ข่าวการบุกทลายเครือข่ายผู้ผลิตอาหารเสริมและเครื่องสำอาง เมจิก สกิน คือเรื่องใหญ่ที่แย่งชิงพื้นที่สื่อในช่วง 2-3 วันนี้ชนิดที่ต้องตามติดกันแบบรายชั่วโมง
ทั้งการจับกุมเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่แต่ละคนต่างมีไลฟ์สไตล์หรูหรา ตัวแทนจำหน่ายที่ถูกบริษัทฉ้อโกงเพราะสูญเงินนับล้านๆ บาท ดารา นักแสดง เน็ตไอดอลที่เคยรีวิวสินค้าให้กับบริษัทดังกล่าวเกือบค่อนวงการ รวมไปถึงผู้บริโภคที่หลงเชื่อการรีวิวและซื้อสินค้าไปใช้โดยไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกหลอก เรื่องเหล่านี้มีประเด็นมากมายให้พูดถึง และแต่ละประเด็นก็กำลังเป็นที่สนใจของสังคมในวงกว้าง
นอกเหนือไปจากประเด็นข่าวรายวันที่ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดแล้ว หากมองให้ลึกลงไป กรณีของเมจิก สกิน ยังเต็มไปด้วยบทเรียนที่พร้อมแจกจ่ายให้ทุกภาคส่วนในสังคมได้กลับไปทบทวนและเรียนรู้ร่วมกันด้วย THE STANDARD ขอทำหน้าที่รวบรวมบทเรียนเหล่านั้นผ่านมุมมองของ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และแอดมินเพจ ดอกจิก v.3 ผู้เริ่มต้นเปิดโปงเรื่องดังกล่าวให้สาธารณชนวงกว้างได้รับรู้
มี อย. ไม่ได้แปลว่าปลอดภัย 100%
สำหรับมุมมองของผู้บริโภคทั่วไป เมื่อเห็นสัญลักษณ์ อย. บนผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่ง อาจเกิดความรู้สึกอุ่นใจว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีมาตรฐาน เพราะไม่อย่างนั้นสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาคงไม่ ‘ปล่อยผ่าน’ ให้ใช้สัญลักษณ์นี้บนผลิตภัณฑ์ง่ายๆ
แต่เมื่อเกิดกรณี เมจิก สกิน ที่มีการแอบอ้าง อย. ก็ถึงคราวที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ ต้องกลับมาทบทวนความหมายของสัญลักษณ์ อย. อีกครั้ง
ในมุมของคนทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคมานาน สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยข้อมูลกับ THE STANDARD ว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับเครื่องหมาย อย. โดยหลายคนเข้าใจไปว่าหากมีเครื่องหมาย อย. แปลว่าผลิตภัณฑ์นั้นผ่านการพิสูจน์และตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากองค์การอาหารและยาแล้ว ซึ่งถือเป็นความเข้าใจที่ผิด และไม่ได้เกิดกับแค่ผู้บริโภค แต่รวมถึงคนดังต่างๆ ที่ใช้การพิจารณาเครื่องหมาย อย. ก่อนรับงานรีวิวสินค้า ไปจนถึงตัวแทนจำหน่ายหลงเชื่อมั่นในสัญลักษณ์ทั้งๆ ที่กำลังขายสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ
สารีแจกแจงว่า ก่อนอื่นผู้บริโภคควรทำความเข้าใจว่า การกำกับดูแลผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดของ อย. นั้นมีมาตรการที่แตกต่างกัน เช่น ผลิตภัณฑ์ยา ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความเข้มข้นในการกำกับดูแลสูงที่สุด เพราะต้องขึ้นทะเบียน พิสูจน์ส่วนผสม และไม่อนุญาตให้โฆษณา ส่วนอาหารเสริมต่างๆ จะเข้มข้นรองลงมา เพราะต้องขออนุญาตขึ้นทะเบียน อนุญาตให้โฆษณาได้ แต่ห้ามโฆษณาสรรพคุณที่เกินจริง ห้ามโฆษณาว่าเป็นยารักษาโรค
ขณะที่ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางถือเป็นผลิตภัณฑ์ในหมวดที่มีการกำกับดูแลหละหลวมมากที่สุด ซึ่งประเด็นนี้กำลังกลายเป็นปัญหาสำคัญ เพราะผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องขออนุญาตขึ้นทะเบียน เพียงแต่ใช้วิธีจดแจ้ง ระบุสถานที่ผลิตและรายละเอียดที่ อย. กำหนด จากนั้นก็สามารถผลิตและวางขายได้เลย
“ขณะนี้มีมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการให้สามารถออกผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้อย่างรวดเร็ว โดยให้ใช้วิธีขอจดแจ้งแบบออนไลน์ คือคุณเป็นใครก็ได้ สามารถเข้าไปจดแจ้งผลิตเครื่องสำอางแบบออนไลน์ได้เลย ซึ่งที่ผ่านมาก็มีข้อมูลว่ากว่า 90% ของผลิตภัณฑ์ที่จดแจ้งทางอินเทอร์เน็ต หรือ e-Submission มีการผลิตที่ไม่ตรงกับที่แจ้งไว้ เช่น แจ้งว่าสถานที่ผลิตอยู่ที่สามโคก แต่พอไปตรวจสถานที่ที่แจ้งกลับพบว่าไม่มีอยู่จริง เช่นเดียวกับกรณีของเมจิก สกิน ที่จดแจ้งสถานที่ผลิตประมาณ 10 แห่ง แต่พอเข้าไปตรวจสอบจริงปรากฏว่าแต่ละแห่งเป็นพื้นที่ว่างเปล่าบ้าง เป็นห้องแถวเล็กๆ ที่ไม่มีการผลิตจริงบ้าง ตรงนี้ถือเป็นช่องโหว่ขนาดมโหฬาร เพราะแปลว่าใครๆ ก็ผลิตเครื่องสำอางมาวางจำหน่ายได้ ยิ่งมีจำนวนเยอะ กำลังของเจ้าหน้าที่ อย. ก็ไม่สามารถเข้าไปดูแลได้ทั่วถึง กลายเป็นความอันตรายของผู้บริโภคที่ต้องตรวจสอบด้วยตัวเอง”
ดังนั้นนอกจากจะต้องตรวจสอบตัวเลขที่ปรากฏข้างสัญลักษณ์ อย. บนผลิตภัณฑ์อย่างรัดกุมแล้ว ผู้บริโภคยังต้องพึงตระหนักว่า สัญลักษณ์ อย. มีหลายระดับ และมีการกำกับดูแลที่เข้มข้นต่างกันออกไป ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของ อย. ในการสื่อสารเรื่องนี้เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับประชาชน
“ถือเป็นปัญหาโลกแตกที่ อย. ไม่ยอมดำเนินการ นั่นคือการที่จะทำให้คนเข้าใจว่าเวลามี อย. ไม่ได้หมายความว่าสินค้านั้นมีคุณภาพตามอย่างที่เครื่องหมายมันบอก”
‘ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน’ กฎเหล็กของผู้บริโภคยุคใหม่
เมื่อ อย. ไม่ใช่เครื่องหมายศักดิ์สิทธิ์ที่การันตีคุณภาพของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ ประกอบกับกระบวนการตรวจสอบคุณภาพสินค้าของ อย. ภายหลังจากที่ผู้ประกอบการต่างๆ ได้รับอนุญาตแล้วยังเกิดความหละหลวม เนื่องจากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ขณะที่ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและเครื่องสำอางแบรนด์ใหม่ๆ เกิดขึ้นแทบจะทุกวัน ภาระหนักอึ้งจึงอยู่ที่เหล่าผู้บริโภคที่จะต้องดูแลตัวเองด้วยการรู้เท่าทันและจับมือกันเปิดโปงผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน
‘ดอกจิก’ คือชื่อแฟนเพจในเฟซบุ๊กที่เดินหน้าเปิดโปงขบวนการอาหารเสริมและเครื่องสำอางเถื่อน โดยเป็นการรวมตัวของกันบุคคลในหลากหลายอาชีพ ทั้งแพทย์ เภสัชกร นักวิชาการ นักกฎหมาย (จากคำกล่าวอ้างของแอดมินเพจ) โดยมีรูปแบบการนำเสนอข้อมูลแบบ ‘เพจดาร์ก’ ปกปิดตัวตนของทีมงาน แฉข้อมูลเชิงลึก สื่อสารโดยใช้ภาษาพูดที่เป็นกันเอง (ปนหยาบคาย) โดยเปิดโปง เมจิก สกิน เป็นกรณีแรกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
