×

เศรษฐากล่าวปาฐกถาเวที APEC 2023 ย้ำถึงเวลาแล้วที่จะลงทุนในประเทศไทย

โดย THE STANDARD TEAM
16.11.2023
  • LOADING...
เศรษฐา APEC 2023

วานนี้ (15 พฤศจิกายน) เวลา 13.30 น. (ตามเวลาท้องถิ่นนครซานฟรานซิสโก ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 15 ชั่วโมง) ที่ Summit Main Hall ศูนย์การประชุม Moscone Center (West) นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาในการประชุมสุดยอดผู้นำภาคเอกชนของเอเปค (APEC CEO Summit 2023) ในห้วงสัปดาห์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders’ Week: AELW) ประจำปี 2023

 

โดยนายกฯ เริ่มกล่าวปาฐกถาเน้นย้ำว่า ประเทศไทยมีบรรยากาศการเมืองที่มีเสถียรภาพ พร้อมร่วมมือทางธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งรัฐบาลกำลังผลักดันอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายทางเศรษฐกิจต่างๆ ขณะเดียวกันต้องส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการเติบโตและการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย โดยเน้นย้ำว่า ขณะนี้ถึงเวลาที่จะเข้ามาลงทุนในไทยแล้ว และไทยพร้อมที่จะทำงานร่วมกับพันธมิตรทุกรายจากทั่วโลก เพื่อพบปะและพูดคุยกับผู้นำธุรกิจเอเปค ซึ่งถือเป็นผู้ขับเคลื่อนที่สำคัญทางเศรษฐกิจ 

 

นายกฯ กล่าวว่า เอเปคเป็นที่ตั้งของประชากรมากกว่า 1 ใน 3 ของโลก และสามารถสร้างการค้าเกือบครึ่งหนึ่งของโลก โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเอเปคประสบความสำเร็จในการช่วยให้ผู้คนหลายล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน ด้วยการเปิดการค้าและการลงทุน ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือกับชุมชนธุรกิจ ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค (ABAC) ซึ่งถือเป็นความพิเศษและเป็นรากฐานความสำเร็จร่วมกันในปัจจุบัน

 

เน้น 3 แนวทางความร่วมมือให้บรรลุเป้าหมาย

 

นายกฯ ได้แสดงวิสัยทัศน์และเสนอแนวทางความร่วมมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย โดยเน้นย้ำ 3 ด้านสำคัญ ดังนี้

 

  • ด้านความยั่งยืน 

 

ไทยมีเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG (Bangkok Goals on BCG Economy) ซึ่งผู้นำเอเปคทุกคนได้นำมาใช้เมื่อปีที่แล้ว และเป็นแนวทางที่สหรัฐฯ ในฐานะเจ้าภาพเอเปคปีนี้ได้สานต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดตัว BCG Pledge  ซึ่งสภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปคกระตุ้นให้ทุกบริษัทต้องลงนามและมีส่วนร่วม 

 

ทั้งนี้ ไทยมีความภาคภูมิใจในความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะสร้างความยั่งยืน ซึ่งปีนี้ไทยอยู่ในอันดับที่ 43 ของ SDG Index ซึ่งเป็นที่หนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงมุ่งมั่นที่จะต่อยอดด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ขณะเดียวกันจะเพิ่มความพยายามเป็น 2 เท่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และทำให้การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 ไทยจึงส่งเสริมด้านการเงินสีเขียวอย่างแข็งขัน ผ่านการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bonds) เพื่อกระตุ้นการเติบโตของตลาดพันธบัตรสีเขียว 

 

ขณะเดียวกันสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าด้วย เป้าหมายคือการสร้างห่วงโซ่อุปทานของ EV ที่ครอบคลุม ซึ่งรวมถึงยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ชิ้นส่วนและส่วนประกอบทั้งหมด นอกจากนี้ จะปรับปรุงระบบนิเวศเพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจดังกล่าว เช่น การให้สิทธิพิเศษการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ การสร้างศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ หลักสูตรการพัฒนาแรงงาน และการขยายโครงสร้างพื้นฐานสถานีชาร์จ เป็นต้น 

 

  • ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม 

 

การเกิดขึ้นของเทคโนโลยี เช่น Generative AI, Blockchain และ Internet of Things (IoT) กำลังเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางธุรกิจ กระบวนการผลิต และชีวิตประจำวัน ซึ่งความก้าวหน้าเหล่านี้นำมาซึ่งโอกาสใหม่ๆ สำหรับการเติบโต การร่วมมือ และแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อให้ทุกเขตเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา สามารถเข้าถึงโอกาสได้ และเก็บเกี่ยวผลประโยชน์อย่างเท่าเทียม ขณะเดียวกันต้องลงทุนและปรับปรุงระบบการศึกษา เพื่อให้พลเมืองมีทักษะที่จำเป็นต่อการเติบโตในยุคดิจิทัลที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการทำงานร่วมกันอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นในด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์และการวิจัยระดับแนวหน้า เพื่อปูทางไปสู่ความก้าวหน้าในอนาคต

 

โดยในไทยรัฐบาลกำลังวางแผนที่จะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อดำเนินโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) ซึ่งสิ่งนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศของเราเท่านั้น แต่ยังจะยกระดับการรับรู้และทักษะด้านดิจิทัลอีกด้วย โดยในระยะยาวรัฐบาลมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลดิจิทัล ส่งเสริมการทำงานร่วมกัน เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของบริการสาธารณะของประเทศ รวมทั้งพร้อมจะต้อนรับการลงทุนและแรงงานที่มีทักษะ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมดิจิทัล

 

  • ด้านการค้าและการลงทุน

 

เอเปคมีบทบาทสำคัญในการขยายการค้าและการลงทุนภายในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของผู้คนนับล้าน สะท้อนให้เห็นผลตลอดหลายปีที่ผ่านมา การค้าทั่วทั้งเอเปคเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าภายใน 2 ทศวรรษ จาก 7.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2001 เป็นจำนวนกว่า 27 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2021 ซึ่งเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ยังคงเป็นปณิธานที่สำคัญ และจะทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย รวมทั้งการเร่งสถาปัตยกรรมการค้าทวิภาคีและภูมิภาคอื่นๆ เพื่อสร้างพันธมิตรใหม่ และไทยจะยกระดับ FTA เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อเสริมสร้างการเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจร่วมกัน ขณะเดียวกันได้เปิดโอกาสทางการค้าและการลงทุนใหม่ๆ ให้กับพันธมิตรของเราอีกด้วย

 

ไทยตระหนักถึงความจำเป็นในการรักษาห่วงโซ่อุปทานให้เปิดกว้างและยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยให้ความสำคัญกับการปรับปรุงการเชื่อมต่อทางกายภาพและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงการพัฒนาสนามบินหลายแห่งทั่วทั้งเขตเศรษฐกิจของเรา นอกจากนี้ จะใช้ประโยชน์จากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ในภูมิภาคนี้อย่างเต็มที่ และกำลังดำเนินโครงการขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาสะพานข้ามทะเลเพื่อเชื่อมต่อทะเลอันดามันกับอ่าวไทย (Landbridge) ซึ่งจะช่วยลดเวลาการเดินทางระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์ระดับภูมิภาคภายในทศวรรษนี้ 

 

ถึงเวลาลงทุนในไทย

 

ในช่วงท้ายนายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพบปะกับคู่ค้าทางธุรกิจระหว่างการเยือนต่างประเทศ ซึ่งจะนำทีมผู้นำธุรกิจจากไทย เพื่อสร้างเครือข่ายและการจับคู่ธุรกิจเพิ่มเติมที่นครซานฟรานซิสโก พร้อมมีความยินดีที่จะทำงานร่วมกันและสร้างความก้าวหน้าที่มีความหมายต่อไปสำหรับผู้คนในปัจจุบันและรุ่นต่อๆ ไป โดยเน้นย้ำว่า ถึงเวลาแล้วที่จะลงทุนในไทยให้มากขึ้น ซึ่งไทยพร้อมก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วและจะขยายความร่วมมือร่วมกันต่อไป

