×

วงในแฉต้นตอ ‘หายนะ’ Zipmex ค้านข้อเสนอคืนเงิน 3.35% ท่ามกลางข้อกังขาหลายประเด็น

01.12.2023
  • LOADING...
Zipmex

ย้อนไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2022 หนึ่งในศูนย์ซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีของไทยอย่าง Zipmex ประกาศระงับการถอนเงินออกจากบัญชี ช็อกวงการคริปโตในประเทศอย่างหนัก ก่อนที่บริษัทจะเดินไปสู่การล่มสลาย และอาจสร้างความเสียหายแก่ลูกค้ากว่า 80,000 ราย คิดเป็นเงินรวมกันกว่า 90 ล้านดอลลาร์ 

 

ในช่วงเวลาหนึ่ง Zipmex เคยถูกประเมินมูลค่าไว้สูงถึง 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.4 หมื่นล้านบาท แล้วอะไรคือต้นตอของปัญหาที่นำไปสู่การล่มสลายของบริษัท 

 

หนี้ทั้งหมดของ Zipmex ในปัจจุบัน

 

จากเอกสารล่าสุดที่ Zipmex เปิดเผยออกมา ปัจจุบัน Zipmex Asia มีเจ้าหนี้มีประกัน 1 ราย และเจ้าหน้าที่เป็นคู่ค้าอีก 7 ราย หนี้รวมประมาณ 5.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

 

ขณะที่ Zipmex ประเทศไทย มีเจ้าหนี้ที่เป็นคู่ค้า 1 ราย และเจ้าหนี้ที่เป็นลูกค้า 83,298 ราย คิดเป็นหนี้รวมประมาณ 98 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

 

จากข้อมูลหนี้ที่เปิดเผยออกมาล่าสุดถือเป็นอีกประเด็นที่ต้องตั้งคำถาม

 

แหล่งข่าวซึ่งเป็นอดีตพนักงานในระดับบริหารของ Zipmex เปิดเผยกับทีมงาน THE STANDARD WEALTH ว่า เดิมทีหนี้ของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หนี้กว่า 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่เพิ่มขึ้นมานี้อาจแสดงว่าผู้บริหารได้นำเงินของลูกค้าที่ติดอยู่ในนั้นไปใช้จ่ายในส่วนต่างๆ อีกเยอะมาก เช่น การจ้างทนาย การจ้างคนมาจัดการเอกสาร 

 

หากเป็นเช่นนั้นจริง แหล่งข่าวมองว่าเงินอีกกว่า 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่ใช้จ่ายไปนี้ควรจะถูกนำมาคืนให้กับลูกค้าดีกว่าหรือไม่ 

 

ข้อเสนอคืนเงิน 3.35% ให้กับเจ้าหนี้

 

หลังความพยายามบางส่วนในการกู้วิกฤตและหาเงินมาคืนลูกค้า ล่าสุด (22 พฤศจิกายน) Zipmex ได้ยื่นข้อเสนอให้กับลูกค้าที่ฝากเงินไว้กับบริษัท ซึ่งปัจจุบันถูกเรียกว่า ‘เจ้าหนี้’ (Creditors) โดยระบุใจความสำคัญว่า จะคืนเงินให้สูงสุด 3.35% ของข้อเรียกร้องที่ได้รับอนุมัติ โดยเงินดังกล่าวจะมาจากสินทรัพย์ที่รวบรวมได้

 

Zipmex ให้เหตุผลผ่านการประชุมว่า ข้อเสนอที่ 3.35% เป็นสิ่งที่ดีกว่ากรณีการชำระบัญชีเพื่อปิดกิจการที่มีสัดส่วนเพียง 1.64% โดยเจ้าหนี้แต่ละคนสามารถใช้สิทธิโหวตได้ถึงวันที่ 6 ธันวาคม 2023 ภายในเวลา 16.00 น. ตามเวลาสิงคโปร์ 

 

แหล่งข่าวมองว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ พร้อมให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า

 

“จริงๆ แล้วลูกค้าไม่ควรจะยอมรับข้อเสนอนี้เลย เพราะหาก Babel และ Celsius คืนเงินกลับมาในจำนวนที่เกินกว่า 3.35% แล้วเงินที่เหลือจะเกิดอะไรขึ้น โดยเฉพาะถ้า Zipmex ล้มละลายไปแล้ว ใครจะเป็นคนนำเงินมาคืนลูกค้าทุกคน”

 

ถึงแม้ลูกค้าจะตอบรับข้อเสนอคืนเงิน 3.35% แต่ยังต้องใช้คำว่า “อาจจะได้คืน” เพราะตอนนี้ยังไม่รู้ว่าบริษัทจะนำเงินมาจากไหน 

 

“ก่อนหน้านี้บริษัทหวังว่าจะขายธุรกิจ Zipmex ประเทศไทยได้ และนำเงินมาคืนเจ้าหนี้ แต่ตอนนี้ในเมื่อขายไม่ได้ก็ไม่รู้ว่าจะนำเงินมาคืนได้อย่างไร หรือกรณีที่ Zipmex ได้เงินคืนจากเจ้าหนี้เกินกว่าเงินที่ตกลงจะจ่ายคืนให้ลูกค้า เขาก็มีสิทธิจะไม่จ่ายคืนเกินกว่า 3.35%”

 

ที่ผ่านมาไม่มีใครสามารถฟ้อง Zipmex สิงคโปร์ได้ เพราะอยู่ภายใต้การคุ้มครองของศาล (Moratorium) เพื่อให้บริษัทหาทางนำเงินมาคืนเจ้าหนี้ แต่ปัจจุบัน Moratorium ดังกล่าวจะจบลงแล้ว หลังจากที่บริษัทขอขยายเวลาหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา แต่หลังจากนี้ไม่น่าจะขอขยายเวลาได้อีกแล้ว 

 

ผลของการเซ็นยินยอมในครั้งนี้เรื่องจะจบ ผู้บริหารของ Zipmex ที่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบก็จะสามารถปิดจบเรื่องนี้และไปเริ่มต้นทำอะไรใหม่ได้ 

 

“ในความจริงผู้บริหารของ Zipmex ปัจจุบันก็ไปเริ่มธุรกิจใหม่ตั้งนานแล้ว ไม่ได้แคร์สถานการณ์ตรงนี้ เลยไม่น่าแปลกใจที่เรื่องออกมาเป็นแบบนี้”

เพราะฉะนั้นวันนี้อยากให้ทุกคนโหวตไม่รับข้อเสนอของ Zipmex เพื่อให้เกิด Creditor Committee ขึ้นมาหลังจากนี้ ซึ่ง Creditor Committee จะได้ตั้งบุคคลภายนอกที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย และมีความโปร่งใส เข้ามาตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับ Zipmex 

 

“แม้ว่า Creditor Committee จะไม่ได้เป็นสิ่งที่ช่วยการันตีว่าทุกคนจะได้รับเงินคืน แต่อย่างน้อยจะช่วยให้ทุกคนได้รู้ว่าข้อมูลที่แท้จริงเป็นอย่างไร แม้ว่ามันอาจจะเป็นหนังคนละม้วนกับเรื่องที่ได้รู้มาก่อนหน้านี้” 

 

ต้นตอหายนะของ Zipmex

 

ก่อนหน้าที่ตลาดคริปโตจะแตกในปี 2022 และตามมาด้วยปัญหาของหลายบริษัทในอุตสาหกรรม เช่น FTX, TerraUSD, Celsius 

 

“ตอนนั้นมีบริษัทสนใจจะเข้ามาซื้อ Zipmex ด้วยมูลค่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ” แหล่งข่าวเริ่มเล่าถึงที่มาที่ไปของวิกฤตที่เกิดขึ้น 

 

แต่เมื่อคริปโตเข้าสู่ขาลง ดีลดังกล่าวจึงถูกยกเลิก ขณะที่ Zipmex ไม่ได้ระดมทุนเพิ่มมาเลยก่อนหน้านั้นนานนับปี ทำให้บริษัทต้องมองหานักลงทุนรายใหม่ และตอนนั้น Babel บอกว่าจะเข้ามาลงทุนด้วย 

 

