เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (21 พฤศจิกายน) มีการประชุมผู้ถือหุ้น (AKA ตัวแทนสโมสร) พรีเมียร์ลีก ซึ่งมีวาระสำคัญที่ถูกจับตามองจากหลายฝ่าย
วาระสำคัญดังกล่าวคือ เรื่องของกฎการยืมตัวผู้เล่นที่จะห้ามไม่ให้สโมสรยืมผู้เล่นจากสโมสรที่มีความเชื่อมโยงกัน หรือหากจะพูดให้ง่ายกว่านั้นคือมีเจ้าของเดียวกัน
ผลปรากฏว่า มติในที่ประชุมออกมาเป็น 12 ต่อ 8 นั่นหมายถึงมีเสียงไม่เพียงพอสำหรับการออกกฎการยืมตัวใหม่
8 สโมสรที่คัดค้านมีทีมใดบ้าง และเรื่องนี้มีความหมายที่แท้จริงอย่างไรกันแน่?
ในการประชุมพรีเมียร์ลีกเมื่อวันอังคารที่ 21 พฤศจิกายนนั้น มีวาระใหญ่ในการประชุมสองเรื่องด้วยกัน
เรื่องที่ถูกจับตามองมากที่สุดคือเรื่องของกฎการยืมตัวผู้เล่น ที่มีการเสนอให้ห้ามมิให้สโมสรในพรีเมียร์ลีกยืมตัวผู้เล่นจากสโมสรที่มีความเชื่อมโยงกัน (Related Clubs) ในช่วงตลาดการซื้อ-ขายรอบฤดูหนาวที่จะเปิดในเดือนมกราคมที่จะถึงนี้
ที่เรื่องนี้เป็นวาระขึ้นมานั้นเกิดจากความกังวลว่า จะมีสโมสรในพรีเมียร์ลีกที่ได้ประโยชน์จากการยืมตัวผู้เล่นจากสโมสรที่มีเจ้าของเดียวกัน
โดยสโมสรที่ถูกเพ่งเล็งมากที่สุดคือนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือกองทุน Saudi Arabia Public Investment Fund (PIF) ซึ่งซื้อหุ้นของ 4 สโมสรระดับยักษ์ใหญ่ในประเทศ อันได้แก่ อัล ฮิลาล, อัล อิตติฮัด, อัล นาสเซอร์ และอัล อาห์ลี ซึ่งเขย่าวงการฟุตบอลอย่างรุนแรงในช่วงตลาดการซื้อ-ขายฤดูร้อนรอบที่ผ่านมา
มีซูเปอร์สตาร์มากมายที่ถูกดึงดูดให้ไปค้าแข้งในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งรวมถึงนักเตะระดับท็อปสุดของโลกอย่าง คาริม เบนเซมา, เนย์มาร์, ซาดิโอ มาเน
และคนที่กำลังเป็นประเด็นถูกจับตามองมากที่สุดอย่าง รูเบน เนเวส กองกลางทีมชาติโปรตุเกสที่ย้ายทีมแบบช็อกความรู้สึก จากเดิมที่ตั้งใจจะไปบาร์เซโลนา กลับเลือกที่จะไปอัล ฮิลาล ด้วยเหตุผลเรื่องรายได้ที่จะทำให้ครอบครัวมีความสุขและความมั่นคงไปตลอดชีวิต
อย่างไรก็ดี เนเวสตกเป็นข่าวว่าอาจจะถูกนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ขอยืมตัวมาใช้งานในช่วงตลาดการซื้อ-ขายรอบเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ เพื่อทดแทน ซานโดร โตนาลี กองกลางสายพันธุ์ดุทีมชาติอิตาลี ที่ชดใช้การกระทำผิดของตัวเองในการติดการพนันด้วยการโดนแบนยาวถึง 8 เดือน
ตรงนี้เองที่เป็นปัญหา เพราะนิวคาสเซิลและอัล ฮิลาล มีเจ้าของเดียวกันคือ PIF
ในความรู้สึกของสโมสรอื่นแล้วเรื่องนี้น่ากังวล เพราะอย่าลืมว่า 4 สโมสรของ PIF ในซาอุดีอาระเบียมีนักเตะระดับโลกมากมายเต็มไปหมด – ซึ่งรวมถึง คริสเตียโน โรนัลโด ด้วย! – มันจะเกิดอะไรขึ้นหากปล่อยให้นิวคาสเซิลสามารถยืมใช้งานผู้เล่นเหล่านี้ได้อย่างอิสระ
อย่างไรก็ดี ปรากฏว่าในที่ประชุมพรีเมียร์ลีกมีมติเห็นชอบกับการออกกฎการแบนห้ามไม่ให้ยืมผู้เล่นจากสโมสรที่มีความเชื่อมโยงกัน 12 ต่อ 8 เสียง
ตามระเบียบของพรีเมียร์ลีก การจะออกกฎหรือการเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตามจะต้องได้รับการรับรองจากสโมสรผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 2 ใน 3 หรือ 14 เสียง ดังนั้นกฎห้ามยืมตัวใหม่นี้จึงถูกปัดตกลงไป
ใครคือ 8 สโมสรที่ร่วมต้าน?
สื่อในอังกฤษได้พยายามสืบสาวว่าใครคือ 8 สโมสรที่พยายามร่วมต้านกฎใหม่ที่เป็นการ ‘พยายามจำกัดอำนาจ’ ของสโมสรฟุตบอลที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ (State Club) ซึ่งนอกจากนิวคาสเซิลแล้วยังมีแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ด้วย
ปรากฏว่า 8 สโมสรที่ถูกมองว่าเป็น ‘กบฏ’ ได้แก่ นิวคาสเซิล (แน่นอน), เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด, แมนเชสเตอร์ ซิตี้, เชลซี, เอฟเวอร์ตัน, วูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอเรอร์ส, น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ และเบิร์นลีย์
เรื่องนี้เป็นเพราะสโมสรอย่างแมนฯ ซิตี้ (เป็นเจ้าของคิโรนาในลาลีกาและอีก 11 ทีมทั่วโลก), เชลซี (เจ้าของสตาร์สบูร์กในลีกเอิง), วูล์ฟส (มีคอนเน็กชันกับสโมสรในโปรตุเกส) หรือฟอเรสต์ (เป็นเจ้าของเดียวกับโอลิมเปียกอสในลีกกรีซ) และพาเลซ (เจ้าของเดียวกับโอลิมปิก ลียง ในลีกเอิง) เจ้าของสโมสรมีการลงทุนมากกว่า 1 สโมสรในยุโรป การสนับสนุนกฎนี้อาจหมายถึงการเอาเชือกมาผูกแข้งผูกขาของตัวเอง จึงร่วมต่อต้าน
ขณะที่ทีมที่ทำให้หลายสโมสรผิดหวังอย่างมากคือเชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ที่ร่วมต้านการออกกฎนี้ด้วย
แต่ในเบื้องหลังแล้วเจ้าของสโมสรของทีมดาบคู่คือ เจ้าชายอับดุลเลาะห์ บิน มูซาอิด อัล ซาอูด จากซาอุดีอาระเบีย ซึ่งทำให้เห็นภาพความเชื่อมโยงได้ว่า ทำไมจึงร่วมต้านกฎที่จะเป็นการจำกัดอำนาจและอิทธิพลของซาอุดีอาระเบียในพรีเมียร์ลีก
อย่างไรก็ดี เชื่อว่าจะมีความพยายามอีกครั้งในการจำกัดอำนาจของ PIF ในช่วงตลาดการซื้อ-ขายรอบใหม่ในช่วงฤดูร้อนปีหน้า
ส่วนนิวคาสเซิลนั้นต้องจับตาว่าจะยืมตัวเนเวสตามกระแสข่าวจริงหรือไม่ หลังจากเคยพยายามปฏิเสธเรื่องนี้ก่อนหน้านี้
อัฐยายซื้อขนมยายได้ไปต่อ
นอกจากเรื่องของกฎการห้ามยืมผู้เล่นที่ล้มเหลวแล้ว ความพยายามในการออกกฎที่เข้มงวดขึ้นในเรื่องของข้อตกลงทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเจ้าของสโมสร (เช่น แมนเชสเตอร์ ซิตี้ กับ Etihad และนิวคาสเซิลกับบริษัทซาอุดีอาระเบียทั้งหลาย) ก็ไม่สำเร็จด้วยเช่นกัน
โดยในการโหวตนั้นปรากฏว่าที่ประชุมมีมติ 13 ต่อ 7 เสียง
เรียกได้ว่าถูกปัดตกไปแบบฉิวเฉียด!
สำหรับ 7 สโมสรที่ร่วมต้านนั้นก็เป็นชุดเดิมกับที่ต้านการออกกฎห้ามยืมตัวใหม่ ยกเว้นเพียงเบิร์นลีย์ที่โหวตเห็นชอบให้มีการตรวจสอบที่เข้มงวดขึ้นเกี่ยวกับการสนับสนุนจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ดังนั้นอนุมานได้ว่า เราจะได้เห็นการเข้าสนับสนุนสโมสรฟุตบอลจากบริษัทที่มีความเชื่อมโยงหรือเกี่ยวข้องไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมกับสโมสรฟุตบอลต่อไปเหมือนเดิม
กรณีนี้แม้เหมือนจะเป็นเรื่องเก่า แต่มีกรณีปัญหาที่คาราคาซังมาก่อน โดยเฉพาะแมนฯ ซิตี้ ที่มีกรณีอื้อฉาวเรื่องการจ่ายเงินให้แก่ โรแบร์โต มันชินี อดีตผู้จัดการทีม โดยไม่ได้ผ่านสโมสรโดยตรง แต่เป็นการใช้บริษัทในเครือข่ายอำนาจจ่ายให้แก่บริษัทของผู้จัดการทีมชาวอิตาลีที่จัดตั้งขึ้นมา ซึ่งเรื่องแดงขึ้นมาผ่านการเปิดโปงของ Football Leaks
คดีนี้ทำให้แมนฯ ซิตี้ ถูก UEFA ลงโทษแบนห้ามแข่งขันรายการสโมสรยุโรปเป็นเวลา 2 ปี ก่อนที่อนุญาโตตุลาการกีฬา (CIS) จะกลับคำตัดสินยกฟ้องด้วยเหตุผลว่า ระยะเวลาในเอกสารที่มีการอ้างอิงไม่สามารถนำมาใช้ได้ เพียงแต่เรื่องยังไม่สิ้นสุด เมื่อพรีเมียร์ลีกตั้งคณะกรรมการสอบสวนใหม่และมีการฟ้องร้องถึง 115 ข้อหาที่ถูกจับตามองว่าจะมีการตัดสินและบทลงโทษอย่างไร
แต่อย่างน้อยตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา มีการออกกฎเรื่อง Fair Market Value ที่ทุกสโมสรจะต้องส่งข้อมูลเรื่องเงินสนับสนุนจากสปอนเซอร์ที่ย้อนหลังไปถึงปี 2016 เพื่อมีการประเมินว่าเป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสมหรือไม่
ส่วนเรื่องการลงโทษปรับเอฟเวอร์ตัน 10 แต้มจากการผิดกฎการเงิน Profit and Sustainability Rule (PSR) ว่าจะต้องมีการจ่ายค่าชดเชยหรือไม่ ยังไม่มีการหารือกันในที่ประชุมรอบนี้แต่อย่างใด
อ้างอิง
- https://www.thetimes.co.uk/article/the-seven-clubs-that-blocked-ban-on-signing-players-from-sister-sides-ww65xgzsw
- https://www.telegraph.co.uk/football/2023/11/21/newcastle-ruben-neves-saudi-arabia-premier-league-transfers/
- https://www.telegraph.co.uk/football/2023/11/21/premier-league-clubs-block-ban-loans-associated-newcastle/
- https://www.reuters.com/sports/soccer/newcastle-get-green-light-loan-players-saudi-pro-league-media-2023-11-21/
- https://www.bbc.com/sport/football/67490620