×

ชาดาเผย ปราบผู้มีอิทธิพลคืบหน้ามาก เตรียมคิกออฟแผนปฏิบัติการขั้นต่อไป บอกรอฟังอนุทินแถลงรายละเอียด 17 พ.ย. นี้

โดย THE STANDARD TEAM
15.11.2023
  • LOADING...
ชาดา ไทยเศรษฐ์

วันนี้ (15 พฤศจิกายน) ที่กระทรวงมหาดไทย ชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวภายหลังการเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพล ครั้งที่ 1/2566 ว่า การปราบปรามผู้มีอิทธิพลนั้นมีความคืบหน้าอย่างมาก โดยได้สั่งการให้ชุดเฉพาะกิจของแต่ละฝ่ายไปดำเนินการตามหน้าที่อยู่ หลังจากนี้จะมีการคิกออฟแผนการปฏิบัติการต่อไป พร้อมย้ำว่าตนเองทำงานภายใต้คำสั่งของกระทรวงมหาดไทย โดยจะให้ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้แถลงความคืบหน้าด้วยตัวเองในวันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายนนี้ 

 

ชาดายังกล่าวถึงกรณี อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ที่เปิดเผยว่าการปราบปรามหมูเถื่อนล่าช้าเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐเกรงกลัวผู้มีอิทธิพล ว่า ไม่มีผู้มีอิทธิพลหรอก มีแต่ข้าราชการรับเงิน เรื่องดังกล่าวไม่ใช่แค่เรื่องหมูเถื่อนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเนื้อหมูอีกด้วย ซึ่งคุณภาพก็ใช้ไม่ได้ กินไปอันตรายมาก

 

มีรายงานว่าในวันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2566 เวลา 11.00 น. อนุทินมีกำหนดเข้าตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมแถลงผลงานของ 4 กระทรวงที่พรรคภูมิใจไทยกำกับดูแล คือ กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

 

แบ่งกลุ่มผู้มีอิทธิพล จัดระดับตามความอันตราย

 

ก่อนหน้านี้ อนุทินเคยให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับนโยบายการปราบปรามผู้มีอิทธิพลว่า กระทรวงมหาดไทยได้ทำรายชื่อบุคคลที่ต้องเฝ้าระวัง (Watchlist) ของกลุ่มผู้มีอิทธิพล โดยแบ่งตามระดับความอันตรายของแต่ละกลุ่มชัดเจน แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เนื่องจากไม่ต้องการทำให้บุคคลเหล่านั้นรู้สึกว่าถูกคุกคาม แต่เรารู้ดีว่าใครเป็นใคร มีพฤติกรรมอย่างไร ซึ่งเมื่อเข้ามาอยู่ในบัญชีนี้แล้วจะต้องถูกตรวจสอบพฤติกรรม รวมถึงสอดส่องเส้นทางการเงิน บัญชี และการเสียภาษี 

 

‘ปราบผู้มีอิทธิพล’ นโยบายหลักมหาดไทยยุคอนุทิน 

 

กระทรวงมหาดไทยเคยมีคำนิยาม ‘ผู้มีอิทธิพล’ ในปี 2529 ไว้ว่า เป็นผู้กระทำความผิดด้วยตนเอง เป็นผู้ใช้ จ้างวาน สนับสนุน โดยกระทำการอยู่เหนือกฎหมาย หรือกระทำด้วยประการใดๆ ที่มิชอบด้วยกฎหมาย กดขี่ ข่มเหง รังแกประชาชน ที่เป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

 

ขณะที่ศูนย์ข้อมูลอาชญากรรมและการฟอกเงินเคยทำวิจัยแยกกลุ่มผู้มีอิทธิพลเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ 

 

  1. ผู้มีอิทธิพลระดับท้องถิ่น 
  2. ผู้มีอิทธิพลประเภทข้าราชการ 
  3. ผู้มีอิทธิพลจากผู้ประกอบธุรกิจการค้า 
  4. ผู้มีอิทธิพลที่พัฒนามาจากนักเลงหัวไม้

 

ทั้งนี้ การปราบปรามผู้มีอิทธิพลและการครอบครองอาวุธปืนเป็นนโยบายที่กระทรวงมหาดไทยภายใต้การนำของอนุทินเป็นเจ้ากระทรวงในรัฐบาลเศรษฐา เพื่อจัดระเบียบสังคม เสริมสร้างสวัสดิภาพความปลอดภัย รักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายใน รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาภัยคุกคาม เพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพในทุกพื้นที่ของประเทศ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X