ภาวะการลงทุนในบ้านเราและต่างประเทศในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมามีความต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ปัจจัยบวกต่างประเทศเริ่มไม่ส่งผลบวกกับเรา ในขณะเดียวกันนักลงทุนต่างประเทศส่วนใหญ่ต่างเร่งขายหุ้นที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยงในประเทศไทย โดยเป็นการขายสุทธิตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน เป็นเม็ดเงินกว่า 1.9 แสนล้านบาท ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น และจะเป็นไปอีกนานไหม เราลองมาทำความเข้าใจกับสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศไทยเทียบกับต่างประเทศ แล้วค่อยย้อนกลับมาประเมินอีกทีว่าเราจะปรับพอร์ตอย่างไรในเดือนธันวาคมนี้
ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศในเดือนพฤศจิกายนฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว บนความคาดหวังว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวอย่างช้าๆ (Soft Landing) เพิ่มโอกาสที่ Fed จะลดดอกเบี้ยได้เร็วขึ้นมาเป็นกลางปี 2024 ปัจจุบันคาดว่าดอกเบี้ย Fed Funds Rate น่าจะไม่สูงไปกว่าระดับปัจจุบันที่ 5.25-5.50% ทั้งนี้ ตลาดล่วงหน้าคาดว่า Fed จะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้าเลย โดยคาดหวังว่าจะลดเพิ่มจาก 0.75% เป็น 1.0% เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อ ค้าส่ง ค้าปลีก ต่างก็ส่งสัญญาณชะลอตัวลงทุกตัว
ดัชนี MSCI ACWI ปรับตัวขึ้น 8.7% (เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน) โดยดัชนีรายภูมิภาคต่างปรับตัวขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ได้แก่ ดัชนี MSCI Asia ex Japan 6.4%, MSCI Europe 5.9% MTD และ MSCI USA 8.9%
ในส่วนของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีของสหรัฐฯ ปรับตัวลง 0.14% เป็น 4.95% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐฯ ปรับตัวลง 0.46% เป็น 4.47% ส่งผลให้ส่วนต่างของพันธบัตรอายุ US 2-10Y กว้างขึ้นเป็น 0.48% จากเดือนก่อนที่ 0.16% ตลาดตราสารหนี้ผันผวนขึ้นมาก
ในส่วนราคาทองปรับตัวขึ้น 0.9% จากเดือนก่อน เป็น 2,000.80 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ จากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากโอกาสที่เศรษฐกิจจะเป็นขาลงที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนต์ปรับตัวลง 7.8% เป็น 80.58 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สะท้อนตลาดคลายกังวลสงครามอิสราเอล-ฮามาส รวมถึงความกังวลต่ออุปสงค์ที่มีแนวโน้มชะลอตัวในอนาคต
สำหรับตลาดหุ้นไทยในเดือนที่ผ่านมาแทบจะไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งต่างจากดัชนีหุ้นโลกมาก และหากเทียบตั้งแต่ต้นปียิ่งไปกันใหญ่ โดยที่ตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนต่ำกว่า MSCI ACWI มากกว่า 30% โดย SET Index -17.3% ขณะที่ MSCI ACWI +14.3% มันเกิดอะไรขึ้น ทำไมเป็นแบบนี้ ในเชิงปัจจัยพื้นฐานก็คงพูดถึงเรื่องแนวโน้มกำไรที่อ่อนแอลง และการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้าอันเนื่องมาจากความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล รวมทั้งความกังวลเรื่องสภาพคล่องที่ตึงตัวในตลาดการเงินจากการที่รัฐบาลจะออกพันธบัตรเพิ่มเพื่อกู้เงินมากระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ซึ่งภาระการกู้ยืมดังกล่าวน่าจะผูกพันไปอีกหลายปี ส่งผลต่อเนื่องถึงโอกาสที่ไทยอาจจะถูกปรับลดอันดับเครดิตเรตติ้งของประเทศได้
ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิต่อเนื่องในตลาดหุ้นไทยอีก 1.4 หมื่นล้านบาท ในเดือนพฤศจิกายน แต่มีสถานะซื้อสุทธิตลาดตราสารหนี้ 1 หมื่นล้านบาท และหากนับจากต้นปีนักลงทุนต่างชาติมีสถานะขายสุทธิในหุ้นไทย 1.87 แสนล้านบาท แต่ซื้อสุทธิในตลาดตราสารหนี้ 1.6 หมื่นล้านบาท การที่เงินทุนไหลกลับเข้าตลาดตราสารหนี้ ส่งผลให้ค่าเงินบาทเทียบเงินสหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น 3.1% เป็น 34.71 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับมุมมองการลงทุนในเดือนธันวาคม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทั้งสหรัฐฯ และไทยปรับลดลง คาดว่าอัตราดอกเบี้ยผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว มองว่า Fed จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25-5.50% และน่าจะลดอัตราดอกเบี้ยกลางปีหน้า ตลาดหุ้นไทยก็คงจะได้รับผลบวกจากภาพรวมของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มทรงตัว สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-ฮามาส ที่การรบจำกัดพื้นที่ ไม่ขยายตัว รวมทั้งได้ผลบวกโดยตรงจากการที่รัฐบาลอนุมัติให้สามารถจัดตั้งกองทุนรวม Thai ESG ที่เป็นกองทุนลดหย่อนภาษี ออกมาในช่วงเดือนธันวาคม ส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ในเดือนนี้ก็น่าจะไม่ผันผวนนักตามแนวโน้มของ Fed Funds Rate
พอร์ตการลงทุนเดือนธันวาคม ขอวางสมมติฐานว่าสถานการณ์ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-ฮามาส ไม่ขยายตัวไปมากกว่านี้ การประชุม FOMC รอบสุดท้ายของปีจะยังคงไม่ปรับ Fed Funds Rate ขึ้น เรายังแนะนำลงทุนในหุ้น 55% จัดเป็นสหรัฐฯ ยุโรป และจีน รวมกันไม่เกิน 25% ญี่ปุ่นและเวียดนาม รวมกันไม่เกิน 10% ประเทศไทย 20% ตราสารหนี้และตลาดเงิน 40% เป็นตราสารหนี้ระยะสั้น 15% ตราสารหนี้ระยะกลางของเอกชนที่อยู่ในระดับ Investment Grade 15% ตลาดเงิน 10% ลงทุนในทอง น้ำมัน และรีทส์ รวมกันเป็น 5% โดยเน้นไปที่ REIT