×

ทำไมถึงมีข้อกังวลว่าประชามติอาจ ‘ตกม้าตาย’ ไปไม่ถึงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

โดย THE STANDARD TEAM
15.11.2023
  • LOADING...

การเดินหน้าสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น เป็นไปอย่างต่อเนื่องภายใต้ 2 อนุกรรมการของคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

 

หนึ่งในประเด็นที่มีความกังวลและเป็นข้อถกเถียงคือเรื่องการทำประชามติ ซึ่งก่อนที่จะไปถึงการถกเถียงจำนวนครั้งและคำถามประชามติ สิ่งที่เป็นข้อกังวลคือจำนวนผู้ออกเสียงประชามติที่อาจไม่เพียงพอกับที่กฎหมายกำหนดไว้

 

ทำไมถึงมีความกังวลเช่นนั้น

 

“การทำประชามติครั้งแรก ประชาชนอาจตื่นตัวออกมาใช้สิทธิ เพราะมองว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

 

“แต่การทำประชามติครั้งที่ 2 ที่มีการแก้ไขมาตรา 256 ซึ่งหากตรงกับการเลือกตั้งนายก อบจ. ที่จะเกิดขึ้นในต้นปี 2568 อาจเป็นตัวเร่งประชาชนได้ แต่ก็เกรงว่าจะตกม้าตายตรงที่ประชาชนออกมาไม่ครบตามเงื่อนไข ดังนั้นประเด็นนี้จึงน่ากังวล”

 

นิกร จำนง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เปิดเผยถึงความกังวลของตนเองผ่านการให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา 

 

เมื่อพลิกบทบัญญัติกฎหมายประชามติที่จะใช้คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 ซึ่งกำหนดเงื่อนไขของการออกเสียงประชามติที่จะเป็นข้อยุติได้ ดังนี้ 

 

  • ต้องมีผู้มาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง
  • มีจำนวนเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ

 

ดังนั้น จึงมีข้อกังวลว่าการใช้เสียงส่วนใหญ่สองชั้น หรือ Double Majority อาจทำให้เส้นทางสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ถึงฝั่งฝัน

 

 

นักวิชาการ ‘หนักใจ’

 

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย ในฐานะคณะกรรมการฯ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนว่า “ตอนนี้ที่หนักใจคือเรื่องของการทำประชามติ เพราะมีกฎหมายประชามติเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งต้องใช้เสียงข้างมากสองชั้น”

 

ดังนั้น โอกาสที่จะเกิดเรื่องการรณรงค์ให้มีการโนโหวต นั่นคือการให้อยู่บ้าน ไม่ออกมาใช้สิทธิ ทำให้เสียงประชามติไม่ถึงกึ่งหนึ่ง และตกม้าตายไปตั้งแต่ขั้นตอนแรกเลย มันมีโอกาสเป็นไปได้ 

 

แต่ถ้าเสียงขั้นตอนแรกเกินกึ่งหนึ่ง ขั้นตอนที่สองก็เกินกึ่งหนึ่งอีก กระบวนการทำประชามติก็จะได้รับความเห็นชอบต่อไป

 

ต้องแก้กฎหมายประชามติหรือไม่?

 

นิกรระบุว่า หากมีปัญหาขึ้นจริงอาจต้องแก้ไขกฎหมายประชามติเกี่ยวกับเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่เห็นชอบ 

 

แต่คณะอนุกรรมการรับฟังความเห็นฯ คงไม่รอ จะดำเนินการไปตามกฎหมายที่มีอยู่ก่อน และให้เป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎรไปดำเนินการแก้ไข เชื่อว่าการแก้ไขเพียงไม่กี่มาตราจะใช้เวลาไม่นาน ซึ่งน่าจะทันกัน

 

ส่วน รศ.ดร.ยุทธพร ระบุว่า มีโอกาสที่จะต้องทำอย่างนั้น คือการแก้ไขกฎหมายประชามติก่อน เพื่อทำให้โอกาสของการทำประชามติเป็นไปได้ 

 

ส่วนแนวทางแก้ไขมี 2 ทางคือ ทำให้เหลือเสียงข้างมากชั้นเดียว กับเสียงข้างมากยังเป็นสองชั้นอยู่ แต่ในชั้นที่สองอาจจะลดสัดส่วนลงมา

 

ขณะที่ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ชี้แจงท่าทีพรรคก้าวไกลต่อเรื่องนี้ว่า หากมีความกังวลก็ควรแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติฯ อย่างรวดเร็วเร่งด่วน เพื่อยกเลิกหรือปรับปรุงวิธีการเขียนเงื่อนไขเรื่องนี้ และคณะอนุกรรมการฯ และกรรมการชุดใหญ่น่าจะหาข้อยุติในประเด็นนี้ได้ก่อน 

 

เพราะถ้าได้ข้อยุติร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาลก็สามารถร่วมมือกันเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประชามติฯ ได้ทันทีที่สภาเปิดในเดือนหน้า เพื่อไม่ให้กระทบต่อกรอบเวลาในการจัดทำประชามติ

 

ภาพประกอบ: พรวลี จ้วงพุฒซา

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X