 

เตรียมดินเนอร์กับ โจ ไบเดน – ทวิภาคี จัสติน ทรูโด 

   

นายกฯ เปิดเผยถึงภารกิจวันนี้ว่า ได้พบกับผู้บริหารบริษัท Citi พูดคุยประเด็นแลนด์บริดจ์ที่อยากให้ Citi จัดสัมมนาและเชิญไทยไปร่วม รวมถึงจัดโรดโชว์ในทุกทวีป ซึ่ง Citi ยืนยันสนับสนุนไทยในทุกมิติ

 

ส่วนการประชุม CEO Summit ใช้เวทีนี้เน้นย้ำว่า ไทยเปิดแล้วสำหรับนักลงทุน ไม่มีเวลาไหนที่ดีไปกว่าเวลานี้ที่จะเข้ามาลงทุนในไทย ไทยอยู่ในลำดับที่ 43 ของ SDG Index เราเป็นที่ 1 ในอาเซียน 

 

สำหรับบรรยากาศการพบปะกับผู้บริหารระดับสูงในงาน CEO Summit ถือเป็นโอกาสที่ดีของไทย เนื่องจากภายในงานมีการออกบูธของบริษัทชั้นนำ เช่น บริษัท Boeing นำเฮลิคอปเตอร์ไร้คนขับขนส่งคนได้ เดินทางได้ 160 ไมล์ มาจัดแสดง ซึ่งคาดว่าจะนำมาขายเชิงพาณิชย์ได้ประมาณ​ 7-8 ปีข้างหน้า 

 

และการพบกับผู้บริหาร Mocrosoft ที่มาออกบูธ โดยคาดว่าในไตรมาส 1 ปีหน้า ผู้บริหาร Mocrosoft จะเดินทางไปไทย รัฐบาลจึงขอเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำ พร้อมเชิญภาคเอกชนเข้าไปพูดคุยลักษณะการจับคู่ทางธุรกิจ เพื่อเพิ่มช่องทางการพัฒนาดิจิทัลในไทยให้เข้มแข็งขึ้น

 

ส่วนภารกิจในวันพรุ่งนี้ (16 พฤศจิกายน) จะพบกับจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ซึ่งต้องไปรับฟังความเห็นก่อน รวมทั้งพบหารือกับนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียเกี่ยวกับการค้าและการท่องเที่ยว และหารือกับประธานาธิบดีเปรู รวมถึงรับประทานอาหารค่ำร่วมกับ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะหารือในหลายประเด็น รวมไปถึงการพบกับ จีนา ไรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เป็นสุภาพสตรีที่เก่งและเข้าใจธุรกิจการค้าการลงทุนเป็นอย่างดี

 

TikTok เปิดศูนย์เทรนใช้งานแพลตฟอร์มในไทย 

 

นายกฯ กล่าวถึงการพบกับผู้บริหาร TikTok ว่า ทางผู้บริหารเดินทางมาพบด้วยตัวเอง ซึ่งไม่แปลกใจเพราะในไทยมีผู้ใช้งาน 43 ล้านคน ถือว่าสูงมาก เพราะทุกคนนิยมลงใน TikTok จึงต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรที่เราจะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำให้เขาได้ประกอบธุรกิจที่ดี ขณะเดียวกันก็ช่วยเหลือประชาชนคนไทยด้วยเหมือนกัน เช่นเรื่องของ OTOP 

 

รวมถึงซอฟต์พาวเวอร์สินค้าไทยคืออาหาร เนื่องจากหลายคนได้ใช้แพลตฟอร์ม TikTok ลงคลิปทำอาหารที่เป็นคลิปสั้นๆ สนุกสนาน ทำให้มีคนเขามาดูจำนวนมาก และขณะนี้เราได้ฝึกอบรมให้กับเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการคัดเลือกและให้ทาง TikTok เข้ามาช่วยฝึกหัด รวมถึงซอฟต์พาวเวอร์ด้านอื่นของไทย โดยขอให้มาสร้างศูนย์ฝึกอบรมในไทย เพื่อคำแนะนำในการเล่นโซเชียลมีเดียที่มีประสิทธิภาพสูง ขณะที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้เสนอสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเพื่อจูงใจ ซึ่งทาง TikTok ให้ความสนใจ

