จากการแถลงผลงานในรายการ Chance of Possibility จากนโยบายสู่การลงมือทำจริง 60 วัน ของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) ช่อง 11 วานนี้ (9 พฤศจิกายน)
วันนี้ (10 พฤศจิกายน) ช่วงสาย เศรษฐาให้สัมภาษณ์ถึงความพอใจในการแถลงข่าวผลงาน 60 วันว่า “อันนี้ผมแถลงไปแล้ว ต้องถามคนฟังว่าโอเคหรือไม่”
ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรียังกล่าวอย่างอารมณ์ดีกับผู้สื่อข่าวว่า “ในการแถลงข่าวโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ผู้สื่อข่าวไม่ต้องจดนะ ให้ตั้งใจฟัง เพราะผมมี Press Release ให้ คำพูดของผมไม่ต้องจด ไม่ต้องอัด ตั้งใจฟัง ตั้งใจฟังอย่างเดียว”
ภูมิธรรมขอรอ 100 วัน เห็นผลงานชัด
ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงเสียงวิจารณ์ผลงานรัฐบาล 60 วันไม่มีอะไรใหม่ว่า ทุกอย่างเริ่มต้นหมดแล้ว แต่ที่จริงเราวางไว้ 100 วันที่จะเห็นปรากฏการณ์มากขึ้น มีความชัดเจนมากขึ้น ส่วนที่นายกรัฐมนตรีแถลงผลงาน 60 วันเพราะอยากให้เห็นความคืบหน้าว่า 60 วันเรามีอะไรบ้าง
กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการหลายเรื่องซึ่งยังไม่ได้นำมาบอก เช่น การแก้ราคาสินค้าแพง หรือการบุกตลาดต่างประเทศเชิงรุก พร้อมย้ำว่า ขออย่าเพิ่งวิจารณ์ ให้รอ 90 วัน ขณะนี้รัฐบาลก็ทำงานหนักมากอยู่แล้ว และในวันที่ 21 พฤศจิกายนนี้ก็จะประชุมร่วมระหว่างทูตพาณิชย์ทั่วโลกและ BOI เพื่อรุกตลาดต่างประเทศ ฉะนั้น ขอให้อดทนรอการดำเนินงานครบ 100 วัน จะแถลงได้อย่างเป็นรูปธรรมว่าสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วมีอะไรบ้าง และเรื่องไหนที่ดำเนินการแล้วจะเดินหน้าอย่างไร ก็จะแถลงในวันนั้น ดังนั้น ขอให้ใจเย็นจะเห็นภาพชัดเจนขึ้น
เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรีเหมือนทำงานคนเดียวและละเอียดทุกเรื่อง ควรจะกระจายงานบ้างหรือไม่ เช่น เรื่องกฎหมาย เศรษฐกิจ และความมั่นคง ภูมิธรรมกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีไม่ได้แย่งงานทำคนเดียว เพราะขณะนี้นายกรัฐมนตรีได้แบ่งงานให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเต็มไปหมดทุกเรื่อง ซึ่งหลายเรื่องก็อยู่ในขั้นเตรียมการ และผู้ที่ได้รับมอบงานก็ถือว่าหนักพอสมควร เวลานี้คณะรัฐมนตรีก็มีเพียงแค่ 36 คน แต่อยากจะมีสัก 50-100 คนด้วยซ้ำไปเพราะงานหนัก แต่เราก็ไม่ได้หวั่นไหวอะไร พร้อมสู้ เพราะนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ถือธงนำให้เราออกไปพื้นที่ต่างๆ
ภูมิธรรมกล่าวอีกว่า ต้องยอมรับว่าเราเข้ามาท่ามกลางช่วงเวลาที่ประเทศกำลังเผชิญวิกฤตในหลายด้าน ทั้งวิกฤตการณ์โลก วิกฤตการณ์ทางการเงิน และวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศที่สั่งสมมานาน ทั้งนี้ การที่นายกรัฐมนตรีออกต่างจังหวัดบ่อยๆ ทำให้ได้เรียนรู้และเข้าใจ รวมถึงทราบปัญหาอย่างแท้จริง และที่ผ่านมาก็มีการกำชับว่าไม่ต้องตามคณะไปมาก เอาเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น
