×

ศรัทธาที่ฝังแน่น ‘ครูชัยยศ’ เลือนหายลง ด้วยกฎหมาย หลังเซ็นรับรองค่าอาหาร (เป็นเท็จ)

08.12.2023
  • LOADING...

กลายเป็นกระแสที่กำลังพูดถึงและมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากบนโลกโซเชียล เมื่อ ชัยยศ สุขต้อ อายุ 57 ปี อดีตครูชำนาญการพิเศษ (คศ.3) โรงเรียนบ้านยางเปา อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดทางอาญาและวินัย และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 5 มีคำสั่งปลดชัยยศออกจากราชการ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กรณีทุจริตเบียดบังงบอาหารกลางวันเด็ก

 

ครูคนหนึ่งที่ทำเพื่อเด็ก ตอนจบสุดท้ายถูกปลด

 

ขณะที่เพจเฟซบุ๊ก ‘วันนั้นเมื่อฉันสอน’ ออกมาโพสต์ภาพขณะที่ชัยยศขายโรตีเลี้ยงชีพ โดยระบุว่า “ครูคนหนึ่งที่ทำเพื่อเด็ก ตอนจบสุดท้ายถูกปลดออกกลายเป็นคนข้างถนน ทั้งที่เขายังอยากสอนหนังสืออยู่ ไว้มีโอกาสจะมาเล่าให้ฟังนะครับ โดยเฉพาะครูอาหารกลางวันถ้าไม่อยากมาจบที่เส้นทางนี้”

 

คิดไม่ถึงเลยว่ากฎหมาย-ตัวหนังสือจะฆ่าคนทั้งเป็น

 

ทั้งนี้ ชัยยศได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Chaiyot Suktor’ เมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า “วันนี้ผมได้ร่างหนังสือการส่งมอบงานในหน้าที่ที่ได้รับผิดชอบให้กับผู้อำนวยการโรงเรียน ในฐานะข้าราชการครูที่ถูกสั่งปลดจาก ป.ป.ช. เนื่องจากมีโทษวินัยอย่างร้ายแรงและมีโทษทางอาญา “น่าสะท้อนใจไปไม่น้อยกับตัวเองที่ไปเซ็นในการตรวจรับอาหารที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อ ต้องมาพิมพ์ระบุโทษของตนลอกจากคำสั่งที่ได้มา คิดไม่ถึงเลยว่ากฎหมาย-ตัวหนังสือจะฆ่าคนทั้งเป็น

 

“ย้อนไปแต่หนหลังที่ผมเป็นวัยรุ่น  ผมอยากเป็นครู อยากเป็นผู้สร้าง อยากเป็นผู้ปั้นแต่งและเปลี่ยนแปลงชีวิตลูกศิษย์ให้ก้าวหน้าและมีโอกาสทางการศึกษา เหมือนกับผมที่ถูกครูอาจารย์ขัดเกลามา มีความใฝ่ฝันอยากจะเป็นครู แม้หนทางในการศึกษาริบหรี่ แต่ก็อดทนและใช้ความเพียรพยายามอย่างมาก

 

“จนปี 2540 ได้มาเป็นครูสมใจ อยู่ที่บ้านแม่โขง โดยเดินทางเข้าป่าไปด้วยระยะทาง 57 กิโลเมตร ฝ่าแดด ฝ่าฝน สัตว์ป่า พม่าเร่ขายหม้อ แต่ไม่เคยบ่นเคยท้อ ผมได้ใช้เวลาอยู่กับนักเรียนและชาวบ้านจนพูดภาษาถิ่นของเขาได้ เพื่อนำมาประยุกต์ในการเรียนการสอนและใช้โอกาสต่อเติมทักษะความรู้ให้กับลูกศิษย์ สิ่งใดที่ผมทำไม่ได้ ผมก็ออกไปอบรมเรียนรู้มาต่อเติมให้ผู้เรียน 

 

