัยการประมาณการข้อมูลหรือใช้ Proxy แทน ซึ่งอาจคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
มาตรฐานการนำเสนอข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็ยังไม่สอดคล้องกันทั้งอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่นในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งครอบคลุมอาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม อาคารพาณิชย์ ห้างสรรพสินค้า และโรงแรม ส่วนใหญ่ยังขาดการจัดเก็บและรายงานข้อมูลก๊าซคาร์บอน ยังไม่นับถึงการขาดข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่เกิดจากวัสดุก่อสร้าง เช่น เหล็ก ปูนซีเมนต์
เมื่อข้อมูลไม่ครบถ้วนหรือไม่น่าเชื่อถือ จะเป็นอุปสรรคต่อการตัดสินใจของนักลงทุนและสถาบันการเงินในการไฟแนนซ์โปรเจกต์การลดก๊าซเรือนกระจก และเป็นอุปสรรคต่อการระดมทุนผ่านสินเชื่อหรือหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน
เป็นที่น่ายินดีที่ ก.ล.ต. เล็งเห็นความสำคัญของการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนตามมาตรฐานสากลอย่าง TCFD และในอนาคตคงมีแผนที่จะนำกติกาสากลใหม่อย่าง ISSB มาใช้กับบริษัทจดทะเบียน ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพข้อมูลก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย
แต่นี่ยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ธุรกิจจึงจำเป็นต้องพัฒนาระบบการเก็บข้อมูลก๊าซคาร์บอน ทั้งของตัวเองและของคู่ค้าใน Value Chain รวมทั้งมองหาพันธมิตรที่จะนำเทคโนโลยีและโซลูชันที่จะเข้ามาช่วยในเรื่อง Climate Data
4. Financing Gap คือความท้าทายในการระดมเงินทุนสำหรับการลดคาร์บอน
การลดคาร์บอนต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล ทั้งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น สายส่งไฟฟ้าที่รองรับไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และการลงทุนของภาคธุรกิจในการนำเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำมาใช้ในการผลิตสินค้าและบริการ
McKinsey ประเมินว่าเอเชีย-แปซิฟิกต้องใช้เงินลงทุนกว่า 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ Net Zero ภายในปี 2050 โดยขณะนี้ขาดเม็ดเงินลงทุน (Funding Gap) ประมาณ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
แนวร่วม Thailand Net Zero Coalition จึงต้องมีภาคการเงินเป็นองค์ประกอบสำคัญ โดยไทยจำเป็นต้องมองหาเงินทุนจากภาคเอกชนมาสนับสนุนการดำเนินการลดคาร์บอน เพราะงบประมาณของภาครัฐไม่เพียงพอ ทั้งนี้ ไทยควรระดมเงินทุนจากทั้งสถาบันการเงินและนักลงทุนในประเทศ และเงินทุนจากต่างประเทศ ซึ่งควรรวมถึงกองทุนด้าน Climate Finance ที่กล่าวถึงข้างต้น
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวบนเวที THE STANDARD ECONOMIC FORUM ถึงการสนับสนุนการเงินเพื่อการลดคาร์บอนหรือ Transition Finance ซึ่งมีความคืบหน้าที่สำคัญ เช่น การจัดทำ Taxonomy แต่ผู้ว่ารับว่ายังมีงานที่ต้องขับเคลื่อนในเรื่องนี้อีกมาก
ภาคสถาบันการเงินของไทยต้องเร่งยกระดับการทำงานด้าน Climate ต้องตั้งเป้าหมาย Net Zero จัดทำ Net Zero Transition Plan สนับสนุนบริษัทลูกค้าในการลดคาร์บอน และพัฒนาคนมาขับเคลื่อนงานด้านนี้ โดยธนาคารจะมีบทบาทสำคัญมากในเรื่องนี้ (โปรดดูบทความเรื่อง Banking for Net Zero)
5. Coordination Gap คือปัญหาในการประสานความร่วมมือของทุกภาคส่วน
การขับเคลื่อนวาระ Net Zero ต้องอาศัยการทำงานที่ใกล้ชิด และสอดรับกันระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการเงิน
ภาครัฐต้องปักธงนโยบาย แผนงาน และกฎระเบียบที่เอื้อต่อการลดคาร์บอน พร้อมจัดสรรงบประมาณให้ถูกจุด เพื่อให้ภาคธุรกิจเห็นทิศทางที่ชัดเจน และมีแรงจูงใจในการเร่งดำเนินงานลดคาร์บอน ขณะที่ภาคการเงินต้องเข้ามาเติมเต็ม จัดสรรเงินทุนสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ในการลดคาร์บอน
พันธมิตร 3 ภาคส่วนนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญในการเปลี่ยนเป้าหมายและนโยบายการลดก๊าซเรือนกระจกให้เกิดขึ้นจริง และเห็นผลเป็นรูปธรรม แต่ปัจจุบันไทยยังขาดกลไกระดับชาติที่จะบูรณาการการทำงานระหว่าง 3 ภาคส่วนหลักดังกล่าว เพื่อหาโซลูชันในการขับเคลื่อน Net Zero Transition ในแต่ละภาคเศรษฐกิจ
แนวร่วม ‘Thailand Net Zero Coalition’ พันธมิตร 3 ภาคส่วน พลิกโฉมเศรษฐกิจไทยสู่ Net Zero
แนวร่วม Thailand Net Zero Coalition โดยควรยึดหลักการทำงาน 3 ข้อ
1. Sectoral Transition Focus คือวางกลยุทธ์การลดคาร์บอนและจัดการกับความท้าทายแบบเจาะลึกราย Sector
นอกจากยุทธศาสตร์และนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่ Net Zero ในภาพใหญ่ของประเทศแล้ว ไทยยังจำเป็นต้องพัฒนากลยุทธ์ Net Zero สำหรับแต่ละ Sector ทั้งในระยะสั้น (2030) และระยะยาว โดยต้องมีแผนงานหรือ Action Plan ที่เป็นรูปธรรม ที่จะทำให้ทุกภาคเศรษฐกิจบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และ Net Zero ในปี 2065
แนวร่วม Thailand Net Zero Coalition จึงจะต้องประกอบด้วยคณะทำงานหลายชุด โดยแบ่งตาม Sector ของภาคเศรษฐกิจจริง เช่น น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ การผลิตไฟฟ้า การขนส่ง (ทางบก ทางเรือ ทางอากาศ) อสังหาริมทรัพย์ เกษตรและอาหาร และอุตสาหกรรมการผลิต (เช่น ปูนซีเมนต์ เหล็ก เคมีภัณฑ์) โดยแต่ละภาคเศรษฐกิจจะมีเส้นทางสู่ Net Zero ที่ไม่เหมือนกัน มีความท้าทายที่มีความเฉพาะเจาะจง และต้องการโซลูชันในการลดคาร์บอนที่แตกต่างกัน
เราจึงต้องจัดทำ Net Zero Roadmap เพื่อกำหนด ‘เส้นทาง’ การลดคาร์บอนสำหรับทุกภาคเศรษฐกิจ ที่จะชี้ว่าในแต่ละอุตสาหกรรมเราต้องดำเนินการอะไรบ้าง ต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำอะไรบ้าง ต้องใช้เม็ดเงินลงทุนปริมาณเท่าใด และมาจากแหล่งเงินทุนใด รัฐควรมีกฎระเบียบและมาตรฐานอะไรมารองรับบ้าง และธุรกิจต้องพัฒนาทักษะความสามารถของแรงงานด้านใดบ้าง เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจสู่ Net Zero
2. Ecosystem and Value Chain Approach คือขับเคลื่อนการลดคาร์บอนด้วยการมองภาพทั้งระบบ จากต้นน้ำถึงปลายน้ำ
กรณีตัวอย่างที่น่าสนใจคือ ความร่วมมือระหว่างธนาคาร DBS ของสิงคโปร์ กับบริษัทแฟชั่นชั้นนำของโลกอย่าง H&M โดยธนาคารจะให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำกับบริษัทคู่ค้า (Suppliers) ในเอเชียของ H&M เพื่อดำเนินมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนในโรงงานที่ผลิตเสื้อผ้าส่งให้กับ H&M อีกทั้งยังมีการนำบริษัทที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนคือ Guidehouse เข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์ช่วยวางโซลูชันในการลดคาร์บอนของแต่ละโรงงานอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นการดำเนินความร่วมมือการเงินสีเขียวเพื่อลดโลกร้อนแบบครบวงจร
การทำงานของแนวร่วม Thailand Net Zero Coalition ต้องใช้ความร่วมมือจาก ‘ผู้เล่น’ สำคัญจากทุกภาคส่วน ซึ่งรวมถึงภาคส่วนที่สามารถพัฒนาโซลูชันทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการพัฒนาคน เพื่อตอบโจทย์การลดคาร์บอนของเศรษฐกิจ