 

ถก Booking.com ช่วยโปรโมตท่องเที่ยวไทย 

 

นายกฯ กล่าวถึงการหารือกับผู้บริษัท Booking.com ว่า ตั้งแต่เราประกาศฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวจีน มีคนเข้ามาดูเว็บไซต์เพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า แต่ยังไม่ดีพอ มองว่าสามารถทำให้เพิ่มการเข้าชมเว็บไซต์ได้มากกว่านั้น ทั้งนี้ บริษัท Booking.com ก็เป็นเจ้าของ Agoda และมีพนักงานหลายพันคนเป็นคนไทย และอีกหลายส่วนเป็นชาวต่างชาติ ขณะเดียวกันเรามีการโปรโมตเรื่องการท่องเที่ยวและซอฟต์พาวเวอร์ โดยผู้บริหารบริษัท Booking.com ระบุว่าจะติดต่อไปยังผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อหาทางในการปรับภาพใหญ่ให้เกิดประโยชน์ทั้งสองทาง และเขาก็ดีใจที่ผู้นำระดับประเทศให้ความสำคัญ 

 

นายกฯ เตรียมบินถกประชุมอาเซียน-ญี่ปุ่น 16-18 ธันวาคมนี้

  

นายกฯ ยังกล่าวถึงการหารือทวิภาคีกับ ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30 ว่า หารือเรื่องของความสัมพันธ์ที่มีมานาน 50 ปี และหารือเรื่องการใช้รถยนต์สันดาป โดยตนให้ความมั่นใจกับทางญี่ปุ่นไปว่าจะไม่ทอดทิ้ง มีการพูดคุยกันว่าให้การประกอบรถยนต์สันดาปของญี่ปุ่น ขณะที่รถไฟฟ้า (EV) ที่มีความต้องการสูง และได้พูดในหลายเวทีว่าญี่ปุ่นมีการลงทุนในไทยสูงที่สุดในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จึงต้องมาดูแลช่วยเหลือกัน และทางญี่ปุ่นยืนยันว่าธุรกิจยานยนต์เป็นธุรกิจสำคัญและจะพัฒนาต่อในไทย และในระหว่างวันที่ 16-18 ธันวาคมนี้ ตนจะเดินทางไปร่วมประชุมอาเซียนตามคำเชิญของนายกฯ ญี่ปุ่น 

 

นอกจากนั้นยังพูดคุยเรื่องการฟรีวีซ่าสำหรับนักธุรกิจของสองประเทศ ที่ทั้งสองฝ่ายมีการตกลงเห็นตรงกันว่าไม่จำเป็นต้องขอ เพื่อให้นักธุรกิจติดต่อธุรกิจและไปมาหาสู่สะดวกมากขึ้น เป็นเรื่องที่ดีที่สองฝ่ายเห็นตรงกัน 

 

เตรียมประสาน สธ. หลังจีนขอ อย.ไทย รับรองยารักษามะเร็งของจีน

 

ขณะเดียวกัน นภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในการหารือกับรัฐมนตรีการค้าของจีนระหว่างการประชุมรัฐมนตรีการค้า ซึ่งเป็นการประชุมที่เกี่ยวข้องกับการประชุมเอเปค ทางจีนกล่าวถึงยารักษามะเร็งของจีน ซึ่งจีนยืนยันว่าประสบผลสำเร็จ นำไปขายทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป โดยผ่านสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของทั้งสหรัฐฯ และยุโรปแล้ว แต่ยังไม่ผ่าน อย. ของไทย จึงฝากให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยเร่งรัด จึงจะประสานไปยังกระทรวงสาธารณสุขเพื่อเร่งรัดต่อไป ทั้งนี้ ยารักษามะเร็งของจีนดังกล่าวนี้มีราคาย่อมเยากว่ายาต้านมะเร็งปกติ

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X