วันนี้ (7 พฤศจิกายน) ที่ทำเนียบรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าได้สั่งการเรื่องเหมืองสารโพแทสเซียมคลอไรด์ ซึ่งเป็นสารตั้งต้นสำคัญในการทำปุ๋ยเคมี โดยประเทศไทยมีโพแทสเซียมคลอไรด์เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศแคนาดา หากนำไปขายจะได้ราคาดีในต่างประเทศ เนื่องจากมีความต้องการสูง เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน
เศรษฐากล่าวว่า “ปัจจุบันมีผู้ได้รับสัมปทานแล้ว 3 ราย แต่ยังไม่มีการดำเนินงาน ฉะนั้นเรื่องนี้ก็ให้ไปเร่งรัดให้มีการดำเนินงาน หากไม่สามารถทำได้ให้หาผู้รับประมูลมาทำงานใหม่อีกที”
– จุดเริ่มต้น ‘เหมืองโพแทช’
ประเทศไทยรู้จัก ‘โครงการเหมืองแร่โพแทช’ ครั้งแรกภายหลังจาก ครม. เห็นชอบเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2523 ให้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เชิญชวนบริษัทต่างๆ เข้ามายื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตแร่โพแทชในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมี ‘บริษัท ไทยอะกริโก โปแตช จำกัด’ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ‘บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC)’ ซึ่งมีนายทุนใหญ่อย่างกลุ่มอิตาเลียนไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้ยื่นขอสิทธิดังกล่าวในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี
ทั้งนี้ บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้รับสิทธิพิเศษสำรวจแร่โพแทชในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีจำนวน 12 แปลง เนื้อที่รวม 1.2 แสนไร่ ซึ่งจากการสำรวจพบแหล่งแร่โพแทชที่มีศักยภาพและมีความคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ 2 แหล่ง
ต่อมาบริษัทฯ ได้ยื่นขอประทานบัตรเหมืองแร่ในพื้นที่จำนวน 4 แปลง เนื้อที่รวม 2.64 หมื่นไร่ ในปี 2565-2590 ระยะเวลา 25 ปี
อย่างไรก็ตาม ‘โครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี’ นั้นถูกต่อต้านอย่างหนักจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด เนื่องจากโครงการดังกล่าวไม่ได้มีการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) อย่างครบถ้วน และยังเป็นสาเหตุแห่งความขัดแย้งระหว่างประชาชนในพื้นที่กับกลุ่มทุน และความขัดแย้งระหว่างประชาชนในพื้นที่ด้วยกันเองตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาด้วย
ทั้งนี้ งานวิจัยจากสถาบันพระปกเกล้าเรื่องทัศนคติของประชาชนที่มีต่อการทำเหมืองแร่โพแทชที่จังหวัดอุดรธานี เมื่อปี 2556 ระบุถึงทัศนคติของประชาชนและชุมชนที่มีต่อโครงการเหมืองแร่โพแทชที่จังหวัดอุดรธานีว่า จะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมาก จะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ และจะมีการสร้างอาชีพใหม่ที่ต่อเนื่อง
ขณะที่ทัศนคติด้านลบจากประชาชนก็มองว่า โครงการเหมืองแร่โพแทชนี้อาจทำให้เกิดความขัดแย้งในกลุ่มประชาชนที่สนับสนุนและไม่สนับสนุนโครงการ โดยเฉพาะผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทางด้านน้ำเค็มและน้ำเสียที่เกิดจากการทำเหมืองแร่โพแทช และจะส่งผลกระทบต่อการทำอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งเป็นอาชีพหลักและเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิม รวมไปถึงอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนได้ เช่น อาจเสี่ยงให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ และโรคอื่นๆ ได้ง่ายด้วย
ต่อมากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีมีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองอุดรธานี ขอให้ศาลมีคำสั่งให้รายงานการไต่สวนตามคำขอประทานบัตรที่ 1/2547 ถึง 4/2547 รวม 4 ฉบับ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งในปี 2561 ศาลได้ตัดสินว่าการจัดทำรายงานการไต่สวนทั้ง 4 ฉบับ เป็นรายงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่งผลให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานีต้องเริ่มกระบวนการพิจารณาคำขอประทานบัตรที่ 1/2547 ถึง 4/2547 รวม 4 ฉบับ ของบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ใหม่อีกครั้ง โดยดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 และประกาศที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ในช่วงปลายรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา กระทรวงอุตสาหกรรมที่มี สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นเจ้ากระทรวง ได้ทำหนังสือถึง ครม. เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 เพื่ออธิบายว่าคำขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินที่ 1/2547 ถึง 4/2547 ของบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด จำนวน 4 แปลงที่จังหวัดอุดรธานี ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายว่าด้วยแร่ รวมทั้งระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว
เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2565 ครม. มีมติเห็นชอบให้เดินหน้าโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับความเห็นของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงสาธารณสุข ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ ให้กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โพแทชให้ถูกต้อง เหมาะสม คุ้มค่า มีความโปร่งใส เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย และกำกับดูแลผู้ประกอบการให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ (EIA) ให้ครบถ้วน
– ‘แร่โพแทช’ มีประโยชน์อะไร
แร่โพแทชสามารถนำไปสกัดให้ได้เป็นโพแทสเซียมในการผลิตปุ๋ยเคมีสำหรับการเกษตรกรรมได้ ซึ่งธาตุโพแทสเซียมเป็นธาตุอาหารสำคัญสำหรับพืชผลทางการเกษตร เนื่องด้วยประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีการส่งออกผลิตผลทางการเกษตร ทำให้มีความจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยในกิจกรรมทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก
หากประเทศไทยสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่โพแทชและขายปุ๋ยโพแทชได้ จะทำให้ประเทศไทยสามารถลดการนำเข้าปุ๋ยโพแทชจากต่างประเทศ อีกทั้งจะทำให้ราคาปุ๋ยโพแทชในประเทศถูกลง ซึ่งราคาปุ๋ยที่ถูกลงนี้จะช่วยลดต้นทุนในการทำการเกษตรของเกษตรกรได้
อ้างอิง:
- https://www.kpi-lib.com/multim/ebook12/%E0%B8%9B%E0%B8%98%E0%B8%AD25-26%E0%B8%81003.pdf
- https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/110811-open-mining-Potash-Udon-Thani-report.html
- https://themomentum.co/environment-potassium-mine/
- https://resolution.soc.go.th/?page_id=74&find_word=&start_date=28%2F06%2F2565&end_date=&book_number=&page_no=1