×

คณะกรรมการศึกษาประชามติเปิดช่องให้สภาเสนอศาลรัฐธรรมนูญตีความหากขัดแย้ง เชื่อประชาชนเข้าใจหากสุดท้ายเกิดเงื่อนไขทำล่าช้า

โดย THE STANDARD TEAM
24.11.2023
  • LOADING...
คณะกรรมการศึกษาประชามติ

วันนี้ (24 พฤศจิกายน) ที่ทำเนียบรัฐบาล ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการฯ ว่า ที่ประชุมรับทราบรายงานความคืบหน้าหลายประเด็น ทั้งในส่วนของคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นที่ดำเนินการไปพอสมควรแล้ว เหลือการรับฟังความเห็นอีก 2 ภาค คือ ภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่จากกลุ่มชาติพันธุ์ และภาคใต้ที่จังหวัดสงขลา ซึ่งจะรับฟังความเห็นจากชาวใต้และชาวมุสลิม 

 

เหลือฟังความเห็น สว. และ สส.

 

ภูมิธรรมกล่าวว่า ต้องรอเปิดประชุมรัฐสภา เพื่อสอบถามความเห็นจาก สว. และ สส. เมื่อรับฟังหมดแล้วถือว่าครบถ้วน จากนั้นอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นจะทำข้อสรุปและบันทึกความเห็นที่แตกต่าง เพื่อเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจ

 

ขณะที่คณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติยังมีความเห็นแตกต่างในประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 มีการนำข้อกฎหมายต่างๆ มาพิจารณาเพื่อดูว่าจะจัดทำประชามติและมีวิธีการดำเนินการอย่างไร เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปตามที่ประชาชนอยากเห็นมากที่สุด และเป็นเครื่องมือไปสู่การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ทันสมัยขึ้น 

 

เปิดช่องสภาเสนอศาลรัฐธรรมนูญตีความหากขัดแย้ง

 

ภูมิธรรมกล่าวว่า ที่ประชุมเห็นควรให้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อมาให้ความชัดเจนในข้อกฎหมายอีกครั้ง และทำให้การตัดสินใจของคณะกรรมการฯ เกิดความชัดเจน ในที่ประชุมยังหารือว่า การแก้ไขฯ ครั้งนี้มีข้อเสนอว่าควรให้สภาผู้แทนราษฎรมีความเห็นเพื่อเสนอให้ประธานรัฐสภา เป็นผู้เสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหากเกิดกรณีที่มีความเห็นขัดแย้งกัน โดยมอบหมายให้ตัวแทนพรรคการเมืองที่อยู่ในคณะกรรมการฯ ไปปรึกษาหารือกันในพรรคของตัวเอง โดยทั้งหมดนี้จะนำไปประมวลผลและคาดว่าคณะกรรมการชุดใหญ่จะมีข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้

 

ผู้สื่อข่าวถามกรณีที่จะให้พรรคการเมืองเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งเรื่องให้ ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าจะนำเสนอในประเด็นใด ภูมิธรรมกล่าวว่า เป็นความชัดเจนที่เกี่ยวกับการทำ เช่น ต้องทำได้กี่ครั้งและสามารถทำร่วมกับกฎหมายการเลือกตั้งอื่นได้หรือไม่ รวมทั้งสามารถให้ประชาชนออกเสียงผ่านเครื่องมือสื่อสารได้หรือไม่ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะหารือในที่ประชุมสภาก่อน หากที่ประชุมตกลงกันได้ก็ดำเนินการต่อไป แต่หากมีความขัดแย้ง สภาก็ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 

 

ตั้งเป้าได้ข้อสรุปประชามติสิ้นปี

 

ภูมิธรรมกล่าวยืนยันว่า ไม่ได้คิดว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่ปรึกษา แต่หากที่ประชุมสภามีความขัดแย้ง สภามีหน้าที่นำเสนอต่อศาลให้ตีความได้เพื่อให้ได้ข้อยุติ ส่วนการแก้ไขกฎหมายประชามติ ที่ประชุมมีข้อสรุปให้ไปศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม โดย นิกร จำนง โฆษกคณะกรรมการฯ เสนอว่า ยังมีกฎหมายที่สร้างความชัดเจนตรงนี้ได้ จึงมอบหมายให้คณะอนุกรรมการศึกษาไปพิจารณาด้วย เนื่องจากกฎหมายประชามติยังไม่เคยถูกนำมาใช้ จึงต้องไปศึกษาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

 

เมื่อถามว่า จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนภายในสิ้นปีนี้ใช่หรือไม่ ภูมิธรรมกล่าวว่า คณะกรรมการฯ มีความมุ่งมั่นจะทำให้เป็นไปตามไทม์ไลน์ที่นายกรัฐมนตรีบอกไว้ว่าทำไม่ได้ไม่มี มีแต่ทำอย่างไรจะทำให้ได้ 

 

“รัฐบาลตั้งใจจะทำให้สำเร็จเพื่อให้เกิดประโยชน์ และประชาชนอยากได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย อยากได้บรรยากาศและกติกาใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้มากขึ้น แต่สุดท้ายหากเกิดปัญหาที่เป็นเรื่องจำเป็นและมีข้อจำกัดที่รับฟังได้ เชื่อว่าประชาชนจะเข้าใจได้ แม้สังคมอาจจะเกิดความกังวลว่าเป็นการดึงเวลาให้เกิดความล่าช้า” ภูมิธรรมกล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X