วันนี้ (6 ธันวาคม) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย ภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, ภาณุมาศ สุขอัมพร ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหารของกรุงเทพมหานคร ให้การต้อนรับคณะท่องเที่ยวกลุ่ม Access for All จาก 44 จังหวัด
ซึ่งมาร่วมเฉลิมฉลองวันคนพิการสากลซึ่งตรงกับวันที่ 3 ธันวาคมของทุกปี และร่วมท่องเที่ยวในพระนคร โดยในปีนี้ถือเป็นวาระพิเศษและเป็นครั้งแรกที่ กทม. ได้มีโอกาสต้อนรับการมาเยือนของคณะคนพิการถือเป็นการเปิดประตูการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลในกรุงเทพฯ และจุดประกายให้กรุงเทพมหานครต้องเร่งพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวตามแนวคิด Tourism for All ให้สมบูรณ์เป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยเริ่มในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน บริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์เป็นการนำร่อง
ชัชชาติกล่าวว่า การจัดท่องเที่ยวในพระนครวันนี้มี 2 มุมคือ เพื่อนเรา (คนพิการ) หาโอกาสท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ ลำบาก การจัดกิจกรรมนี้จะได้เป็นการทดสอบว่าเมื่อมาเที่ยวแล้วเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อให้เราได้เข้าใจความรู้สึกของเพื่อนเราที่อาจเดินทางลำบากมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็อยากให้เพื่อนเราได้แนะนำว่าควรปรับปรุงอะไรเพิ่มเติม ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่แท้จริง
หากเราสามารถปรับปรุงกรุงเทพฯ ให้สามารถรับทุกคนได้ โอบกอดทุกคนอย่างเท่าเทียมกันได้ ก็จะมีพลังในการดึงดูดคนจากทั่วโลกให้มาเที่ยวกรุงเทพฯ ได้ แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องปรับปรุงและพัฒนาอย่างจริงจังต่อเนื่อง ซึ่งอาจไม่ได้เสร็จภายใน 1-2 เดือน แต่ใช้เวลาเป็นปี และต้องมีการเริ่มทำ เชื่อว่าพวกเราจะมีส่วนช่วยในการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ด้านอารยสถาปัตย์ Universal Design ให้กับกรุงเทพฯ ได้
ชัชชาติกล่าวต่อว่า ในอนาคตทั่วโลกจะเป็นสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น ถ้าเมืองเราสามารถรองรับการเดินทางที่สะดวก ดูแลทุกคนได้ ก็จะเป็นพลังในการดึงดูดผู้คนจากทั่วโลกให้มาที่กรุงเทพฯ ตลอดจนประเทศไทยได้มากขึ้น ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้มีการพัฒนาปรับปรุงกายภาพพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งถนน ทางเท้า ห้องน้ำ อาคาร รวมไปถึงการให้โอกาสอย่างเท่าเทียมกันทั้งในเรื่องการศึกษา การหางาน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ใช่เฉพาะแค่การเดินทางเท่านั้น
ด้านภาณุมาศกล่าวว่า จากนโยบายใหญ่ในการทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน เราจึงต้องมีการพัฒนาในทุกมิติ ซึ่งการท่องเที่ยวคือมิติหนึ่งที่ต้องพัฒนา ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้มีการชูประเด็นเรื่องการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลอย่างชัดเจน ขณะที่กรุงเทพมหานครได้มีการพัฒนาปรับปรุงสาธารณูปโภค สถานที่ต่างๆ ให้เอื้อต่อคนที่มีข้อจำกัด
เราจึงต้องการที่จะสะท้อนสิ่งเหล่านี้ให้สังคมไทยและสังคมโลกเห็นว่าต่อไปนี้คนพิการที่ต้องใช้วีลแชร์ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด สามารถมาท่องเที่ยววัด วัง รอบกรุงเทพฯ ชั้นในได้ ขณะเดียวกันเราต้องการให้นักท่องเที่ยวคนพิการจากต่างประเทศมาเมืองไทย เพราะการมาท่องเที่ยวของกลุ่มนี้มักจะมากันจำนวนหลายคนและมาเป็นระยะเวลา 1-2 เดือน ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่และนำมาซึ่งรายได้ให้แก่ประเทศได้เป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ปัจจุบันกรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานเขตพระนคร ได้ร่วมกับสำนักการโยธา สำรวจและปรับปรุงพัฒนาเส้นทางและพื้นที่สาธารณะต่างๆ มีการปรับปรุงทางเท้า ทางลาด ทางข้าม จุดเชื่อมต่อ ให้ผู้ที่ใช้รถเข็นวีลแชร์ทั้งคนพิการและผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงสถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญในเกาะรัตนโกสินทร์ได้โดยสะดวกยิ่งขึ้น