ยกตัวอย่างเช่น หากเราจะขับเคลื่อนงานด้านเกษตร Net Zero จะต้องอาศัยการขับเคลื่อนจากภาครัฐ คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และต้องทำงานร่วมกับเกษตรกร ผู้ผลิตปุ๋ย ผู้ผลิตรถไถ และเครื่องจักรกลอื่นๆ ที่ใช้ในการทำนา รวมถึงธุรกิจแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร
นอกจากนี้ ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากภาควิชาการและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ที่จะช่วยยกระดับองค์ความรู้และพัฒนานวัตกรรมการลดก๊าซเรือนกระจกสำหรับภาคการเกษตร เช่น อุปกรณ์ที่จะตรวจวัดการปล่อยก๊าซที่หน้างาน เครื่องจักรกลที่ใช้พลังงานทางเลือก เป็นต้น กระทรวงและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จึงต้องมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานด้าน Net Zero ด้วย
ในส่วนของภาคการเงิน ผู้กำกับและกำหนดกติกาอย่าง ธปท. และ ก.ล.ต. จะมีบทบาทสำคัญในแนวร่วมการลดคาร์บอน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมและกฎเกณฑ์ที่เอื้อต่อการระดมทุนเพื่อลดคาร์บอน (Transition Finance) ขณะที่สมาคมธนาคารไทยก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งในแนวร่วมลดคาร์บอน ภายใต้เจตนารมณ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG Declaration) ที่สมาคมได้ประกาศไว้
และอีกหนึ่งปัจจัยที่ขาดไม่ได้คือ การพัฒนาคน ทั้งแรงงานใหม่และแรงงานเดิม ให้มีทักษะในการทำงานด้านความยั่งยืน ทั้งในภาคธุรกิจและความการเงิน ทั้งนี้ ต้องอาศัยการขับเคลื่อนของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยประสานการทำงานกับภาคเอกชนและภาควิชาการ
3. Global Green Partnership แสวงหาพันธมิตรสีเขียวในเวทีโลก
เมื่อโลกตื่นตัวและรุกหนักในการลดคาร์บอนและระดมเงินทุน Climate Finance ไทยควรใช้โอกาสนี้แสวงหาความร่วมมือและพันธมิตรในเวทีระหว่างประเทศ
เมื่อเรามีเป้าหมาย นโยบาย และแผนงานที่ชัดเจน และมีแนวร่วมความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการเงิน ไทยจะมีความน่าเชื่อถือ (Credibility) ในสายตาโลก และจะสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนและเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำจากต่างประเทศ เพื่อมาขับเคลื่อนการเติบโตสีเขียว และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยในโลกที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero
การดึงดูดให้บริษัทต่างชาติมาลงทุนตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ถือเป็นโมเดลตัวอย่างที่ดีที่ควรนำไปใช้กับการเปลี่ยนผ่านภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ให้เป็นสีเขียว
‘การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก’ ของรัฐบาลจะมีประโยชน์อย่างมากในการเสริมสร้างความร่วมมือในด้าน Climate ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ทำงานร่วมกับรัฐบาลของประเทศต่างๆ องค์การระหว่างประเทศ และองค์กรเอกชน เพื่อนำองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามาสนับสนุนวาระการลดคาร์บอนและการสร้างเศรษฐกิจสีเขียวของไทย
ไทยอาจออกตัวช้ากว่าหลายประเทศ แต่ยังไม่สายเกินไปที่เราจะเร่งเครื่องดำเนินงานผ่านแนวร่วมที่เชื่อมโยงภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการเงิน สร้างพันธมิตรในเวทีโลก เพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาโลกร้อนให้เป็นเครื่องยนต์สนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย