วันนี้ (24 พฤศจิกายน) มีรายงานแจ้งว่า วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ได้ออกแถลงการณ์เมื่อเวลา 17.00 น. ระบุว่า ‘พล.ต.ท. ชลอ เกิดเทศ หรือป๋าลอ เสียชีวิตแล้วในวัย 85 ปี ด้วยอาการหัวใจล้มเหลว เมื่อเวลา 16.54 น. ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โดยกำหนดการงานสวดอภิธรรมของป๋าลอจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง’
ชลอ เกิดเทศ อายุ 85 ปี มีอาการป่วยจากเส้นเลือดในสมองตีบ ติดเชื้อในกระแสเลือด เบาหวาน ความดัน และโรคไต เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาตั้งแต่กลางเดือนกันยายน 2566
ย้อนเหตุการณ์ออกจากเรือนจำมาปฏิบัติธรรม
ปี 2560 ชลอพ้นโทษออกจากเรือนจำได้มาปฏิบัติธรรมที่วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม ตำบลวังหมี อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ที่มีหลวงพ่อกัณหา สุกาโม เกจิอาจารย์ชื่อดังสายวิปัสสนากรรมฐาน เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งขณะนั้นมีอาการป่วยเป็นเส้นเลือดในสมองตีบมาแล้ว โดยได้นุ่งขาวห่มขาวนั่งรถเข็นปฏิบัติธรรม
และต่อมาปี 2560 ชลอได้บวชเป็นพระที่วัดแพร่ธรรมาราม จังหวัดแพร่ และกลับมาจำพรรษาที่วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมาได้ 1 เดือน กับ 10 วัน ก็ลาสิกขาบทและปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม
กลางเดือนกันยายน 2566 ชลอมีอาการไข้สูง ติดเชื้อในกระแสเลือด จนต้องถูกหามส่งรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาเป็นการด่วน และแพทย์ได้รักษาจนถึงวันนี้ (24 พฤศจิกายน) ได้เสียชีวิตลงด้วยอาการอันสงบ
จากยศ ‘พล.ต.ท.’ สู่คดีอุ้มฆ่าอำพรางสองแม่ลูก
สำหรับ ชลอ เกิดเทศ หรือ พล.ต.ท. ชลอ เกิดเทศ หรือป๋าลอ เกิดเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2481 ครองยศสูงสุด ‘พล.ต.ท.’ ในตำแหน่งผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ และเคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หลายสมัย และขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจได้รับฉายา ‘มือปราบพระกาฬ’
เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2545 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ชลอมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในการฆ่า ดาราวดี และ เสรี ศรีธนะขัณฑ์ บุตรชาย โดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน ให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นประหารชีวิต และศาลฎีกาพิพากษายืนให้ประหารชีวิตเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2552
อย่างไรก็ดี ชลอได้รับพระราชทานอภัยโทษในปี 2553 เหลือโทษจำคุกตลอดชีวิต และในปี 2554 เหลือโทษจำคุก 50 ปี ในปี 2556 ชลอได้รับการพักโทษและปล่อยตัวออกจากเรือนจำกลางบางขวาง
คดีดังกล่าวทำให้ชลอถูกถอดยศ พล.ต.ท. และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งหมดเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2553