×

โตต่ำคาด! สภาพัฒน์เผย GDP ไตรมาส 3 ชะลอตัวเหลือ 1.5% เท่านั้น คาดทั้งปีนี้โตเพียง 2.5% ปีหน้า 3.2%

20.11.2023
  • LOADING...
สภาพัฒน์เผย GDP

สภาพัฒน์เผย GDP ไทยไตรมาส 3 ชะลอตัวเหลือ 1.5% เท่านั้น ต่ำกว่าคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ พร้อมคาดทั้งปีนี้โตเพียง 2.5% ปีหน้าโต 3.2% ซึ่งยังไม่ได้คำนวณโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเข้าไป เนื่องจากยังต้องรอคำวินิจฉัยจากกฤษฎีกาก่อน

 

วันนี้ (20 พฤศจิกายน) ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3/66 ขยายตัว 0.8% (QoQ) และ 1.5% (YoY) ต่ำกว่าที่ตลาดคาดที่ 2.2% (YoY) ชะลอตัวลงจาก 1.8% (YoY) ในไตรมาส 2/66 ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 1.9%

 

 

โดยการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP Growth) ที่ชะลอตัวในไตรมาสที่ผ่านมาเป็นผลจากการส่งออกรวมชะลอลง -3.1% จากการส่งออกสินค้าที่ลดลง การใช้จ่ายรัฐบาลยังคงลดลง -4.9% ซึ่งมีปัจจัยหลักมาจากการลดลงของการใช้จ่ายด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิดที่ลดลง แม้ว่าการบริการได้ขยายตัวจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น การอุปโภคบริโภคของครัวเรือนที่ขยายตัวต่อเนื่องที่ 8.1% และการลงทุนของภาคเอกชนที่เร่งตัวขึ้น +3.1%

 

 

สำหรับประมาณการ GDP ทั้งปี 2566 สภาพัฒน์คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.5% เท่านั้น ชะลอตัวเมื่อเทียบกับปี 2565 ซึ่งขยายตัวอยู่ที่ 2.6%

 

ส่วนประมาณการของปี 2567 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3.2% (กรอบ 2.7-3.7%) เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยเสี่ยง ดังนี้

 

ปัจจัยสนับสนุนสำหรับเศรษฐกิจไทย ปี 2567

 

  • มูลค่าและปริมาณการส่งออกสินค้าของไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้นทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม สอดคล้องกับแนวโน้มปริมาณการค้าโลกที่เริ่มมีสัญญาณของการฟื้นตัว สะท้อนจากดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมสำหรับยอดคำสั่งซื้อใหม่ และแนวโน้มขาขึ้นของวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
  • การขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน ตามยอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้น สอดคล้องกับการดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบกับการขยายพื้นที่และการเช่าพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงความคืบหน้าของโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP)
  • การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะทรงตัวในระดับต่ำ การปรับตัวดีขึ้นของตลาดแรงงาน และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น

 

ข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงในปี 2567

 

  • การลดลงของแรงขับเคลื่อนทางการคลัง โดยเป็นผลจากความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณในปีงบประมาณ 2567 ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้ได้ในเดือนเมษายน รวมถึงการลดลงของพื้นที่ทางการคลัง ซึ่งจะกลายเป็นข้อจำกัดต่อการดำเนินนโยบายเพื่อรองรับความเสี่ยงในระยะต่อไป
  • สัดส่วนหนี้สินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบาง ครัวเรือนรายได้น้อย ธุรกิจ SMEs และลูกหนี้ภาคเกษตร ท่ามกลางภาระดอกเบี้ยในระดับสูง
  • สภาวะเอลนีโญ ทำให้ปริมาณฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ และอาจส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตร
  • ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกน่าจะชะลอตัวหนักกว่าคาด การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนยังมีข้อจำกัด และสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส รัสเซียและยูเครน ซึ่งอาจยกระดับความรุนแรงมากขึ้นจนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและระบบการเงินโลก

 

นอกจากนี้ เลขาธิการสภาพัฒน์ชี้แจงว่า ประมาณการ GDP ปี 2567 ยังไม่ได้รวมโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเข้าไป เนื่องจากยังไม่แน่นอนว่าสุดท้ายจะใช้วงเงินงบประมาณเท่าไร และยังต้องรอคำวินิจฉัยจากกฤษฎีกาก่อน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising