ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองดิจิทัลวอลเล็ตไม่ส่งผลกระทบต่อการคลังระยะยาวของไทย ตราบใดที่เศรษฐกิจขยายตัวตามประมาณการ พร้อมยืนยันว่าดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% ต่อปีคือระดับ Neutral ที่เหมาะสมสำหรับรองรับได้ทั้งความเสี่ยงด้านบวกและลบ ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนในปีหน้า
วันนี้ (13 ธันวาคม) ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน Monetary Policy Forum 4/2023 ว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตคาดว่าจะเพิ่มภาระการคลังระดับหนึ่ง แต่ก็ยังอยู่ภายใต้เพดานที่กำหนดไว้อยู่ และถึงแม้ พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านเพื่อทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะได้รับการอนุมัติ ภาพการคลังในระยะยาวของไทยก็ยังยั่งยืนอยู่ (Sustain) ตราบใดที่เศรษฐกิจมีการขยายตัวตามที่ประมาณการไว้
นอกจากนี้ปิติยังยืนยันว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้คำนึงถึงผลของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตไว้ทั้งสองกรณีไว้แล้ว โดยระบุว่า “ไม่ว่าจะมีโครงการดิจิทัลวอลเล็ตหรือไม่ หรือโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะล้าช้าหรือไม่ ระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% ก็เป็นนโยบายที่เหมาะสม”
ขณะที่ สุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน แนะนำเพิ่มเติมให้ติดตามแผนการคลังระยะปานกลาง ฉบับปรับปรุงใหม่ที่กำลังจะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งจะเข้าสู่การรัดเข็มขัดทางการคลัง (Fiscal Consolidation) ที่ดีขึ้น โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการประมาณการรายได้ของปีงบประมาณ 2569-2570 ที่ดีขึ้น
ยืนยันดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% เหมาะสม
ขณะที่ ภูริชัย รุ่งเจริญกิจกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน กล่าวว่า ระดับดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันที่ 2.5% เป็นระดับที่เหมาะสม และ Neutral กล่าวคือไม่ได้เพิ่มแรงสนับสนุนและไม่ได้ฉุดรั้งเศรษฐกิจ พร้อมมองว่าในปี 2567 การคงอัตราดอกเบี้ยในระดับดังกล่าวก็เหมาะสมต่อเศรษฐกิจ
ภูริชัยอธิบายอีกว่า การคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ Neutral ก็เป็นกลยุทธ์ในการบริหารความเสี่ยงประเภทหนึ่งเวลาเศรษฐกิจเผชิญความเสี่ยงทั้งสองด้าน พร้อมยืนยันว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยไม่ได้เผชิญความเสี่ยงต่ำเพียงด้านเดียว แต่มีทั้งสองด้าน
“การปรับดอกเบี้ยให้มาอยู่ที่ระดับ Neutral เหมือนเป็นการเล่นเทนนิสอยู่กลางคอร์ต เพื่อพร้อมรับความเสี่ยงทั้งสองด้าน” ภูริชัยกล่าว และขอให้มั่นใจว่าคณะกรรมการฯ ไม่ได้ประมาทและเห็นความเสี่ยงด้านต่ำอยู่เรดาร์
มองเงินเฟ้อปีหน้าต่ำเป็น Positive Supply Shock
ปิติกล่าวถึงประเด็นเรื่องเงินเฟ้อว่า ในภาพรวมการเคลื่อนไหวของเงินเฟ้อช่วงนี้และคาดการณ์ปีหน้าที่ ‘ต่ำ’ มาจากฝั่งอุปทาน ตัวอย่างเช่น ราคาน้ำมัน ราคาพลังงาน และราคาอาหารสด
พร้อมย้ำว่า เงินเฟ้อไทยยังไม่เข้าขั้นเงินฝืด เนื่องจากแม้ปีหน้าเงินเฟ้อจะติดลบบ้าง แต่การติดลบไม่ได้เกิดขึ้นในทุกหมวดหมู่สินค้า เนื่องจากตามนิยามแล้วภาวะเงินฝืดจะต้องเป็นผลมาจากการลดลงของราคาสินค้าและบริการทุกหมวดหมู่ รวมทั้งค่าจ้างด้วย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้เป็นเพียงการลดลงเชิงเปรียบเทียบ (Relative Price Change) มากกว่า
นอกจากนี้ปิติยังมองว่าเงินเฟ้อต่ำในปีหน้าถือเป็นข่าวดีด้วยซ้ำไป หรือเป็น Positive Supply Shock เนื่องจากเป็นเพียงการปรับลดลงเฉพาะบางสินค้าเท่านั้น เช่น ราคาน้ำมัน ซึ่งก็นับเป็นผลดีกับประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ
ด้าน สุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน กล่าวเสริมว่า สิ่งที่คณะกรรมการนโยบายการเงินให้ความสำคัญคือ แนวโน้มเงินเฟ้อระยะปานกลาง ซึ่งปัจจุบันค่อนข้างหนืด (Well Anchor) และเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งเห็นว่าทรงตัวนิ่งๆ มาตลอด
นอกจากนี้เงินเฟ้อของผู้ประกอบการหรือเงินเฟ้อฝั่งครัวเรือนก็ไม่ได้ลดลง ขณะที่การบริโภคก็ยังขยายตัวดีในไตรมาสที่ 3 อัตราว่างงานก็ปรับลดลง โดยสิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าในระยะต่อไปภาวะเงินฝืดไม่ใช่ประเด็น
การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะกระทบคาดการณ์เงินเฟ้อปีหน้าหรือไม่?
สุรัชอธิบายว่า ในประมาณการเงินเฟ้อปี 2567 ที่ 2.0% ไม่รวมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต และที่ 2.2% เมื่อรวมธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไว้ที่ 3% กว่าๆ แล้ว ถือว่าใกล้เคียงกับมติคณะกรรมการค่าจ้างสรุปผลปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี 2567 ที่เฉลี่ย 2.37%
อย่างไรก็ตาม สุรัชกล่าวว่า ต้องดูความชัดเจนต่อไปว่าในท้ายที่สุดค่าจ้างขั้นต่ำปีหน้าจะปรับขึ้นเป็นเท่าไร กระนั้นค่าความยืดหยุ่นในการส่งผ่าน (Elasticity) จากค่าแรงขั้นต่ำ (Minimum Wage) ที่ส่งผ่านไปยังค่าแรงเอกชน (Private Sector Wage) อยู่ที่ราว 1 ใน 3
ส่วนการส่งผ่านจากภาคเอกชน (Private Sector Wage) ไปสู่อัตราเงินเฟ้อ (Inflation) ก็มีความยืดหยุ่นอยู่ที่ประมาณ 0.44-0.45 เท่านั้น ดังนั้นแม้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเงินเฟ้อก็น่าจะยังอยู่ในกรอบประมาณการที่ 2.0% ได้