วานนี้ (7 ธันวาคม) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกเอกสารชี้แจงกรณีที่สื่อมวลชนได้นำเสนอข่าว ชัยยศ สุขต้อ ครูโรงเรียนบ้านยางเปา อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทางอาญาและวินัย และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 5 มีคำสั่งปลดชัยยศออกจากราชการ
โดยเนื้อหาของข่าวระบุว่า การถูกปลดออกจากราชการดังกล่าว สืบเนื่องจากการที่ชัยยศ ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจรับอาหารกลางวัน นำอาหารในส่วนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาแบ่งให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นรับประทาน เป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ไม่เป็นไปตามระเบียบนั้น
แจงปมชี้มูลความผิด ‘ครูชัยยศ’ รร.บ้านยางเปา
นิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า จากการไต่สวนข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โรงเรียนบ้านยางเปาเป็นโรงเรียนที่ได้มีการขออนุญาตให้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนในระดับอนุบาล ระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
โดยมีนักเรียน 2 ประเภท คือ นักเรียนไปเช้ากลับเย็นและนักเรียนพักนอน โดยนักเรียนพักนอนได้รับการสนับสนุนค่าอาหารจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 5 ส่วนนักเรียนระดับประถมศึกษาจะได้รับการสนับสนุนค่าอาหารกลางวันจากองค์การบริหารส่วนตำบลอมก๋อย
โดยเมื่อปี 2561 โรงเรียนบ้านยางเปา นักเรียนระดับประถมศึกษาและอนุบาล จำนวน 235 คน นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 244 คน โดยมีนักเรียนพักนอน (รวมประถมและมัธยมต้น) จำนวน 169 คน
การดำเนินการจัดหาอาหารกลางวันกำหนดให้โรงเรียนต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐปี 2560 และจะจ่ายเงินได้เมื่อมีการตรวจรับและลงลายมือชื่อของคณะกรรมการตรวจรับครบถ้วน โดย จรัส สุพรรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านยางเปา ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อและตรวจรับอาหารกลางวันนักเรียน มี บุณยนุช ใจปินตา เป็นเจ้าหน้าที่จัดซื้ออาหาร จิราพรรณ จาตุนันท์ และชัยยศ เป็นกรรมการตรวจรับ
‘ครูชัยยศ’ เซ็นรับรองค่าอาหารข้อมูลเป็นเท็จ
การจัดหาอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนพักนอนปี 2561 จำนวน 15 สัปดาห์ ปรากฏว่าบุณยนุชไม่ได้ดำเนินการขออนุมัติจัดซื้อตามแบบรายการและเอกสารของทางราชการที่กำหนด โดยบุณยนุชทำบันทึกขออนุมัติยืมเงินโครงการอาหารกลางวันนักเรียน เงินปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน และอาหารนักเรียนพักนอนเป็นรายสัปดาห์ ซึ่งจรัสได้อนุมัติให้ยืมเงินสำหรับโครงการอาหารกลางวัน โดยไม่ได้สั่งการให้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบของทางราชการ
เมื่อบุณยนุชได้ทำการยืมเงินโครงการอาหารกลางวันสัปดาห์ละประมาณ 60,000 บาทแล้ว บุณยนุชเป็นผู้ดำเนินการจัดหาวัตถุดิบเพื่อประกอบอาหารและจ้างคนครัวเพื่อประกอบอาหารเองไม่เกินสัปดาห์ละ 48,500 บาท (โดยไม่มีการทำสัญญาจ้างและไม่มีหลักฐานการเข้ามาประกอบอาหารแต่อย่างใด)
โดยในส่วนเงินที่เหลือประมาณสัปดาห์ละ 10,000 บาท จำนวน 15 สัปดาห์ เป็นเงิน 172,240 บาทนั้นพบว่า ในระหว่างสัปดาห์บุณยนุชได้มีการจัดซื้อเพิ่มเติมจาก 2 แห่ง แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าแต่ละสัปดาห์ได้มีการจัดซื้อเป็นจำนวนเท่าใด และไม่ได้ขอใบเสร็จรับเงินจากร้านค้า
เมื่อตรวจสอบเอกสารชดใช้เงินยืม บุณยนุชได้จัดพิมพ์ใบรับรองรายการจ่ายเงินค่าอาหารเป็นเท็จ แยกเป็นรายวัน วันละ 3 ใบ รวม 15 ใบ ทั้งที่มีการส่งอาหารสดและอาหารแห้งมายังโรงเรียนบ้านยางเปาสัปดาห์ละครั้ง โดยระบุใบรับรองรายการจ่ายเงินค่าอาหารไม่เกินใบละ 10,000 บาท โดยเพิ่มราคาต่อหน่วยของวัตถุดิบ ซึ่งจิราพรรณและชัยยศ ซึ่งเป็นกรรมการตรวจรับได้ลงลายมือชื่อรับรอง และบุณยนุชจึงได้นำใบรับรองดังกล่าวมาเป็นหลักฐานการใช้จ่ายเงินแทนใบเสร็จรับเงิน
ดังนั้นการที่บุณยนุช ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่จัดซื้ออาหารกลางวันทำการขออนุมัติยืมเงินเพื่อจัดหาอาหารกลางวัน และจรัสอนุมัติให้ยืมเงินโดยไม่ได้ขออนุมัติให้จัดซื้อจัดจ้าง และบุณยนุชทำใบรับรองการจ่ายเงินเป็นหลักฐานการใช้จ่ายเงินแทนใบเสร็จรับเงิน โดยมีจิราพรรณและชัยยศลงชื่อรับรองอันเป็นเท็จ จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวโดยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการตรวจสอบในภายหลังว่าการจัดซื้อจัดหาอาหารกลางวันของโรงเรียนบ้านยางเปาดำเนินการครบถ้วนหรือไม่
อีกทั้งการไม่ดำเนินการจัดซื้อตามระเบียบย่อมเป็นการดำเนินการเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โรงเรียนบ้านยางเปา
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติดังนี้
- จรัส มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 และมาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
- บุณยนุช มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 และมาตรา 162 (1), (4) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
- จิราพรรณและชัยยศ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 162 (1), (4) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
ส่งอัยการสูงสุดดำเนินคดีอาญา
ทั้งนี้ ให้ส่งรายงานสำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาในศาล ซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัย ไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อดำเนินการทางวินัยกับ จรัส, บุณยนุช, จิราพรรณ และชัยยศ ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตปี 2561 มาตรา 91 (1) และ (2) แล้วแต่กรณีต่อไป
2 ประเด็น คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง
นิวัติไชยกล่าวเพิ่มเติมว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจะเห็นได้ว่ามีประเด็นที่คลาดเคลื่อนจากการนำเสนอข่าวจำนวน 2 ประเด็น คือยอดเงินในส่วนเงินที่เหลือประมาณสัปดาห์ละ 10,000 บาท รวม 15 สัปดาห์ เป็นเงินจำนวน 172,240 บาท ที่ไม่สามารถแจกแจงรายละเอียดได้ และจากการเผยแพร่ข่าวของสื่อมวลชนว่าชัยยศถูกปลดออกจากราชการ สืบเนื่องจากการที่ชัยยศ ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจรับอาหารกลางวัน นำอาหารในส่วนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาแบ่งให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นรับประทานนั้น เป็นการเผยแพร่ข้อความที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง