ทำธุรกิจฝันมันต้องใหญ่ จากนี้กาแฟพันธุ์ไทยไม่ต้องการเป็นแค่เบอร์ 2 อยากขอส่วนแบ่งในตลาดกาแฟแค่ 45% พอ! ‘พิทักษ์ รัชกิจประการ’ หัวเรือใหญ่ บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี ย้ำหลังเปิดตัวกาแฟดริปรักษ์โลก 9 คอลเล็กชันใหม่ รับโอกาสตลาด Home Coffee เติบโต 12%
“ปัจจุบันผู้บริโภคที่ชื่นชอบดื่มกาแฟไม่ได้เดินทางไปที่คาเฟ่เพียงอย่างเดียว แต่คนบางกลุ่มก็นิยมดริปกาแฟดื่มเองที่บ้าน ด้วยความเคยชินจากช่วงโควิดและเทรนด์ Work from Home ทำให้ตลาดกาแฟ Home Coffee เติบโตสูงถึง 12% จากภาพรวมตลาดกาแฟในประเทศไทยมูลค่า 6 หมื่นล้านล้านบาท มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะเครื่องดื่มกาแฟกลายเป็นเมนูที่คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะ Gen Z นิยมสั่งในชีวิตประจำวันไปแล้ว” พิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี หรือ PTG กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
จากโอกาสที่มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้กาแฟพันธุ์ไทยเปิดตัวคอลเล็กชันใหม่ ‘9 กาแฟดริปรักษ์โลกพันธุ์ไทย’ ถือเป็นกาแฟพรีเมียมที่ได้นักสร้างสรรค์กาแฟที่มีชื่อเสียง 6 คน มาร่วมกันพัฒนาตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ การปลูก การดูแลรักษาจนได้ต้นกาแฟที่มีผลเชอร์รีสุกให้เก็บเกี่ยว การคัดเลือกสารกาแฟ การคั่ว Cupping กันหลายต่อหลายครั้ง รวมถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้
เบื้องต้นจะวางจำหน่ายที่หน้าร้านกาแฟพันธุ์ไทยตั้งแต่วันนี้ – 31 มีนาคม 2567 คาดว่าคอลเล็กชันดังกล่าวจะสร้างยอดขายได้ประมาณ 10% หลังจากนั้นก็เตรียมขยายตลาด Home Coffee ในรูปแบบกาแฟพรีเมียมอื่นๆ ต่อไป
ถึงกระนั้นเซ็กเมนต์กาแฟนอกบ้าน (Out of Home Coffee) ยังคงเป็นสัดส่วนใหญ่ถึง 45% และเติบโต 9.5% ต่อปี โดยข้อมูลจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือดีพร้อม ระบุว่า ปัจจุบันผู้บริโภคในไทยดื่มกาแฟสูงถึง 70,000 ตันต่อปี ถ้าเทียบในอดีตคนไทย 1 คน ดื่มกาแฟประมาณ 180 แก้วต่อปี แต่ปัจจุบัน 1 คน ดื่มประมาณ 300 แก้วต่อปี ซึ่งยังถือว่าน้อยถ้าเทียบกับชาวยุโรปที่ดื่มกาแฟ 600 แก้วต่อคนต่อปี
อีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญนอกจากการขยายสินค้าแล้วยังต้องขยายฐานลูกค้าใหม่ด้วยการเปิดสาขาเพิ่มขึ้นในปี 2567 กาแฟพันธุ์ไทยจะใช้เงินลงทุน 1 พันล้านบาท เปิดร้าน 800 สาขาในพื้นที่สถานีบริการน้ำมันและในพื้นที่ที่มีทราฟฟิกสูงอย่าง CBD ในหัวเมืองหลักและสถานที่ท่องเที่ยว ร้านส่วนใหญ่เราบริหารเอง 70% ส่วนร้านของแฟรนไชส์อยู่ที่ 30%
ความท้าทายของธุรกิจร้านกาแฟ นอกจากรสชาติและการแข่งขันสูงแล้วยังเป็นเรื่องของจำนวนสาขาต้องมีมากพอให้คนเข้าถึงได้ง่าย หากสังเกตจะเห็นว่าวันนี้ปัจจัยแรกที่คนจะตัดสินใจซื้อกาแฟคือความสะดวก จึงเป็นที่มาว่าทำไมเราถึงเร่งขยายสาขาทั่วประเทศ
“เป้าหมายในอีก 4-5 ปีข้างหน้า กาแฟพันธุ์ไทยจะมีสาขาทั้งหมด 5,000 แห่ง ซึ่งต้องยอมรับว่าการทำธุรกิจมันต้องฝันให้ใหญ่ เราจะไม่เป็นเบอร์ 2 ในตลาดกาแฟ เพราะส่วนใหญ่คนเราจะจำเบอร์ 2 ไม่ค่อยได้ แต่ก็ไม่ได้บอกว่าเราจะขึ้นเป็นเบอร์ 1 ให้ได้ตอนนี้เลย แต่เราจะขอแค่ส่วนแบ่งการตลาดแค่ 45% เท่านั้นพอ และจะขอขึ้นเป็นที่ 1 ในใจผู้บริโภคให้ได้” พิทักษ์ย้ำ
นอกจากนี้ ในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ยังเตรียมนำร้านกาแฟพันธุ์ไทย 5 สาขา ไปเปิดใน สปป.ลาว ในรูปแบบการจับมือกับพาร์ตเนอร์ โมเดลเดียวกันกับร้านในไทย และสเต็ปถัดไปก็จะทยอยเข้าไปเปิดตลาดในประเทศ CLMV ซึ่งเรามองว่าตลาด CLMV โดยเฉพาะ สปป.ลาว มีโอกาสเติบโต เพราะผู้บริโภคมีพฤติกรรมการดื่มกาแฟคล้ายๆ กันกับไทย
ทั้งนี้ กาแฟพันธุ์ไทยมียอดขายในไตรมาส 1-3 ปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 1.2 พันล้านบาท เติบโต 80% จากปีที่ผ่านมา คาดว่าในปีนี้บริษัทจะสามารถทำยอดขายทั้งปีกว่า 1.7 พันล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากการสร้างสีสันทางการตลาดด้วยการออกเมนูรสชาติใหม่ๆ ทั้ง Coffee และ Non-Coffee ออกมาสู่ตลาดเป็นระยะๆ