ครึ่งแรกของปี 2560 ผ่านไปพร้อมกับข่าวดีว่า จีดีพีในไตรมาสแรกเติบโตขึ้นเป็นร้อยละ 3.3 จากการส่งออกฟื้นตัวในหลายหมวดสินค้าและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี แต่จะโตได้ทั้งปี 3.3-3.8% ดังที่สภาพัฒน์คาดการณ์ไว้หรือไม่
อะไรคือโอกาสและปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยที่ต้องจับตาท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลง
เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2560 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนา ‘ฟันธงธุรกิจไทยครึ่งหลังปี 2560’ เพื่อคาดการณ์การเติบโตทางธุรกิจในยุคปัจจุบันท่ามกลางกระแสดิจิทัล และการปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลง โดยมีคณาจารย์ทุกภาควิชาร่วมวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยครึ่งหลังปี 2560 ดังนี้ รศ. ดร. พสุ เดชะรินทร์ คณบดี, ผศ. ดร. วิเลิศ ภูริวัชร หัวหน้าภาควิชาการตลาด, รศ. ดร. อัษฎาพร ทรัพย์สมบูรณ์ หัวหน้าภาควิชาสถิติ, รศ. ดร. วรศักดิ์ ทุมมานนท์ ภาควิชาการบัญชี และประธานคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี สภาวิชาชีพบัญชีฯ และ รศ. ดร. พรอนงค์ บุษราตระกูล หัวหน้าภาควิชาการธนาคารและการเงิน และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการกำกับตลาดทุน ก.ล.ต.
ลูกค้าจะไม่ใช่เพียง digital consumer เท่านั้น หากเป็น digital evangelist นอกจากจะเป็นลูกค้าที่ซื้อสินค้าแล้วซื้ออีก บอกต่อกันแล้ว ยังปกป้องสินค้าให้ด้วย นอกจากนี้การสร้างแบรนด์ดิจิทัลต้องศึกษาการตลาดออนไลน์และออฟไลน์ไปพร้อมกัน
เผย 5 อุตสาหกรรมจะถูก Disrupt – คนพร้อมปรับแค่ไหน
รศ. ดร. พสุ เดชะรินทร์ กล่าวว่าครึ่งหลังปี 2560 นี้ กระแสการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีถาโถม มีคู่แข่งใหม่ๆ ซึ่งอาจเป็นคู่แข่งที่ไม่นึกว่าเป็นคู่แข่งทั้งสตาร์ทอัพและธุรกิจขนาดใหญ่ รวมทั้งกระแสจากต่างประเทศเข้ามา สำหรับภาคธุรกิจเติบโตดีกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย แต่ยังไม่ดีอย่างที่ตั้งใจ การบริโภคภายในประเทศไม่เยอะ
ดังนั้นจึงแนะนำว่าต้องลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะเวียดนาม หรือมาเลเซีย มองเซกเมนต์ในไทยชัดเจนขึ้น ต้องพ่วงไปกับการลงทุนภาครัฐหรือกลุ่มธุรกิจที่มีเป้าหมายระดับฐานราก รวมถึงธุรกิจที่มีการเติบโตในเศรษฐกิจไทย คือธุรกิจท่องเที่ยว การเกษตร และหลายบริษัทเริ่มมีสตาร์ทอัพ และ Venture Capital (VC) เป็นของตัวเอง เพราะโตแบบเดิมไม่ได้
“ธุรกิจและองค์กรที่จะถูก disrupt ผมมองว่ามี 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ 1. ไอซีที 2. มีเดีย สื่อมวลชน 3. ค้าปลีก 4. ธนาคารและสถาบันการเงิน 5. การศึกษา ไม่ใช่ว่าธุรกิจเหล่านี้จะหายไป แต่จะเกิดอาชีพใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น YouTube Content Creator ทั้งนี้จะเกิดอุตสาหกรรมใหม่จริง แต่ในไทยเรายังผลิตคนมาทำอาชีพเดิมๆ ถามว่าเราเตรียมพร้อมเรื่อง Human Resource หรือยัง” รศ. ดร. พสุกล่าว