จากการสอบถามผ่าน Facebook Messenger แอดมินเพจ ดอกจิก v.3 ให้ความเห็นกับ THE STANDARD ว่า ส่วนตัวคิดว่าการจะกำจัดผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายเหล่านี้ให้หมดไปถือเป็นเรื่องยาก เพราะสินค้าหลายตัวเมื่อถูกจับกุม สิ่งที่ อย. ทำก็คือเผยแพร่ชื่อสินค้าเหล่านั้นผ่านทางเว็บไซต์ ในขณะที่ผู้บริโภคหลายคนยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า อย. คืออะไร จะมีวิธีตรวจสอบผลิตภัณฑ์อย่างไร อีกทั้งผู้บริโภคยังสนใจรีวิวจากคนดังมากกว่าการตรวจสอบเลขจดแจ้งหรือเลข อย. ประกอบกับบทลงโทษที่มีน้ำหนักเบา ทำให้คนทำผิดมักจะวนกลับมาทำใหม่ เพราะมีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการทำให้คนหลงเชื่อ
ในส่วนของการเปิดโปงข้อมูล แอดมินเพจระบุว่า ก่อนอื่นจะดูที่ตัวเลข อย. บนผลิตภัณฑ์ว่ามีการสวมเลขหรือปลอมแปลงหรือไม่ โรงงานที่ผลิตตรงกับที่แจ้งไว้กับทาง อย. รวมถึงชื่อผลิตภัณฑ์ตรงกับที่ขออนุญาตหรือเปล่า นอกจากนี้ยังติดตามดูรีวิวของผู้ใช้จริงจนได้ข้อมูลแน่ชัดจึงจะทำการเปิดโปงผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ซึ่งผู้บริโภคเองก็สามารถนำวิธีเหล่านี้ไปใช้ก่อนตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ได้
“ผมอยากให้ผู้บริโภคตรวจสอบผลิตภัณฑ์จากข้อมูลต่างๆ มากกว่านี้ อย่าใช้เพราะเชื่อรีวิว เชื่อพรีเซนเตอร์ ควรหาข้อมูลหลายๆ แหล่ง อีกอย่างคือ อย. เป็นแค่สถานที่รับจดแจ้ง อนุมัติเลขบนสารบบ ไม่ได้การันตีความปลอดภัย ตรงนี้มีหลายคนมากๆ ที่เข้าใจผิดว่ามี อย. แปลว่าปลอดภัย อยากให้ทำความเข้าใจความหมายของ อย. ให้ชัดเจน ถ้าไม่แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ที่ใช้อยู่ปลอดภัยหรือไม่ ควรส่งตรวจที่ห้องแล็บ ไม่อย่างนั้นปัญหาก็จะวนลูปอยู่อย่างนี้”
ด้านเลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยอมรับว่า ผู้บริโภคในยุคนี้มีการบ้านเยอะมาก เพราะต้องมีความรู้ในทุกๆ เรื่อง ไม่ใช่แค่เรื่องผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหรือเครื่องสำอาง ซึ่งเอาเข้าจริงถือเป็นการผลักภาระอันหนักอึ้งให้ตกอยู่กับผู้บริโภค แต่ถึงอย่างนั้นก็เป็นเรื่องที่จำเป็น
“เราต้องยอมรับความจริงว่า อย. คงทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านี้ ถ้าจะให้เขาไปดูแลทุกผลิตภัณฑ์ที่มาขึ้นทะเบียนคงไม่ใช่เรื่องง่าย ยกเว้นจะมีวิธีการทำงานใหม่ๆ เช่น outsource ให้หน่วยงานอื่นๆ ช่วยดูแลแทนไปเลย ดังนั้นถ้ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก็เป็นเรื่องจำเป็นที่ผู้บริโภคเองต้องมีความรู้เท่าทัน ต้องรู้จักตรวจสอบด้วยตัวเอง เช่นเดียวกับองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคที่จำเป็นต้องมีมากขึ้น รวมถึงเพจต่างๆ ที่จะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องพวกนี้อย่างเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเกิดกรณีแบบเมจิก สกิน ถึงเวลาแล้วที่ผู้บริโภคจะต้องจับมือและเรียนรู้ร่วมกัน”
รีวิวสินค้าต้องมาคู่จริยธรรม
อีกบทเรียนที่เกิดขึ้นกับกรณีของเมจิก สกิน คือบทเรียนของคนดัง ทั้งเซเลบ ดารา หรือแม้กระทั่งเน็ตไอดอล ซึ่งแต่ละคนมาพร้อมกับผู้ติดตามจำนวนมหาศาลที่พร้อมจะตัดสินใจซื้อสินค้าตามสิ่งที่คนดังเหล่านั้นรีวิวหรือเอ่ยอ้างถึง
เมื่อทราบข่าวการบุกทลายเครือข่ายเมจิก สกิน คนดังหลายคนออกมายอมรับว่าเคยรีวิวสินค้าให้บริษัทดังกล่าวจริง และส่วนใหญ่อ้างว่าทำไปเพราะเข้าใจว่าเป็นเรื่องปกติที่ไม่ผิดกฎหมาย เพราะมีเครื่องหมาย อย. การันตีคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่รีวิวไปแล้ว
ซึ่งประเด็นนี้สารีมองว่า เป็นการกล่าวอ้างที่ง่ายและขาดความรับผิดชอบจนเกินไป เพราะหลักการรีวิวคือการได้ทดลองใช้สินค้าก่อนจะบรรยายสรรพคุณให้ผู้บริโภคได้รับทราบ
“ถ้าคุณบอกว่าทดลองใช้ นั่นคือคุณต้องใช้จริง แต่ถ้าไม่ได้ใช้จริง ก็ถือว่าหลอกลวง และถือว่าโฆษณานั้นเป็นเท็จอยู่แล้ว มีความผิดตามกฎหมายชัดเจน โดยเฉพาะในต่างประเทศที่ก้าวหน้าถึงขนาดที่ถ้าใครจะมาโฆษณาอย่างนี้ อย่างน้อยต้องใช้สินค้าจริงไม่น้อยกว่า 6 เดือน ไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถพูดถึงสินค้าตัวนั้นได้เลย
“ถึงบ้านเราจะยังไม่มีกติกานี้ แต่มันก็ควรจะอยู่ในเกณฑ์จริยธรรมของคนดังต่างๆ เราคิดว่านี่คือเรื่องพื้นฐานของมนุษย์คนหนึ่งที่เราต้องพูดในสิ่งที่เราทำจริงๆ และเป็นสิ่งที่เราเชื่อจริงๆ นี่คือความคาดหวังของพวกเราในฐานะคนทำงานคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ใช่พูดไปเรื่อย มีคนจ่ายเงินให้ก็ยอมพูด ถึงเวลาแล้วที่เรื่องนี้จะต้องเปลี่ยน ต้องมีมาตรฐานมากกว่านี้”
ด้านครูลูกกอล์ฟ-คณาธิป สุนทรรักษ์ ครูสอนภาษาอังกฤษชื่อดัง ได้ออกมาโพสต์เตือนสติเหล่าคนดังในการรีวิวสินค้าผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว @LoukgolfLG และอินสตาแกรม loukgolflg ว่า
“ถึงเวลาที่ดาราคนดังทุกคนต้องระวังสินค้าที่ติดต่อเข้ามาให้รีวิวแล้ว เงินมันก็ต้องหา เข้าใจได้ แต่ความรับผิดชอบต่อสังคมมันก็ต้องมีไหม? รับงานรีวิวสินค้า แต่ตัวเองยังไม่ใช้ ยังไม่กล้ากิน นั่นคือเรากำลังหลอกคนที่ตามเราที่รักเราทั้งนั้น ต่อจากนี้คิดกันนิดหนึ่งเถิดหนา #เมจิกสกิน”
ไม่เพียงเสียงเรียกร้องจากสังคมเท่านั้น แต่คนดังหลายคนยังต้องเผชิญบทเรียนสำคัญในฐานะผู้อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการที่ผิดกฎหมาย โดยล่าสุดมีรายงานข่าวว่า เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้ส่งรายชื่อดารา 7 คนที่ทาง อย. พบว่าเข้าข่ายร่วมกระทำความผิด โดยมีพฤติการณ์เป็นพรีเซนเตอร์ให้กับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในเครือบริษัท เมจิก สกิน จำกัด ประกอบไปด้วย 1. ลีเดีย-ศรัณย์รัชต์ ดีน 2. แพทตี้-อังศุมาลิน สิรภัทรศักดิ์เมธา 3. มาร์ช-จุฑาวุฒิ ภัทรกำพล 4. ไอซ์-อภิษฎา เครือคงคา 5. วุ้นเส้น-วิริฒิพา ภักดีประสงค์ 6. พุฒ-พุฒิชัย เกษตรสิน และ 7. ม้า-อรนภา กฤษฎี ซึ่งขณะนี้พนักงานสอบสวน กองปราบปราม กำลังรวบรวมหลักฐาน เพื่อเตรียมออกหมายเรียกดารานักแสดงทั้ง 7 คนเข้าพบ และให้ข้อมูลต่อไป