วันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนออกมาแถลงอย่างเป็นทางการว่า ระหว่างวันที่ 14-17 พฤศจิกายนนี้ ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนจะเดินทางไปนครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกา เพื่อพบกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ตามคำเชิญ พร้อมเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC ครั้งที่ 30 โดยครั้งล่าสุดที่ผู้นำทั้งสองประเทศพบกันต้องย้อนกลับไปในการประชุม G20 ที่เกาะบาหลีของอินโดนีเซียในช่วงเดียวกันนี้ของปีที่แล้ว
การเดินทางไปสหรัฐฯ ในครั้งนี้ของสีจิ้นผิงยังถือเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี และเป็นครั้งแรกที่เขาจะเดินทางไปนครซานฟรานซิสโกตั้งแต่เป็นประธานาธิบดีของจีน
การเดินทางในครั้งนี้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าจะเป็นไปในลักษณะ ‘หวานอมขมกลืน’ หรือไม่ ด้วยสถานะความจำยอมที่จำเป็นต้องฟื้นฟูความเชื่อมั่นของต่างชาติให้กลับเข้ามาลงทุนในจีน ซึ่งถือเป็นความจำเป็นเฉพาะหน้าที่เร่งด่วนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจีน
สาเหตุที่ตั้งข้อสังเกตเช่นนั้น เพราะเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาสีจิ้นผิงเองเคยพูดว่า เขาคิดว่าสหรัฐฯ กำลังปิดล้อม กักกัน และปราบปรามจีน
การพบกัน 3 ชั่วโมงที่บาหลีเมื่อปีที่แล้วไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น
ย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้วภาพการจับมือกันระหว่างผู้นำสองประเทศที่อินโดนีเซีย และคำพูดของสีจิ้นผิงที่ว่า “โลกคาดหวังให้จีนและสหรัฐฯ จัดการกับความสัมพันธ์อย่างเหมาะสม” อาจไม่ได้หมายความว่า “เหมาะสม” เท่ากับการเริ่มต้นฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่ดี เพราะหลังจากที่ผู้นำทั้งสองพบปะและเจรจากันนานถึง 3 ชั่วโมง แต่หลังจากนั้นไม่กี่เดือนต่อมาก็เกิดเหตุการณ์ที่สหรัฐฯ ยิงบอลลูนของจีนที่ล่วงล้ำเข้าไปในน่านฟ้าของสหรัฐฯ โดยระบุว่าเป็นบอลลูนสอดแนม แต่จีนกลับปฏิเสธว่าเป็นบอลลูนเพื่อการวิจัยและสำรวจเท่านั้น และหลังจากนั้นยังคงมีข่าวเรื่องของการเผชิญหน้าระหว่างกองทัพจีนและสหรัฐฯ มาโดยตลอด เช่นการที่เครื่องบินขับไล่ของจีนบินตัดหน้าเครื่องบินลาดตระเวนของสหรัฐฯ บริเวณทะเลจีนใต้ หรือเรื่องเรือรบของจีนที่ดูเหมือนจงใจปาดหน้าเรือรบสหรัฐฯ ที่บริเวณช่องแคบไต้หวันจนเกือบเกิดอุบัติเหตุ
แม้ไบเดนและสีจิ้นผิงจะเคยรู้จักกันมาก่อนเป็นเวลากว่า 10 ปี ตั้งแต่สมัยทั้งสองยังดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี และในตอนที่ไบเดนลงสมัครรับเลือกตั้งจนถึงเข้ารับตำแหน่ง คนจีนดูมีท่าทีต้อนรับประธานาธิบดีคนนี้ของสหรัฐฯ มากกว่าอดีตประธานาธิบดีอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ จนถึงขั้นมีกระแสในสื่อสังคมออนไลน์ของจีนภายหลังที่ไบเดนชนะการเลือกตั้งว่า เรามีความหวังว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จะดีขึ้น เพราะเรามี ‘For Biden City’ ซึ่งเป็นการล้อไปกับชื่อภาษาอังกฤษ (Forbidden City) ของพระราชวังต้องห้าม แลนด์มาร์กสำคัญในกรุงปักกิ่ง
ในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมาในวาระของไบเดน ทั้งสองฝ่ายได้มีโอกาสพบกันต่อหน้า 1 ครั้ง และมีการพูดคุยผ่านทางออนไลน์มาแล้วกว่า 6 ครั้ง แม้จะไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ตกต่ำลง แต่ก็ต้องยอมรับว่าไม่ดีขึ้น
การส่งสัญญาณที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง แต่อย่าไปคาดหวัง
แต่ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้สิ่งที่สังเกตได้ชัดเจนคือทั้งสองฝ่ายเองก็พยายามส่งสัญญาณในการรื้อฟื้นความสัมพันธ์กันมากขึ้น โดยเริ่มจากสหรัฐฯ ส่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แอนโทนี บลิงเคน มาพบกับสีจิ้นผิงในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการเยือนจีนครั้งแรกในรอบ 5 ปีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แม้จะได้พบกันแค่เพียง 35 นาทีก็ตาม