รับมือกับความไม่แน่นอนด้วย Big Data – ชูออนไลน์เป็น Core Business
รศ. ดร. อัษฎาพร กล่าวถึงความไม่แน่นอนของธุรกิจและการจัดการด้วยข้อมูลในปัจจุบันว่า ธุรกิจกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอน ตำแหน่งด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) จึงเป็นที่ต้องการของทุกองค์กร ซึ่งอาชีพนี้ก็คือนักสถิติที่ใช้ข้อมูลตอบโจทย์ธุรกิจ และมีทักษะการเขียนโปรแกรมนั่นเอง
ด้วยข้อมูลดิจิทัลที่มากขึ้น ภาคธุรกิจควรดูแลจัดเก็บข้อมูลเหล่านี้ให้ได้ ทางที่ดีควรใช้ cloud computing เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ที่สำคัญต้องเน้นการ visualize ข้อมูลหรือแปลงข้อมูลให้มองเห็นและเข้าใจง่ายมากขึ้น เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อในอนาคต
“ในศาสตร์สถิติไม่มี 4.0 แต่มันไม่เคยตกยุค เรื่องของการจัดการความไม่แน่นอนเป็นหัวใจของเรา เมื่อความไม่แน่นอนเกิดขึ้น อาชีพเราเลยมีเพื่อรู้ว่าลูกค้าของเราอยู่ตรงไหน ซึ่งจะเป็น unique customer” รศ. ดร. อัษฎาพรกล่าว
ด้าน ผศ. ดร. วิเลิศ กล่าวว่า กลยุทธ์แบรนด์ปัจจุบันไม่ใช่เพียงการวางผู้บริโภคเป็นศูนย์กลางเท่านั้น (Customer Centric) แต่ต้องเป็น Human Centric นักการตลาดต้องดูมิติทางอารมณ์ของลูกค้ามากขึ้น ซึ่งออนไลน์ตอบโจทย์ส่วนนี้ได้ อย่ามองดิจิทัลเป็นแค่เครื่องมือ แค่มีสินค้าอยู่ในโลกออนไลน์ แต่ต้องมองเป็น core business ซึ่งแนวคิดนี้จะทำให้มองลูกค้าเปลี่ยนไป ลูกค้าจะไม่ใช่เพียง digital consumer เท่านั้น หากเป็น digital evangelist นั่นคือ นอกจากจะเป็นลูกค้าที่ซื้อสินค้าแล้วซื้ออีก บอกต่อกันแล้ว ยังปกป้องสินค้าให้ด้วย นอกจากนี้การสร้างแบรนด์ดิจิทัลต้องศึกษาการตลาดออนไลน์และออฟไลน์ไปพร้อมกัน
ในศาสตร์สถิติไม่มี 4.0 แต่มันไม่เคยตกยุค เรื่องของการจัดการความไม่แน่นอนเป็นหัวใจของเรา
เพื่อรู้ว่าลูกค้าของเราอยู่ตรงไหน ซึ่งจะเป็น unique customer
แนะธุรกิจขนาดย่อมอย่าตื่นไอที – ทำบัญชีโปร่งใส ดึงดูดนักลงทุน
รศ. ดร. พรอนงค์ กล่าวว่า ถ้ามองเศรษฐกิจของครึ่งปีหลังในเอเชีย การเติบโตฟื้นตัวดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรกแน่นอน แต่การเติบโตตอนนี้เป็นการเติบโตตามคู่ค้า เพราะยังเน้นเรื่องการส่งออกอยู่ ดังนั้นครึ่งปีหลังส่งออกต้องเติบโตแน่ๆ เพียงแต่การเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียยังมีปัญหาอยู่ ซึ่งเป็นปัญหาของประเทศเกิดใหม่ คือเรื่องของตัวหนี้ภาคเอกชนและหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ระดับสูง เป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นลักษณะของการค่อยเป็นค่อยไป
เมื่อย้อนมองเศรษฐกิจไทยชี้ว่าเติบโตดีขึ้นจริง แต่ก็ยังน่ากังวล แม้จะไม่ได้เติบโตแบบกระจุกตัวเหมือน 2 ปีก่อน แต่ก็ไม่กระจายตัวได้ดี ดังนั้นควรจะคำนึงถึงหลายมิติ เช่น เติบโตในจุดไหน หรือกำลังโดน disrupt ในด้านใดบ้าง การเปลี่ยนแปลงใดจะส่งผลกระทบต่อเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไลฟ์สไตล์ โครงสร้างประชากร และการเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งประเทศเราเข้าสู่สังคมสูงวัยเร็วกว่าประเทศอื่น
รศ. ดร. พรอนงค์ กล่าวต่อถึงรูปแบบของการทำธุรกิจว่า ควรประยุกต์ใช้ไอทีและเทคโนโลยีดิจิทัล โดยคำนึงขนาดของธุรกิจด้วย พร้อมแนะว่าถ้าเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ต้องลงทุนและวิจัยอย่างดี เพื่อที่จะนำดิจิทัลมาเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจได้อย่างเหมาะสม
“ถ้าเราเป็นธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดเล็กๆ ต้องแทงกั๊ก ปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยี เราเป็นผู้ใช้งาน อย่าไปคิดเอาเองว่าเทรนด์ไอทีหรือโซเชียลจะมา เพราะมันเปลี่ยนเร็วมาก หากเป็นธุรกิจขนาดย่อม แล้วมองเทคโนโลยีนี้ว่าจะมา ถ้ามันมาช้าแค่ 3 เดือน เราตายเลย ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ต้องคิดว่าไอทีมันจะพลิกโฉมธุรกิจตัวเองและพยายามปรับตัวให้อยู่รอด ดังนั้นธุรกิจขนาดใหญ่มันจะมี 2 อย่าง ไม่ใหญ่มากขึ้นกว่าเดิม เหมือนอาลีบาบา แอมะซอน ก็อยู่ไม่ได้เลย มันไม่มีตรงกลาง ถ้าอยู่รอดก็ไปได้อีกเยอะ อิทธิพลจะใหญ่ขึ้น ถ้าไม่รอดก็เจ๊งแน่นอน” รศ. ดร. พรอนงค์ กล่าว
ด้าน รศ. ดร. วรศักดิ์ มองว่า ครึ่งปีหลังนี้โครงการสาธารณูปโภคใหญ่ๆ ของภาครัฐเริ่มดำเนินการงานอย่างชัดเจน ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์เติบโตตามมา รวมถึงธุรกิจไอทีที่มีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะด้านการสื่อสารที่จะมีการแย่งลูกค้ากันอย่างเข้มข้น และก่อให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ตามมา ขณะที่เม็ดเงินในไทยไม่เพียงพอ จำเป็นต้องอาศัยเม็ดเงินต่างประเทศ ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีข้อมูลทางบัญชีที่มีมาตรฐานสากล
“ขณะนี้คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีกำลังผลักดันการนำมาตรฐานสากลที่เรียกว่า IFRS (International Financial Reporting Standard) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ใช้กันทั่วโลกสร้างความโปร่งใส เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ พร้อมกันนั้นการทำบัญชีต้องทำให้สอดคล้องกับความเป็นจริงของธุรกิจในบริบทของสังคมไทย ซึ่งรูปแบบการทำธุรกิจของไทยในบางเรื่องแตกต่างจากต่างประเทศ ขณะที่ข้อกำหนดตามมาตรฐานสากลนั้นเอื้อต่อธุรกิจในยุโรปและอเมริกามากกว่า” รศ. ดร. วรศักดิ์กล่าว
ภาพประกอบ: Karin Foxx