“จนนักเรียนมีรางวัลถึงระดับประเทศหลายสาขา ไม่เพียงแค่วิชาศิลปะเท่านั้น และต่อยอดให้โอกาสทางการศึกษา เพราะผมได้ตั้งใจไว้แล้วในการอยากเปลี่ยนแปลงชีวิตลูกศิษย์ โดยเป็นครูที่ใช้ความรัก ความเมตตา ความจริงใจเป็นบารมี จวบจนผู้ใหญ่มองเห็นเป็นสิ่งสำคัญและมอบรางวัลให้กับผมมา ผมเฉยๆ กับเสื้อผ้าอาภรณ์ของข้าราชการนะครับ แต่ผมภูมิใจในอาชีพของการเป็นข้าราชการครูและภูมิใจในสิ่งที่ผมได้ปฏิบัติมากกว่า”

 

ความศรัทธาที่ฝังแน่นถูกชำระล้างเลือนหาย

 

“ไม่น่าเชื่อนะครับว่าอาชีพข้าราชการนั้นจะมาทำลายอาชีพข้าราชการของผมเอง ความภาคภูมิใจในอาชีพข้าราชการครูของผมถูกสกัดกั้นเหมือนโดนฟ้าผ่า ความศรัทธาที่ฝังแน่นอยู่ในมโนจิตของผมถูกชำระล้างเลือนหาย ภาพความผูกพันในห้องเรียนคงถูกกลืนหายไปกับกาลเวลาที่ไม่อาจย้อนคืน

 

“ทุกวันนี้ในความรู้สึกเหมือนตัวเองไม่มีความผิดอะไร เหมือนฝันไป แต่ความเป็นจริงของโทษที่ได้รับเหมือนกับผมฆ่าคนมาเป็นร้อย คิดวนไปว่าถ้าผมรู้ว่าชีวิตจะมาพบเจอเรื่องเลวร้ายและพบจุดอวสานของข้าราชครูแบบนี้จนเป็นบาดแผลในชีวิต ผมจะขอเอาปณิธานที่ตั้งใจไว้เก็บไว้ในหัวใจ พร้อมเอาใบปริญญาแขวนไว้ข้างฝาก็พอ นั่งวาดภาพขายไป หรือไม่ก็เป็นชาวนาแบบพ่อแบบแม่ เหนื่อยจากงานก็พัก พักแล้วก็หายเหนื่อย และคงไม่มีปัญหามากระทบใจและไร้มลทินดั่งเช่นที่เราพบเจอในตอนนี้ (ผมจะจดจำไปจนวันตายเลยครับ)

 

“นี่ก็เหลือเวลาเพียงแค่ 4 วันเท่านั้น ทุกอย่างผมถูกเขาคืนความอิสระมาให้ผมหมดแล้ว ที่ผ่านมาผมเป็นคนเป็นครูธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่ยึดติดอำนาจ ไม่ยึดติดลาภยศสรรเสริญใดๆ เลยครับ มีแต่ความรัก ความเมตตาต่อผู้คนด้วยความจริงใจ

 

“ค่ำคืนนี้ผมขอขอบพระคุณผู้ใหญ่ใจดีที่มีความรัก ความเมตตาต่อผม ที่ได้เกี่ยวข้องมาช่วยงานผม และผมขอขอบพระคุณผู้ใหญ่ใจดีที่มอบรางวัลอันสูงค่าให้กับผม ไม่ว่าจะเป็นรางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในโครงการพระเมตตาสมเด็จย่า, มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี, สสค., สพฐ. และสำนักงานอื่นๆ มากมายที่ไม่ได้กล่าวถึง ที่มอบรางวัลให้กับผมมา ให้ผมรู้ถึงคุณค่าของงานตามจรรยาบรรณของครูที่ควรจะเป็น ขอบคุณมากๆ ครับ ผมรักและคิดถึงเพื่อนพ้องน้องพี่คณะครู โรงเรียน นักเรียน ชาวบ้าน และทุกๆ คนครับ”

 

ศิษย์เก่าของโรงเรียนยื่นขอความเป็นธรรม

 

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566 กลุ่มศิษย์เก่าของโรงเรียนได้เข้ายื่นหนังสือต่อ สุรศักดิ์ เพียสุระ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 5 ขอความเป็นธรรมให้กับชัยยศ หลังจากถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง ฐานเป็นเจ้าพนักงานกระทำความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

