กระทรวงการคลังเผยยังไม่ได้ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท แต่จะพยายามเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้ โดยหาก พ.ร.บ.ผ่านแล้ว รัฐบาลจะกู้เงินผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาล (Bond) ทั้งหมด
วันนี้ (16 พฤศจิกายน) จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ทางกระทรวงการคลังยังไม่ได้ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน เพื่อใช้ทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้านบาท แต่จะพยายามร่างให้เสร็จเพื่อเข้ากฤษฎีกาก่อน ค่อยเสนอ ครม. ให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้
โดยหากร่าง พ.ร.บ.กู้เงินนี้ผ่านแล้ว รัฐบาลจะกู้เงินผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาล (Bond) ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม จุลพันธ์ยืนยันว่า จะไม่ออกพันธบัตรรัฐบาลรวดเดียว 5 แสนล้านบาท เนื่องจากจะไม่กู้เงินมาเพื่อมาหนุน (Back) เงินดิจิทัล แต่เป็นการกู้หลังจากประชาชนมาขึ้นเงินแล้ว
รมช.คลัง ยังอธิบายต่อว่า การดำเนินการลักษณะนี้ไม่ได้เป็นการเสกเงิน และไม่ได้เป็นการละเมิด พ.ร.บ.เงินตราฯ เนื่องจากจะใช้เงินคงคลังที่มีอยู่จ่ายให้กับประชาชนที่ต้องการขึ้นเงินไปก่อน ค่อยทยอยกู้เงินมาโปะ
“กระบวนการรับรู้หนี้ (Realize Debt) จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อประชาชนคนหนึ่งตัดสินใจว่าจะไปขึ้นเงินสด ซึ่งอาจเกิดขึ้นในวันไหนก็ได้หลังเริ่มโครงการ จะเป็นวันแรกก็ได้ ถ้ารัฐบาลไม่มีกลไกจูงใจให้คนคง (Hold) เงินไว้ในระบบ แต่รัฐบาลจะสร้างกลไกให้จูงใจ เพื่อให้คนนำเงินดิจิทัลวอลเล็ตไปใช้ต่อไป” จุลพันธ์กล่าว
พร้อมทั้งอธิบายต่อว่า “วันที่คนตัดสินใจขึ้นเงินคือวันที่ภาระหนี้ของรัฐบาลเกิด ซึ่งอาจเกิดในอีก 2-3 ปีข้างหน้าก็ได้ ซึ่งนับว่าอยู่หลังจากการกระตุ้นเศรษฐกิจไปยาวนานแล้ว หมายความว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP Growth) จะเกิดขึ้นก่อน ซึ่งจะทำให้อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP จะลดลงทันที ดังนั้นเราจึงมองว่าภาระหนี้สินภายหลังจึงไม่ได้เป็นความรุนแรงอะไร และอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP น่าจะอยู่ในกรอบใกล้เคียงกับปัจจุบันด้วยซ้ำ”
ส่วนกลไกที่จะจูงใจไม่ให้ผู้คนถอนเงินมีหลายช่องทาง เช่น กลไกจากภาคเอกชน เช่น การลดแลกแจกแถม ตัวอย่างเช่น ประชาชนมาซื้อของในมูลค่า 10,000 บาท แต่ได้ของในมูลค่า 11,000-12,000 บาท ส่วนกลไกของภาครัฐตัวอย่างเช่น การจูงใจทางภาษี อาทิ การซื้อของบางกลุ่มอาจได้สิทธิพิเศษเพิ่มเติม
สำหรับแผนการออกพันธบัตรรัฐบาลว่าจะเป็นระยะสั้นหรือยาว ให้ดอกเบี้ยเท่าไร ต้องรอความชัดเจนจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) อีกที
ส่วนก่อนหน้านี้ที่มีรายงานว่าจะใช้เงินงบประมาณราว 1.6-1.7 แสนล้านบาทที่สำนักงบประมาณเกลี่ยมาให้ไปใช้โครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้น ทาง รมช.คลัง ยืนยันว่า จะไม่ใช้เงินส่วนนี้กับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตแล้ว เนื่องจากมีอุปสรรคด้านหลักการทางเศรษฐศาสตร์ว่าเงินส่วนนี้ถือเป็น New Money หรือไม่ เนื่องจากเงินส่วนนี้เท่ากับว่าเป็นการเปลี่ยนมือผู้ใช้เท่านั้น จากรัฐบาลไปเป็นประชาชน