นอกจากนี้ยังมีการเยือนสหรัฐฯ ของหวังอี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีนที่ได้พบกับไบเดนถึง 1 ชั่วโมงเมื่อสัปดาห์ก่อน แม้ภายหลังการพบกันหวังอี้จะบอกว่าเราไม่ควรคาดหวังว่าทุกอย่างจะราบรื่น รวมถึงไม่ควรคาดหวังว่าการประชุมจะต้องเกิดขึ้น แต่ก็ถือเป็นสัญญาณบวกที่เกิดขึ้น
และล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ เจเน็ต เยลเลน ก็ได้ให้การต้อนรับการมาเยือนสหรัฐฯ ของเหอลี่เฟิง รองนายกรัฐมนตรีของจีน และหัวหน้าผู้แทนการเจรจาการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ซึ่งได้ฉายาว่าเป็นซาร์แห่งเศรษฐกิจจีน นอกจากนั้นในช่วงที่ผ่านมาสื่อต่างๆ ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลจีนก็ได้ลดการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่โจมตีรัฐบาลสหรัฐฯ ให้กับประชาชนในประเทศลงอีกด้วย
จับตาการพบกันที่หลังบ้านทำงานอย่างหนักหน่วง
วิกเตอร์ ชา อดีตผู้อำนวยการฝ่ายกิจการเอเชียในสภาความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวของ Oregon Public Broadcasting (OPB) ว่า “ปกติแล้วถ้าคณะของจีนมาที่สหรัฐฯ พวกเขาจะมีข้อเรียกร้องจำนวนมาก พวกเขาต้องการความอลังการ ต้องการความเคารพสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และโชคดีว่าการประชุมในครั้งนี้อยู่ที่ซานฟรานซิสโก ไม่ใช่ทำเนียบขาว ทำให้การเป็นเจ้าภาพการประชุมดูไม่ได้เป็นทางการนัก”
ในขณะที่บอนนี กลาเซอร์ กรรมการผู้จัดการโครงการอินโด-แปซิฟิกของกองทุน German Marshall ให้สัมภาษณ์กับ OPB เช่นกันว่า “ทีมงานของสีจิ้นผิงต้องการให้การเจรจานอกรอบระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศห่างจากพื้นที่การประชุม APEC และคาดว่าการเจรจาในครั้งนี้จะใช้เวลานานกว่าที่บาหลี”
OPB ยังวิเคราะห์ด้วยว่าอาจมีการตกลงล่วงหน้าบางอย่าง เช่น อาจไม่มีแถลงการณ์ร่วมขนาดใหญ่ ซึ่งโดยปกติจะใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนในการเจรจาล่วงหน้า และอาจมีการวางแผนเส้นทางและท่วงท่าของผู้นำก่อนจะเข้าประชุมและพบกันอย่างละเอียดมาก โดยอาจมีการถ่ายภาพหรือไม่ก็เป็นไปได้ทั้งหมด
ต้องยอมรับว่าปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ นอกจากจะเป็นปัญหาของทั้งสองประเทศแล้ว ยังเป็นปัญหาของคนทั่วโลก หลายปีที่ผ่านมาประเด็นความขัดแย้ง สงครามการค้าโดยเฉพาะเรื่องของเซมิคอนดักเตอร์ เทคโนโลยี ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภูมิรัฐศาสตร์และความมั่นคง รวมถึงประเด็นร้อนอย่างยาเฟนทานิล ยังคงเป็นประเด็นที่ต่างฝ่ายต่างงัดข้อกันมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสร้างผลกระทบให้กับทั้งสองประเทศ รวมถึงบรรดานักลงทุนและคนทั้งโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงไม่แปลกใจที่คนทั้งโลกจะจับตาดูกันว่าการพบกันในวันที่ 15 พฤศจิกายนของผู้นำทั้งสองประเทศในครั้งนี้ จีนกับสหรัฐฯ จะสามารถตกลงกันแบบ Win-Win Situation หรือในภาษาจีนที่ชอบพูดกันว่า 双赢 ได้หรือไม่ หากต่างฝ่ายต่างปากว่าตาขยิบเหมือนที่ผ่านมาก็คงเป็นการพบกันที่สูญเปล่าอีกครั้ง
ภาพ: Chip Somodevilla / Getty Images
อ้างอิง:
- https://www.cnn.com/2023/11/10/politics/biden-xi-meeting-china-us-relations/index.html
- https://www.globaltimes.cn/content/1205864.shtml
- https://ustr.gov/countries-regions/china-mongolia-taiwan/peoples-republic-china
- https://www.opb.org/article/2023/11/11/biden-and-xi-are-set-to-meet-next-week-at-the-apec-summit-no-detail-is-too-small-to-sweat/
- ตัวเลขการค้าสินค้าและบริการของสหรัฐฯ กับจีนมีมูลค่ารวมประมาณ 7.58 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 และตัวเลขการขาดดุลการค้าสินค้าของสหรัฐฯ กับจีนอยู่ที่ 3.82 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2022 เพิ่มขึ้น 8.3 เปอร์เซ็นต์ จากปี 2021