คนโจมตีทำงาน 60 วันไม่คืบหน้า
เมื่อถามถึงกรณีฝ่ายค้านจ้องโจมตีรัฐบาลว่าทำงาน 60 วันไม่คืบหน้านั้น ภูมิธรรมกล่าวว่า ไม่เป็นไร เพราะเป็นธรรมดา และตนก็พยายามบอกฝ่ายค้านว่าเราทำงานสร้างสรรค์ อย่าคิดว่าเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน อะไรที่รัฐบาลทำและจะเป็นผลดีกับอนาคตก็อย่าซีเรียส อย่ามองทุกอย่างเป็นการเมืองหมด แต่สามารถออกความเห็นได้เพราะจะเป็นกระจกสะท้อนรัฐบาลด้วยว่าทำอะไร
ภูมิธรรมเปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีสั่งการเสมอว่า การดำเนินงานที่บอกว่าเป็นรูปธรรมอย่างนั้นอย่างนี้จะต้องมีการประเมิน และที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้ติดตามประเมินผลโดยตลอด ฉะนั้น หลายสิ่งเกิดขึ้นแล้ว หลังจากนี้รอดูแล้วมาวัดกัน
“รัฐบาลมีโอกาส 4 ปี ก็คอยดูไป ถ้า 4 ปีคิดว่าไม่สามารถทำอะไรได้เลย มาเสวยอำนาจ เสวยสุขอย่างเดียว งวดหน้าท่านก็พิจารณา และเราก็พร้อมให้ประชาชนพิจารณา แต่ผมเชื่อว่านับตั้งแต่ 100 วันทุกอย่างจะค่อยๆ ปรากฏให้เห็น มันยากสำหรับเราที่เข้ามาแก้ปัญหาฐานรากให้มันดี เพราะฉะนั้น การจะแก้ปัญหาฐานรากสังคมไทยเรานั้นมันหลากหลายและมีอุปสรรคมากมาย หน้าที่รัฐบาลก็คืออดทน ชี้แจง ทำความเข้าใจ แล้วก็ปรับปรุงให้สอดรับกับอย่างที่คิด เพื่อให้เป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด” ภูมิธรรมกล่าว
ส่วนมั่นใจว่ารัฐบาลจะสอบผ่านหรือไม่ ภูมิธรรมกล่าวว่า มั่นใจแน่นอน เชื่อว่าความตั้งใจเรา 100% เราเอาภูมิความรู้และประสบการณ์ที่เราทำซึ่งเรามีความสามารถ แต่หากจะถามว่ามั่นใจหรือไม่มั่นใจต้องให้ประชาชนเป็นคนตอบ
ไม่บังอาจตักเตือนเศรษฐา
ภูมิธรรมยังกล่าวถึงบรรยากาศในงานเลี้ยงดินเนอร์หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ได้เตือนนายกรัฐมนตรีเรื่องพูดตรงเกินไป ว่า เป็นเรื่องที่ดี จริงๆ ตนชมนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ติติง โดยบอกว่าท่านนายกฯ พูดตรง อยากให้หัวหน้าพรรคร่วมทั้งหลายเข้าใจในจุดนี้ด้วย จริงๆ แล้วที่ท่านนายกฯ พูดไม่ได้มีเรื่องส่วนตัว หากมีอะไรขอให้เข้าใจและคุยกันถึงจะดี ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็บอกกับตนตลอดว่า
“พี่มีอะไรก็บอกกับผมตรงๆ ได้เลย ผมตรง ไม่รู้สึก เคลียร์ได้ ถ้าพูดผิดไปก็ขอโทษได้ ซึ่งผมก็เคยเห็นจากสิ่งที่ทำในพรรคมา 1-2 ครั้งว่าบางทีท่านก็พูดตรงไป ผมก็กังวลใจ แต่ผู้ใหญ่ที่รับฟังก็ไม่ได้รู้สึกอะไร เขารู้ว่าท่านนายกฯ เป็นคนจริงใจ และพร้อมที่จะพูดอย่างตรงไปตรงมา เพื่อเข้าสู่ปัญหาและแก้ไข” ภูมิธรรมกล่าว
ภูมิธรรมยังระบุด้วยว่า นายกรัฐมนตรีไม่ชอบความยืดเยื้อ อารัมภบท ส่วนใหญ่ท่านรู้ปัญหา คิดอะไรก็เสนอทางแก้ไขมา หากเข้าใจตรงนี้ก็จะรู้ว่าไม่ใช่จุดอ่อน แต่เป็นจุดแข็ง เหมือนที่ผู้สื่อข่าวถามว่านักการเมืองไม่ชอบหรือการพูดตรงๆ นักการเมืองก็ชอบ เพียงแต่หากเข้าใจว่านั่นคือการพูดเพื่อหาทางออกและแก้ไขปัญหา อยากให้ทุกคนเข้าใจ ท่านบอกว่าผมตักเตือน ผมไม่เคยคิดแบบนั้นเลย
ด้าน ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิเสธตอบคำถามกรณี วรชัย เหมะ อดีต สส. เพื่อไทย วิจารณ์การทำงานของโฆษกรัฐบาลว่า ประชาสัมพันธ์ไม่ดี ไม่ขยายผล ถูกโจมตีก็ไม่ออกมาปกป้องตอบโต้แทน พร้อมกล่าวสั้นๆ ว่า โนคอมเมนต์ เขามีสิทธิที่จะวิจารณ์
ส่วนจะนำคำวิจารณ์มาปรับปรุงอย่างไรหรือไม่ ชัยกล่าวว่า ก็รับไปพิจารณา พร้อมปฏิเสธการพูดถึงการทำงานของตัวเอง รวมถึงการประเมินผลงาน 2 เดือนที่ผ่านมา โดยกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ตนไม่กล้าประเมิน ให้ประชาชนประเมิน และให้น้องๆ (สื่อ) ช่วยประเมิน
อุ๊งอิ๊ง เชื่อผลงานรัฐบาลชัดหลายเรื่อง
ด้าน แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการประเมินการทำงาน 60 วันของรัฐบาลว่า โอ้ เป็นผลงานที่เห็นได้ชัดในหลายเรื่อง เช่น นโยบายเกี่ยวกับการลดรายจ่ายของประชาชน เริ่มไปแล้วในหลายโครงการ และรัฐบาลก็ทำงานเข้มข้นเต็มที่มากๆ
แถลง 38 นาที ฉายภาพกว้างไม่ลงรายละเอียด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแถลงผลงานรัฐบาล 60 วันผ่านรายการพิเศษ Chance of Possibility จากนโยบายสู่การลงมือทำจริง 60 วัน ภายใต้รัฐบาลนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง NBT 11 มีความยาวประมาณ 38 นาที โดยนายกรัฐมนตรีพูดถึงภาพรวมการทำงานที่ผ่านมา มีการหยิบยกตัวอย่างนโยบายบางเรื่อง ซึ่งไม่ได้มีรายละเอียดลงลึกที่ชัดเจน คล้ายการแถลงข่าวประจำวัน และไม่พบข้อมูลใหม่ที่ทำให้เห็นว่าการทำงานของรัฐบาลตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาจนถึงปัจจุบันส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสิ่งใดไปบ้าง
อย่างไรก็ตาม ในรัฐบาลที่ผ่านมาไม่เคยมีการแถลงนโยบายผลงานรัฐบาลในรอบ 60 วัน รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มต้นแถลงผลงานในรอบ 1 ปี โดยให้รัฐมนตรีผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวเป็นผู้ชี้แจงและรวบรวมข้อมูลต่างๆ ให้สื่อมวลชนอย่างละเอียด
ทั้งนี้ ระยะเวลาเพียง 60 วันอาจจะเร็วเกินไปที่จะมองเห็นความคืบหน้าของนโยบายต่างๆ เนื่องจากนโยบายบางส่วนยังเพิ่งเริ่มดำเนินการ บางส่วนยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนมากพอ นี่อาจเป็นข้อผิดพลาดที่รีบแถลงผลงานเร็วเกินไป