×

หุ้นกลุ่มยานยนต์ – EV 3.5 จะช่วยกระตุ้นความต้องการรถ

03.11.2023
  • LOADING...
หุ้นกลุ่มยานยนต์

เกิดอะไรขึ้น:

 

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ได้เห็นชอบรายละเอียดการขยายมาตรการสนับสนุนการใช้รถ BEV (รถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ 100%) หรือ EV 3.5 เนื่องจากมาตรการในปัจจุบัน (EV 3.0) จะสิ้นสุดในปีนี้ 

 

โดยความแตกต่างที่สำคัญระหว่าง EV 3.0 กับ EV 3.5 คือ เงินอุดหนุนจะลดลง และมีภาระผูกพันที่จะต้องผลิตรถ BEV ในประเทศเพิ่มขึ้น ค่ายรถยนต์ที่เข้าร่วมมาตรการ EV 3.0 สามารถเข้าร่วมมาตรการ EV 3.5 ได้

 

  • เงินอุดหนุนจะลดลง เงินอุดหนุนอิงกับประเภทรถ ขนาดแบตเตอรี่ และราคาขาย ภายใต้มาตรการ EV 3.5 รถยนต์นั่งที่มีขนาดแบตเตอรี่มากกว่า 50kWh และราคาขายไม่เกิน 2 ล้านบาทต่อคัน เงินอุดหนุนจะปรับลดลงสู่ 50,000-100,000 บาทต่อคัน (เทียบกับมาตรการ EV 3.0: รถยนต์นั่งที่มีขนาดแบตเตอรี่มากกว่า 30kWh และราคาขายไม่เกิน 2 ล้านบาทต่อคัน เงินอุดหนุนอยู่ที่ 150,000 บาทต่อคัน) โดยจะมีการประกาศจำนวนเงินอุดหนุนสุดท้ายหลังจากได้รับความเห็นชอบจาก ครม.

 

  • มีภาระผูกพันที่จะต้องผลิตรถ BEV ในประเทศเพิ่มขึ้น ค่ายรถยนต์ที่ตัดสินใจนำเข้ารถ BEV เพื่อจำหน่ายภายใต้มาตรการ EV 3.5 ในปี 2567-2568 จะต้องผลิตรถ BEV ในประเทศไทยเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกภายใน 2 ปี ที่อัตราส่วน 2 คันต่อรถ BEV นำเข้า 1 คัน ถ้าเริ่มการผลิตในปี 2569 หรือที่อัตราส่วน 3 คันต่อรถ BEV นำเข้า 1 คัน ถ้าเริ่มการผลิตในปี 2570 (เทียบกับมาตรการ EV 3.0 ที่ 1-1.5 คันต่อรถ BEV นำเข้า 1 คัน)

 

ค่ายรถต่างๆ จะเริ่มผลิตรถ BEV ในประเทศไทยมากขึ้นในปี 2567 ผู้ผลิตรถ BEV หลายค่ายจากจีนสนใจเข้าร่วมมาตรการสนับสนุนการใช้รถ BEV ที่ออกมาใหม่ ซึ่งรวมถึง AION Automobile Manufacturing และ Changan Automobile ภายใต้มาตรการ EV 3.0 ในปัจจุบัน ค่ายรถยนต์ที่นำเข้ารถ BEV เพื่อจำหน่ายในปี 2565-2566 จะต้องผลิตรถ BEV ในประเทศไทยเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกภายในปี 2567-2568 นับถึงปัจจุบัน ค่ายรถยนต์รายใหม่จากจีน ได้แก่ BYD และ NETA เป็นผู้นำตลาดรถ BEV และวางแผนเริ่มการผลิตในปี 2567 โดยในระยะแรกการผลิตรถ BEV ในประเทศไทยจะมีจำนวนไม่มากนัก 

 

อย่างไรก็ดี InnovestX Research มองว่าการเริ่มผลิตรถ BEV ในประเทศไทยจะเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีอยู่เดิมได้รับคำสั่งซื้อใหม่ และยกระดับการปรับตัวเพื่อรองรับตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งมองว่า AH เดินหน้ารุกตลาด EV ชัดเจนกว่าคู่แข่งโดยตรงอย่าง SAT และ STANLY ซึ่งยังไม่มีรายได้จากการผลิตชิ้นส่วน EV อย่างมีนัยสำคัญ 

 

ปัจจุบัน AH ให้บริการผลิตชิ้นส่วนขึ้นรูปโลหะ การฉีดพลาสติก และชิ้นส่วนหล่อสำหรับ EV โดยคิดเป็นสัดส่วน ~5% ของยอดขาย บริษัทกำลังพูดคุยกับค่ายรถยนต์หลายราย รวมถึงผู้ผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ที่มีอยู่ ซึ่งวางแผนขยายธุรกิจไปสู่ EV และผู้ผลิต EV จากประเทศจีน สำหรับโอกาสที่อาจเกิดขึ้น

 

กระทบอย่างไร:

 

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นกลุ่มยานยนต์ (SETAUTO) ปรับลง 10.15%, ราคาหุ้น AH ปรับลง 15.56% ขณะที่ SET Index ปรับลง 6.22%

 

กลยุทธ์และคำแนะนำการลงทุน:

 

การขยายมาตรการสนับสนุนการใช้รถ BEV หรือ EV 3.5 มีเป้าหมายเพื่อจูงใจให้ค่ายรถยนต์เข้าร่วมมากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้ความต้องการรถ BEV ในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ผลิตรถยนต์ค่ายต่างๆ วางแผนเริ่มการผลิตรถ BEV ในประเทศไทยในปี 2567 

 

InnovestX Research คาดว่าผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีอยู่เดิมจะมีโอกาสได้รับคำสั่งซื้อใหม่และยกระดับการปรับตัวเพื่อรองรับตลาดรถยนต์ไฟฟ้า โดยเลือก AH (บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน)) เป็นหุ้นเด่น (เรตติ้ง Outperform ราคาเป้าหมาย 44.00 บาทต่อหุ้น) เนื่องจากบริษัทเดินหน้ารุกตลาด EV ชัดเจนกว่าคู่แข่ง

 

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคือ ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการซื้อรถยนต์ การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ และระดับของการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านจากรถ ICE ของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีอยู่เดิม

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising