ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวบนเวที THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2023 ภายใต้หัวข้อ Building Thailand’s Future-Ready Economy สร้างเศรษฐกิจไทยให้พร้อมไล่ล่าอนาคต
‘Recession’ ปัจจัยท้าทายเศรษฐกิจทั่วโลกปีหน้า
ดร.กอบศักดิ์ กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2024 จะเต็มไปด้วยความท้าทาย โดยได้รับแรงกดดันจากการเกิดภาวะ Recession ที่อาจจะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น EU, สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น และจีน ขณะที่ปัจจัยเรื่องอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่อยู่ในระดับสูงและนาน (Higher for Longer) ประเมินว่าจะกดดันเศรษฐกิจต่อเนื่องไปอีก 6-8 เดือน
ส่วนปัจจัยด้านเงินเฟ้อที่เริ่มเห็นการชะลอตัว โดยเฉพาะเงินเฟ้อสหรัฐฯ นั้น ดร.กอบศักดิ์ ให้ความเห็นว่า แม้จะเริ่มเห็นตัวเลขเงินเฟ้อที่ปรับลดลงอย่างเร็ว แต่เท่าที่ติดตามข้อมูลจาก Fed ก็พบว่า Fed เองก็ยังคงติดตามตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้ง Core Inflation และ PCE ซึ่งหากตัวเลขยังปรับเพิ่มขึ้นก็มีโอกาสที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมกลางเดือนธันวาคมนี้ เพื่อปราบเงินเฟ้อและดึงลงสู่ระดับเป้าหมายที่ 2%
“เศรษฐกิจจีนเองก็เข้าสู่ภาวะที่ไม่ง่าย แม้จะมี Whitelist 50 บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่งประกาศมาว่าอาจจะได้รับความช่วยเหลือทางการเงิน แต่หากเศรษฐกิจหลักของโลกเป็นแบบนี้ เท่ากับส่งออก (ของไทย) ก็ไม่สามารถคาดหวังได้มาก เรายังไม่ถึงจุดต่ำสุด ปี 2024 เศรษฐกิจจะต่ำลงกว่า 2023” ดร.กอบศักดิ์ กล่าวให้รายละเอียด
Geopolitical Risk ความเสี่ยงหลักระยะยาวของโลก
สำหรับประเด็นของความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ หรือ Geopolitical Risk ดร.กอบศักดิ์ มองว่า สัญญาณต่างๆ ที่เกิดขึ้นตอนนี้บ่งชี้ว่าเป็นปัญหาระยะสั้นและหลายประเทศทั่วโลกน่าจะปรับตัว รับมือ และผ่านพ้นไปได้ในช่วงหนึ่งปีจากนี้
อย่างไรก็ตาม สัญญาณจาก Geopolitical Risk กำลังบอกถึงเทรนด์หลักของโลกนี้อย่างหนึ่ง นั่นก็คือโลกกำลังเข้าสู่โค้งอันตราย สัญญาณต่างๆ ชี้ว่าโลกกำลังพลิกผันอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
“ผมได้ฟังท่านทูตสหรัฐฯ ท่านบอกว่าเรามีสันติภาพมายาวนาน ทุกคนได้รับการปกป้อง แต่ตอนนี้สันติภาพกำลังหายไป ดูจากสงครามที่อยู่ๆ ก็เกิดขึ้น โลกกำลังไม่สันติแล้ว นี่ก็เป็นสัญญาณอันตราย”
นอกจากนั้นโลกของเทคโนโลยีก็เปลี่ยนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในอัตราเร่งที่เคยเกิดมาก่อน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ที่ก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณอันตรายเช่นกัน
และอีกหนึ่งการพลิกผันที่ต้องจับตาก็คือศูนย์กลางการค้าขายของโลกจะไม่ได้อยู่ที่ยุโรปและอเมริกาอีกต่อไป แต่จะมาอยู่ที่เอเชีย
“โลกที่เรารู้จักกำลังพลิกผันครั้งใหญ่ สิ่งสำคัญก็คือเราจะทำอย่างไรกับมัน” ดร.กอบศักดิ์ กล่าวย้ำ
เศรษฐกิจไทยปีหน้ารอด แต่ระยะยาวยังเสี่ยง
เขากล่าวอีกว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2024 เชื่อว่าแม้จะเต็มไปด้วยความท้าทาย แต่เศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตได้ ซึ่งหากมีการกระตุ้นเศรษฐกิจบ้างก็เป็นเรื่องที่ดีและจะให้ผลเชิงบวก แต่สิ่งสำคัญคือควรกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยงบประมาณที่เหมาะสม ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าควรกระตุ้นเศรษฐกิจราว 3-4 แสนล้านบาท และควรเลือกกระตุ้นเฉพาะกลุ่มที่มีความจำเป็น
“ปีหน้าเศรษฐกิจไทยท้าทายแน่ กระตุ้นบ้างก็ดี แต่กระตุ้นเท่าไรจึงจะเหมาะสม เพราะปกติเวลาที่เศรษฐกิจไม่ดีก็กระตุ้น ต้มยำกุ้งจบก็กระตุ้น เหมือนรถที่ชะลอ เราก็ต้องเหยียบคันเร่ง ที่เหมาะสมมองว่า 3-4 แสนล้าน คือไม่จำเป็นต้องให้ทุกคน เราสเกลดาวน์ลงมาได้ คิดว่าถ้าตกลงกันในตัวเลขที่เหมาะสม ทุกฝ่ายก็จะโอเค” ดร.กอบศักดิ์ กล่าว
แนะเร่งรีฟอร์ม 3 สิ่ง ฟื้นเสน่ห์
ดร.กอบศักดิ์ กล่าวเพิ่มว่า สิ่งที่กังวลใจที่สุดก็คือประเทศไทยกำลังเข้าโค้งสำคัญในตอนที่เราอ่อนแอ เพราะบุญเก่าหมด อุตสาหกรรมที่เคยเป็นเครื่องยนต์เริ่มอ่อนแรง ทั้งอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ที่ซบเซาลงและแทบจะหายไปจากความสนใจของตลาดโลก อุตสาหกรรมเกษตรเองก็น่ากังวล เช่นเดียวกันกับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง นอกจากนี้เรายังมีความขัดแย้งภายในด้วย ซึ่งเป็น Distraction ในช่วงที่เข้าโค้งสำคัญ ซึ่งหากเราพลาดในจุดนี้มันจะมีนัยต่อเราในเวลานาน
“ถ้าถามผม ผมไม่กังวลใจปีหน้า คิดว่าจัดการได้ แต่ระยะยาวที่โลกกำลังเข้าสู่ Multipolar World เราจะปรับตัวได้หรือไม่ และทำอย่างไรได้บ้าง เป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก”
ทั้งนี้ ดร.กอบศักดิ์ แนะนำให้ประเทศไทยเร่งรีฟอร์ม 3 เรื่อง เพื่อดึงความน่าสนใจกลับมาสู่ประเทศ โดยเฉพาะความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติ ดังนี้
- ต้องเป็นประเทศที่เป็นกลาง เพราะ FDI ที่กำลังมาลงทุนในไทยมาเพราะหนีจากจีนมา ซึ่งปัจจัยที่นักลงทุนใช้พิจารณาคือต้องหนีอีกรอบหรือไม่ ถ้าประเทศไทยเป็นกลาง เท่ากับเราเป็นพื้นที่สันติที่นักลงทุนมองหา ในอนาคตคุณค่าความเป็นกลางจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางความขัดแย้ง
- ต้องสร้าง Connectivity ซึ่งเรื่องนี้คือจุดเด่นที่ไทยไม่เคยเอามาใช้ ปัจจุบันไทยมี Infrastructure ดีสุดท่ามกลางประเทศอาเซียน ถ้าเราสร้างการเชื่อมโยงพื้นที่ทางการค้าและเศรษฐกิจได้ สร้างการเชื่อมโยงที่ดึงดูดต่างชาติ เราก็จะมีเสน่ห์ขึ้นอีกครั้ง
“สำหรับแลนด์บริดจ์ ในความคิดเห็นผมพื้นที่ที่มีค่าที่สุดคือท่าเรือฝั่งตะวันตก ส่วนการเชื่อมโยง เรามีรถไฟรางคู่เชื่อมต่อมาที่แหลมฉบังอยู่แล้ว” ดร.กอบศักดิ์กล่าว
- ต้องทำให้ประเทศไทยเปิดกว้างสำหรับ Talented เพราะประเทศไทยเองไม่สามารถสร้าง Talented ได้เองภายใน 3 ปี จึงควรเปิดประเทศให้กว้าง ต้อนรับแรงงานทักษะสูงเข้าสู่ประเทศไทย
“ยกตัวอย่าง ถ้าสงครามอิสราเอลยืดเยื้อ ยูนิคอร์นในอิสราเอลก็ต้องหาที่ใหม่ ถ้าเราทำพื้นที่เราให้พร้อม และคว้าโอกาสตรงนี้ไว้ได้ เราก็มีเสน่ห์ขึ้น” ดร.กอบศักดิ์ย้ำ
ดร.กอบศักดิ์ กล่าวส่งท้ายผ่านเวที THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2023 ด้วยคำสั้นๆ ว่า “ทำ” เพราะประเทศไทยแผนเยอะแต่ทำน้อย ขณะที่ประเทศไทยมีเรื่องให้ทำอีกมากมาย ซึ่งหากช่วยทำกันคนละเรื่อง แค่นี้ประเทศไทยก็เจริญแล้ว ไม่จำเป็นต้องทำเรื่องใหญ่ ทำเรื่องในพื้นที่หรือในชุมชนเราก็ได้ แต่ว่าทำ เพราะนี่คือสิ่งที่ประเทศไทยขาด
📌อัปเดตเทรนด์โลกกว่า 20+ Sessions ซื้อบัตรชมย้อนหลังได้ที่ https://bit.ly/TSEF2023ED
✅ ราคาพิเศษ! 2,500 บาท ถึง 31 ธ.ค. 66 เท่านั้น
✅ รับชมออนไลน์ทุกที่ทั่วโลก
✅ ดูย้อนหลังนาน 6 เดือน (1 ธ.ค. 66 – 31 พ.ค. 67)
✅ สรุปเนื้อหา Visual Summary ทุกเวที
Media Partner
📌รับสรุปเนื้อหาทุกเวที 20+ Sessions
ซื้อบัตรชมย้อนหลังวันนี้ดูได้นานถึง 6 เดือน