 

ป.ป.ช. ชี้แจง ‘ครูชัยยศ’ เซ็นรับรองค่าอาหารเป็นเท็จ

 

กระทั่งสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ออกเอกสารชี้แจงกรณีดังกล่าวโดยสังเขป เมื่อวันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า เมื่อปี 2561 โรงเรียนบ้านยางเปาดำเนินการจัดหาอาหารกลางวัน กำหนดให้โรงเรียนต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และจะจ่ายเงินได้เมื่อมีการตรวจรับและลงลายมือชื่อของคณะกรรมการตรวจรับครบถ้วน 

 

โดย จรัส สุพรรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านยางเปา ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อและตรวจรับอาหารกลางวันนักเรียน มี บุณยนุช ใจปินตา เป็นเจ้าหน้าที่จัดซื้ออาหาร, จิราพรรณ จาตุนันท์ และชัยยศเป็นกรรมการตรวจรับ

 

2 ประเด็นคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง

 

นิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ระบุว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจะเห็นได้ว่ามีประเด็นที่คลาดเคลื่อนจากการนำเสนอข่าว 2 ประเด็น คือยอดเงินในส่วนเงินที่เหลือประมาณสัปดาห์ละ 10,000 บาท รวม 15 สัปดาห์ เป็นเงินจำนวน 172,240 บาท ที่ไม่สามารถแจกแจงรายละเอียดได้ และจากการเผยแพร่ข่าวของสื่อมวลชนว่าชัยยศถูกปลดออกจากราชการ สืบเนื่องจากการที่ชัยยศ ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจรับอาหารกลางวัน นำอาหารในส่วนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาแบ่งให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นรับประทานนั้น เป็นการเผยแพร่ข้อความที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง

 

ส่งอัยการสูงสุดดำเนินคดีอาญา

 

ทั้งนี้ ให้ส่งรายงานสำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาล ซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัย ไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อดำเนินการทางวินัยกับจรัส, บุณยนุช, จิราพรรณ และชัยยศ ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) และ (2) แล้วแต่กรณีต่อไป

 

มูลนิธิช่วยเหลือทางสังคมเพื่อเด็กและสตรีเรียกร้อง ศธ. แก้ปัญหาอาหารกลางวันเด็ก

 

ขณะเดียวกัน สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิช่วยเหลือทางสังคมเพื่อเด็กและสตรี เรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียนมัธยมศึกษาให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เนื่องจากเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาสำหรับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี เพื่อให้เด็กนักเรียนทุกคนมีอาหารกลางวันรับประทาน เป็นการแก้ปัญหาเชิงระบบ เพื่อไม่ให้เกิดกรณีอย่างชัยยศอีก 

 

คำสั่ง คสช. เสนองบประมาณเปิดช่อง

 

สุรพงษ์กล่าวถึงคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 28/2559 ได้ระบุให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี เพื่อเสนอในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี ประกอบด้วย 

 

  1. ค่าจัดการเรียนการสอน 
  2. ค่าหนังสือเรียน 
  3. ค่าอุปกรณ์การเรียน 
  4. ค่าเครื่องแบบนักเรียน 
  5. ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
  6. ค่าใช้จ่ายอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ

 

เสนอไม่เก็บค่าใช้จ่าย หนุนเด็กทุกคนให้เสมอภาค

 

“เพื่อไม่ให้เกิดกรณีดังเช่นครูชัยยศอีก จึงขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการปฏิบัติตามนโยบายและคำสั่ง คสช. ฉบับดังกล่าว ในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย เพื่อสนับสนุนให้เด็กทุกคนเข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างเสมอภาค ด้วยการเสนอเพิ่มค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียนเป็นค่าใช้จ่ายอื่นที่จะจัดสรรให้นักเรียนทุกคน เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ ที่จะส่งผลให้สามารถเสนอเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปีสนับสนุนอาหารกลางวันรายหัวให้เด็กนักเรียนต่อไป” สุรพงษ์กล่าว 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X