นั่นเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ Zipmex ไม่ถอนเงินออกมาจาก Babel แม้ว่าตลาดคริปโตโดยรวมจะเริ่มมีปัญหา ไม่เพียงแค่ไม่ถอนเงิน แต่ Zipmex ยังใส่เงินลงทุนเพิ่มบางส่วน และเงินที่ฝากไว้กับ Babel เพียงเจ้าเดียวก็คิดเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างมาก และสุดท้ายก็นำปัญหามาสู่ Zipmex 

 

แหล่งข่าวบอกว่า ปัญหาที่แท้จริงของ Zipmex ที่ฝังรากลึกตั้งแต่แรกคือ บริษัทไม่มี Good Governance หรือธรรมาภิบาลในการบริหารงาน ทั้งเรื่องของการควบคุมความเสี่ยงที่ไม่ดีเพียงพอ รวมทั้งเรื่องของความโปร่งใสในการจัดการปัญหาหลังจากเกิดวิกฤตขึ้นมาแล้ว 

 

อย่างในช่วงที่เกิดปัญหาขึ้นมาแล้ว ผู้บริหารเลือกที่จะไม่สื่อสารข้อมูลหลายอย่างให้กับลูกค้าทราบ เช่น หนี้ที่ Babel ติดค้าง Zipmex อยู่นั้น เบื้องหลังแล้วมีนักลงทุนหลายรายเข้ามาเจรจาเพื่อจะขอซื้อสิทธิรับคืนหนี้ดังกล่าว แต่ผู้บริหารของ Zipmex ก็ไม่ได้เปิดเผยเรื่องดังกล่าวให้ทุกคนรู้ว่าแท้จริงแล้ว Zipmex ยังมีโอกาสได้เงินคืนจาก Babel มากกว่าที่ทุกคนรับรู้ 

 

หรือกรณีของการที่ผู้บริหารบางส่วนของ Zipmex ถอนเงินออกจาก Z Wallet ก่อนที่ปัญหาจะเกิดขึ้นไม่นาน คิดเป็นมูลค่าราว 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

 

หลังจากเกิดวิกฤตขึ้นเมื่อ 20 กรกฎาคม ปีก่อน คณะกรรมการของบริษัทลาออกเกือบทั้งหมด เหลือเพียง มาร์คัส ลิม และเอกลาภ ยิ้มวิไล และยิ่งมาร์คัสถือหุ้นในสัดส่วนค่อนข้างมาก ทำให้มีอำนาจในการตัดสินใจค่อนข้างเบ็ดเสร็จ

 

จุดจบการล่มสลายของ Zipmex 

 

หลังวิกฤตเกิดขึ้นมีข่าวเกิดขึ้นหลายครั้งว่า Zipmex พยายามหาทางออกด้วยการขายธุรกิจในไทยให้กับนักลงทุนรายใหม่ และหนึ่งในดีลที่ใกล้เคียงว่าจะเกิดขึ้นมากที่สุดคือ โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ (TTA) ตกลงในเบื้องต้นว่าจะใส่เงินเข้ามา โดยมีเงื่อนไขว่าให้มาร์คัสโอนหุ้นของตัวเองให้กับผู้ถือหุ้นรายอื่น และต้องหลุดจากตำแหน่งบริหารของ Zipmex 

 

อย่างไรก็ตาม มาร์คัสไม่ยอมเซ็นเพื่อยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวในตอนแรก ก่อนจะยอมเซ็นในภายหลัง แต่สุดท้ายดีลกับ TTA ก็ไม่เกิดขึ้น โดยที่ไม่รู้ว่าสาเหตุที่แท้จริงของการล้มดีลคืออะไร 

 

หลังจากนี้โอกาสที่จะมีนักลงทุนรายอื่นเข้ามาซื้อกิจการของ Zipmex ในไทยน่าจะถูกปิดไปแล้ว เพราะสิ่งที่ดึงดูดนักลงทุนมากที่สุดคือใบอนุญาตประกอบธุรกิจ แต่ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้แจ้งมาแล้วว่าจะดึงใบอนุญาตคืน 

ขณะที่เอกลาภก็ได้ลาออกจากตำแหน่งซีอีโอของ Zipmex ประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ขณะที่บริษัทได้ประกาศระงับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและฝากสินทรัพย์ทุกประเภทเป็นการชั่วคราว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2023 เวลา 13.00 น. และเปิดให้ลูกค้าถอนเงินบาทและสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ใน Trade Wallet ได้จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2024

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X